มอบรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2562 กับ 4 ศิลปิน “แม่ขวัญจิต-ทองแถม-ณรงค์-ปกรณ์” ผู้มีผลงานสืบทอดแนวคิดรักษามรดกภูมิปัญญาทางศิลปะและวัฒนธรรมของอ.คึกฤทธิ์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 62 เวลา 13.30 น. ที่สถาบันคึกฤทธิ์ ซอยงามดูพลี เขตสาทร กรุงเทพฯ มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีการมอบรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2562 ให้กับผู้ที่มีผลงานสืบทอดแนวคิด การรักษามรดกภูมิปัญญาทางศิลปะและวัฒนธรรม ทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ นาวาอากาศโทณรงค์ อรรถกฤษณ์ สาขาดุริยางค์ไทย นางเกลียว เสร็จกิจ (แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์) สาขาคีตศิลป์ นายทองแถม นาถจำนง สาขาวรรณศิลป์ และนายปกรณ์ วิชิต สาขานาฏศิลป์ไทย-โขน(ยักษ์) ได้ส่งตัวแทนรับรางวัล โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 เป็นประธานพิธีมอบรางวัล ทั้งนี้ มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 จัดงานเนื่องในวันคึกฤทธิ์ ประจำปี 2562 ของวันที่ 20 เมษายน วันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์ (พิเศษ) พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช วาระครบ 108 ปีชาตกาล นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง ศิลปินแห่งชาติ และบุคคลสำคัญของโลก ยูเนสโก 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน โดยทุกปีมูลนิธิได้ใช้โอกาสวันคึกฤทธิ์ในการสืบทอดแนวคิด การรักษามรดกภูมิปัญญาทางศิลปะและวัฒนธรรมของท่าน ด้วยการมอบรางวัลคึกฤทธิ์ ให้กับผู้ที่มีผลงาน หรือนักวิชาการ หรือผู้มีความรู้ความชำนาญ ที่สร้างงานทรงคุณค่าน่าสนใจ เป็นที่ยอมรับในวงการนาฏศิลป์โขน ละคร ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ วรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง และรวมถึงศิลปะพื้นบ้าน ในปีนี้ ทางสถาบันคึกฤทธิ์ มีการแสดงศิลปะไทยหาชมยาก การแล่เพลง อีแซวโบราณ จากแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ทำการบันทึกเทปการแสดงครั้งนี้ เพื่อเก็บเป็นมรดกข้อมูลการแสดงโบราณของวงการเพลงพื้นบ้านไทยอีกด้วย สำหรับประวัติและผลงานทั้ง 4 ท่าน รางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2562 สังเขป ดังนี้ นาวาอากาศโท ณรงค์ อรรถกฤษณ์ รางวัลคึกฤทธิ์ สาขาดุริยางค์ไทย ปี 2562 ปัจจุบันอายุ 73 ปี (เกิด 16 ต.ค. 2488) หัดเล่นดนตรีไทยและแตรวงกับครอบครัวตั้งแต่เด็ก เป็นนักดนตรีประจำวงปี่พาทย์และแตรวง คณะ “วงปี่พาทย์ถวิล อรรถกฤษณ์” เป็นนักดนตรีคนแรกที่คิดค้นการแสดง “ตีชาม” (2508) ภายหลังได้เรียนเพิ่มเติมจากเรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น และได้สั่งสมประสบการณ์จนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในทางดนตรีไทยอย่างเชี่ยวชาญ จึงได้รับเชิญไปสอนในสถาบันต่างๆ และเผยแพร่วัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นครูสอนดนตรีไทยของศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ เป็นผู้ควบคุมวงในการการบรรเลงดนตรีทุกครั้ง และได้ประพันธ์เพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุม เพื่อใช้ในการบบรรเลงของนักเรียนศูนย์แห่งนี้ด้วย นางเกลียว เสร็จกิจ หรือชื่อในวงการเพลงพื้นบ้าน “ขวัญจิต ศรีประจันต์” รางวัลคึกฤทธิ์ สาขาคีตศิลป์ ปี 2562 ปัจจุบันอายุ 71 ปี (เกิด 3 ส.ค. 2490) เป็นแม่เพลงพื้นบ้านสัญลักษณ์แห่งจังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี 2539 ได้รับการถ่ายทอดความรู้เริ่มฝึกร้องเพลงพื้นบ้านจากพ่อไสว วงษ์งาม และแม่บัวผัน จันทร์ศรี ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนร้องเพลงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเพลงอีแซว ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วประเทศ แม่ขวัญจิต เป็นแม่เพลงที่มีปฏิภาณไหวพริบดี สำนวนกลอนคมคาย สามารถนำเหตุการณ์ปัจจุบันมาร้องเป็นเพลงอีแซว เพื่อสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ได้อย่างมีศิลปะ เป็นที่จับใจของผู้ชมผู้ฟัง อีกเพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ แหล่ ยังเชี่ยวชาญ และเคยเป็นนักร้องหญิงลูกทุ่งในระดับแนวหน้าของเมืองไทย เพลงที่รู้จักกันดีในยุคนั้นคือ กับข้าวเพชฌฆาต ในส่วนที่เกี่ยวกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับโอกาสจากแม่ครูบัวผัน แม่ครูทองอยู่ และแม่ครูทองหล่อ ให้ร่วมการแสดงเพลงพื้นบ้านเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ณ บ้านซอยสวนพลู นายทองแถม นาถจำนง รางวัลคึกฤทธิ์ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2562 ปัจจุบันอายุ 63 ปี (เกิด 10 ก.ค. 2498) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้หลงไหลในงานเขียน เจ้าของนามปากกา โชติช่วง นาดอน , ยาเส้น , เลือดผา , วรรณะ วิมล , มังกร เจ้าพระยา , บักหนาน ถงกู่ , อสุรา วิรัติ ฯลฯ เจ้าของรางวัลนักเขียนบทความดีเด่น รางวัลหม่อมราชวงศ์ อายุมงคล โสณกุล (2535) รางวัลบรรณาธิการดีเด่น รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง สมาคมภาษาและหนังสือ (2558) ทองแถม นักเขียนผู้สร้างผลงานต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับและได้รับยกย่องจากแวดวงวรรณกรรม อาทิ คอลัมนิสต์ประจำในข่าวพิเศษ มติชนสุดสัปดาห์ แพรวสุดสัปดาห์ ศิลปะวัฒนธรรม สยามรัฐรายวัน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วิทยาจารย์ ออลแมกกาซีน งานเขียนเคยตีพิมพ์ในสกุลไทย กุลสตรี ดิฉัน DECADE Sense & Seen เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการบทความในยุคที่อาจารย์หม่อมเป็นผู้อำนวยการบรรณาธิการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาสยามรัฐรายวัน มีผลงานรวบรวมบทกลอนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในหนังสือชื่อ “กลอนคึกฤทธิ์ฯ” ทั้งยังได้รวบรวมบทความของอาจารย์หม่อม ที่เขียนถึงนักเขียนคนอื่นไว้ในหนังสือชื่อเรื่องว่า “ว่าด้วยคึกฤทธิ์วิจารณ์นักเขียน” และยังคงเขียนบทความที่เล่าถึงอาจารย์หม่อมในเรื่องต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ นายปกรณ์ วิชิต รางวัลคึกฤทธิ์ สาขานาฏศิลป์ไทย – โขน (ยักษ์) ปี 2562 ปัจจุบันอายุ 45 ปี (เกิด 7 ม.ค. 2517) มีความสันทัดจัดเจนในการเล่นโขน (ยักษ์) มาตั้งแต่เป็นนักเรียนตราบจนรับราชการ ตำแหน่งนาฏศิลปิน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ทั้งที่เป็นการแสดงโขน ละครพันทาง ละครนอก และการแสดงชุดเบ็ดเตล็ด ปัจจุบันเป็นครูวิทยฐานะ ชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้นาฏศิลป์ไทย โขน(ยักษ์) ภาควิชานาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นผู้แสดงและครูช่วยฝึกซ้อมโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 อีกด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น เป็นครูสอน โขน-ยักษ์ ของศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ มาแต่แรกเริ่ม และมีส่วนในการควบคุมการแสดงทุกครั้ง การแสดงโขน ชุด นางลอย โดย ครูและนักเรียนศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ การแสดงพิเศษแล่เพลงอีแซวจากแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์