การจารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในการเตรียมประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยต้องกระทำตามพระฤกษ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โหรหลวงเป็นผู้กำหนดพระฤกษ์พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ เมื่อกำหนดพระฤกษ์ได้วันจารึกพระสุพรรณบัฏแล้ว ในตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ ส่วนโหรหลวงสวดบูชาเทวดา รุ่งขึ้นตอนเช้าเมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว พระราชวงศ์ที่ทรงเป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการและทรงศีล ผู้ที่จะจารึกและแกะพระราชลัญจกรนุ่งขาว สวมเสื้อขาวและมีผ้าขาวเฉวียงบ่า รับศีล เวลาใกล้พระฤกษ์ ประธานจุดเทียนเงินเทียนทอง ผู้ที่จะจารึกและช่างนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วคล้องสายสิญจน์หันหน้าสู่มงคลทิศ ครั้นได้พระฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัยให้สัญญาณ ลงมือจารึกและแกะพระราชลัญจกรไปพร้อมกัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์ตลอดจนเสร็จการจารึก จากนั้นพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์และเจิมทั้งแผ่นพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเป็นแผ่นทองคำ มีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้างและความยาวขึ้นอยู่กับอักษรหรือข้อความที่จะจารึกพระนามใหม่ของพระเจ้าแผ่นดินลงในแผ่นทอง แต่เดิมนั้น พระปรมาภิไธยมีความยาวหลายบรรทัด ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่ผูกขึ้นอย่างประณีตให้ได้เสียงที่ไพเราะ และสื่อความถึงพระคุณวิเศษ และสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างเดียวกัน คือ ขึ้นต้นว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” และลงท้ายด้วย “บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ต่อมารัชกาลที่ 4 เปลี่ยนเป็นขึ้นต้นด้วย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร” หรือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร” ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ปรากฏดังนี้ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” พระราชลัญจกรประจำรัชกาล คือดวงตราสำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในเอกสารราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชลัญจกรทำด้วยงาช้างเป็นรูปวงกลม กลางวงกลมแกะเป็นรูปครุฑ รอบขอบภายในจารึกพระปรมาภิไธย ข้อมูล “ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรม 2562