วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ค้นพบ CBN จากกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด นับเป็นความสำเร็จของการวิจัย พร้อมเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกในไทย และ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชา ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของกัญชามาอย่างยาวนาน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่ขออนุญาตทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในปี 2560 เป็นต้นมา เพื่อวิจัยและพัฒนายาและตำรับยาที่พัฒนาจากกัญชาให้มีคุณภาพ ปลอดภัยและมีประสิทธิผล ผลงานวิจัยกัญชาด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์และถือเป็นการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของวิทยาลัยและคณะต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” เพื่อให้สามารถทำงานวิจัยกัญชาได้ทุกมิติ เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการบำบัดโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ม.รังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารจากกัญชาในสัตว์ทดลอง เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็งปอด การศึกษาวิจัยนี้จึงเพื่อศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อมะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และ CBN มีฤทธิ์ลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองได้ดี จึงได้ศึกษาผลของ THC และ CBN จากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลอง พบว่าการฉีด THC และ CBN ในหนูทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดเป็นมะเร็งด้วยเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หนูทดลองที่ได้รับสารดังกล่าวมีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาอีก 4 ผลงาน ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก อ.ดร. เภสัชกรหญิง อภิรดา สุคนพันธ์ และผศ.ดร. เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์แคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก กล่าวว่า อาการของโรค ความเครียด จากโรคหรือผลกระทบจากการรักษาโรคบางประเภท ทำให้ผู้ป่วยวิตกกังวล และนอนหลับลดลง ส่งผลเสียทั้งร่างกายและจิตใจ จึงได้วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ช่วยคลายวิตกกังวล ทำให้นอนหลับได้ดี ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สาร CBN เป็นสารสำคัญที่ตรวจพบได้ในกัญชาแห้ง มีฤทธิ์ทำให้นอนหลับ นอกจากนี้ การใช้ร่วมกับสาร THC มีผลส่งเสริมให้นอนหลับดีขึ้น ซึ่งการได้รับยาโดยการรับประทานจะออกฤทธิ์ได้ช้าและตัวยาส่วนใหญ่ถูกทำลาย เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วและมีประสิทธิภาพ จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นช่องปาก เพื่อให้ดูดซึมผ่านทางเยื่อบุช่องปากได้ทันที อีกทั้งยังช่วยลดการถูกทำลายของตัวยาที่ตับ ซึ่งยังได้ศึกษาประสิทธิภาพต่อการนอนหลับในสัตว์ทดลอง เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นปลอดภัย มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ ด้าน ผศ. ดร. เภสัชกรหญิง สุชาดา จงรุ่งเรืองโชค และนักวิจัย ลุกมาน สือรี ผู้วิจัยผลิตภัณฑ์ “น้ำมันกัญชา (Cannabis Oil) ที่ควบคุมคุณภาพมาตรฐานระดับสากล” กล่าวว่า น้ำมันกัญชามีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ THC, CBD และ CBN จึงได้วิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญทั้ง 3 ชนิด ในน้ำมันกัญชาที่สกัดได้ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่ถูกต้อง แน่นอน เพื่อประสิทธิผลในการรักษา ความปลอดภัยของผู้ป่วย และศึกษาความคงสภาพของน้ำมันกัญชาที่ผลิตได้อีกด้วย ทั้ง ต้องมีการตรวจสอบหาปริมาณสารปนเปื้อนและปริมาณโลหะหนัก เพราะกัญชาสามารถดูดซึมโลหะหนักได้ดี รวมถึงการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Staphylococcus aureus ต่อน้ำมันกัญชา 1 กรัม เชื้อจุลินทรีย์ชนิด Clostridium spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม และเชื้อจุลินทรีย์ชนิด Salmonella spp. ต่อน้ำมันกัญชา 10 กรัม  อาจารย์ เภสัชกร เชาวลิต มณฑล ผู้วิจัย ยาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กล่าวว่ายาเม็ดเวเฟอร์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา แตกตัวได้อย่างรวดเร็วในช่องปาก ส่งผลให้ยาถูกดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น การใช้ยานี้สามารถวางใต้ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ตัวยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุในช่องปาก โดยไม่ต้องดื่มน้ำตาม จึงเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ป่วยในการใช้ยา จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืนหรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุช่องปากอักเสบจากการได้รับยาเคมีบำบัด รวมทั้งอีกหนึ่งในผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบคือ ตำรับยาไทย “ประสะกัญชา” โดยทีมวิจัย อาจารย์ เภสัชกร ณฐวรรธน์ จันคณา, อาจารย์ แพทย์แผนไทย นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน, นักวิจัย ปฐมาภรณ์ ปฐมภาค, อาจารย์ สมพร ผลกระโทก, อาจารย์ อัญชนา แสนเมือง และอาจารย์ นภา บุญมา ซึ่งระบุกัญชากับคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในตำราพระโอสถพระนารายณ์ที่มีการนำกัญชามาปรุงเป็นยาเพื่อบำบัดรักษาโรค สำหรับตำรับยาเข้ากัญชาที่มหาวิทยาลัยรังสิตได้ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นตำรับยาเข้ากัญชาที่อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ซึ่งเป็น 1 ใน 14 คัมภีร์ที่รวบรวมไว้ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้จัดพิมพ์เพื่อใช้ในโรงเรียนราชแพทยาลัย จึงเป็นตำราที่แพทย์ไทยแผนโบราณใช้อ้างอิงในการตรวจวินิจฉัย และรักษาอาการป่วยไข้สืบต่อกันมา เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางทีมวิจัยคัดเลือกตำรับนี้มาศึกษา สาเหตุที่เรียกชื่อตำรับว่า ประสะกัญชา มีที่มาจากปริมาณของเครื่องยากัญชาที่เข้าในตำรับมีปริมาณครึ่งหนึ่งของเครื่องยาทั้งหมดในตำรับ โดยส่วนประกอบของตำรับยาประสะกัญชา มีดังนี้ ตรีกฏุก (พริกไทย ดีปลี เหง้าขิงแห้ง) จันทน์ทั้ง ๒ (แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว) ใบสะเดา ใบคนทีเขมา พริกไทยล่อน และใบกัญชา จากสูตรตำรับยาข้างต้นจะเห็นถึงองค์ความรู้และภูมิปัญญาแพทย์ไทยแผนโบราณที่นำสมุนไพรรสร้อนเข้ามาช่วยลดฤทธิ์เมาเบื่อของกัญชาได้ ทีมวิจัยได้ตระหนักถึงองค์ความรู้ของบรรพคุณ จึงต้องการที่จะสืบสานภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย รวมทั้งพัฒนาตำรับยาแผนโบราณที่มีคุณภาพมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ตลอดจนเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของแพทย์ผู้สั่งใช้ยาและผู้ป่วยที่ได้รับยาด้วย