สถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ ส่งเสริมพื้นที่การเกษตรกว่า 200 ไร่ บริหารจัดการดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ผลิตปุ๋ยหมัก จากสารพด.1ใช้เอง เพื่อเกษตรกรไทยอยู่อย่างยั่งยืน เกษตรกรจังหวัดกระบี่ ส่วนใหญ่แล้วจะปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่น สวนยางพาราและสวนปาล์ม แต่ประสบปัญหาในเรื่องของราคาตกต่ำ ทำให้ทางสถานีพัฒนาที่ดินเข้ามาดูแลและส่งเสริมในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำกิน จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินท้องที่ในพื้นที่ ตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อปี พ.ศ.2557 เพื่อให้เกษตรกรมีที่ทำกินจนมาถึงปัจจุบัน นายประสิทธิ์ แสงภักดี ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เปิดเผยว่า จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดประมาณ 1 ล้าน 8 แสนไร่ พืชหลักที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยปาล์มน้ำมันมีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 1 ล้าน 1 แสนกว่าไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 1 ล้านไร่ ส่วนสวนยางพาราในขณะนี้ มีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 5 แสน 8 หมื่นกว่าไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ ปัจจุบันเกิดภาวะ ราคาตกต่ำ ทำให้พี่น้องเกษตรกรจังหวัดกระบี่ ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ทางสถานีพัฒนาที่ดินกระบี่จึงช่วยแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยดำเนินการโครงการนำร่องการบริหารจัดการดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบางเจริญ หมู่ที่ 5 ตำบลนาเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มีการจัดสรรพื้นจำนวน 215 ไร่ 75 ตารางวา ให้เกษตรกรคนละ 2 ไร่จำนวน 60 ราย ซึ่งมีการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำกินและมีการกำหนดเงื่อนไงในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้อง นางสาวลดาวัลย์ นักฟ้อน นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เป็นพี่เลี้ยงเข้ามาดูแลเกษตรกรในพื้นที่และส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยใช้เอง อย่างเช่น การใช้วัสดุในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทะลายปาล์มน้ำมันหรือว่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยใช้พวกสารเร่ง พด.1 ผลิตปุ๋ยหมัก รวมกับมูลสัตว์ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และเป็นการฟื้นฟูดินได้อีกด้วย นอกจากนี้ พื้นที่สวนยางพาราและสวนปาล์มที่มีการใช้สารเคมีมาเป็นระยาเวลายาวนาน จึงต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องและอาจจะใช้เวลาในการคืนสภาพดินให้ดีกว่าเดิม นายชัยวัฒน์ ฉิมเรือง เกษตรกรในพื้นที่โครงการนำร่องการบริหารจัดการดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง บ้านบางเจริญ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบสามารถปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน มาเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน ได้แก่ พืชอาหาร ประเภท พืชผัก ที่สามารถปลูกได้ 2-3 ครั้งต่อปี ตามความต้องการของตลาด เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการจัดสรรพื้นที่รายละ 2 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ลดการใช้สารเคมี ส่งผลผลิตปลอดสาเคมีให้กับผู้บริโภค และร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้ใช้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน