หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง พระเกจิผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “เนื้อนาบุญที่ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนา” ตัวท่านนั้นเป็นเครือญาติสายตรงของ ตระกูล ณ ลำปาง แต่ครั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟในงานศพที่วัดบุญยืน (วัดป่าดั๊ว) ที่ลำปางเพียงแค่ 7 วัน นับเป็นการสร้างพื้นฐานความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และปี พ.ศ.2470 จึงตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง หักเหให้ชีวิตของท่านก็เข้าสู่ร่มเงาพระบวรพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
สามเณรเกษม เขมโก มุ่งมั่นและจริงจังแสวงหาความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัย เพียงระยะ 4 ปี ในปี พ.ศ.2474 ท่านก็สามารถสอบได้นักธรรมโท จากนั้นท่านพยายามศึกษาอักขระขอมและภาษาพื้นเมือง เพื่อจะได้เข้าใจในพระธรรมคัมภีร์ที่จารึกขึ้นด้วยอักขระโบราณในกลุ่มเมืองทางเหนือได้อย่างกระจ่างและลึกซึ้ง โดยฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาจันตาหรือพระครูพิชัยมงคล เจ้าอาวาสวัดพิชัยมงคล ผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในด้านภาษาโบราณและวิทยาคมเร้นลับต่างๆ ท่านเริ่มฝึกวิปัสสนากรรมฐานในป่าช้าอันวิเวกท้ายวัดพิชัยมงคล เริ่มรับรู้ถึงความสงบจากการเจริญภาวนา อันเป็นรากฐานสำคัญของวัตรปฏิบัติที่มุ่งสู่การ “ปฏิบัติภาวนา” เพื่อหาทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จนปี พ.ศ.2475 อายุครบบวช ท่านจึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดบุญยืน โดยมีพระธรรมจินดานายก (ฝ่าย) เจ้าอาวาสวัดบุญวาทย์วิหาร เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุตรวงศ์ธาดา หรือพระครูปัญญาลิ้นทอง เจ้าอาวาสวัดหมื่นเทศ เจ้าคณะอำเภอเมืองลำปาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระธรรมจินดานายก (อุ่นเรือน) เจ้าอาวาสวัดบุญยืน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “เขมโก” แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม
ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะสืบทอดพระศาสนาและแสวงหาความหลุดพ้นจาก “อนิจจัง” อันเป็นความไม่เที่ยงแท้ของโลก หลวงพ่อเกษมจึงหมั่นศึกษาภาษาบาลีเป็นพิเศษจนมีความชำนาญและคล่องแคล่ว อีกทั้งสามารถแปลภาษามคธจากพระธรรมปฏักถาได้ทั้ง 8 ภาค เพื่อจะได้เข้าใจถึงซึ่งพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้ ในปี พ.ศ.2479 ท่านสามารสอบนักธรรมเอกได้ แต่ด้วยการ “ลด ละ วาง” ของท่าน จึงปฏิเสธการเข้าสอบเปรียญ 3 ประโยค นอกจากนี้ท่านยังสนใจในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นพิเศษ จึงฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง พระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี จากนั้นก็มุ่งเจริญวิปัสสนาและถือธุดงค์เป็นวัตรปฏิบัติ เพื่อบำเพ็ญภาวนาจาริกหาความวิเวก เว้นแต่ช่วงเข้าพรรษา ท่านจะกลับมาจำพรรษาที่วัดบุญยืน
เมื่อท่านเจ้าอาวาสวัดบุญยืนมรณภาพลง คณะสงฆ์และชาวบ้านร่วมกันนิมนต์หลวงพ่อเกษมให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ ตอนแรกท่านไม่สู้เต็มใจนัก ด้วยเห็นว่าเป็นเครื่องถ่วงต่อการแสวงหาความหลุดพ้น แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่าการดูแลภารกิจของวัดก็เป็นสิ่งจำเป็นประการหนึ่งในฐานะผู้สืบทอดพระศาสนา จึงตกลงเป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน แต่เมื่อภารกิจต่างๆ ของวัดเริ่มเบาบางลง ท่านจึงลาออกจากตำแหน่ง แต่ถูกคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ยับยั้ง จึงตัดสินใจหลบออกจากวัดบุญยืนเงียบๆ ในปี พ.ศ.2492 ทิ้งเพียงข้อความบอกลาชาวบ้าน ซึ่งตอนหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้ “…ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว อย่าได้คิดไปตามเรา เพราะเราสละแล้ว การเป็นเจ้าอาวาสเปรียบเหมือนหัวหน้าครอบครัวต้องรับภาระหลายอย่าง ไม่เหมาะสมกับเรา เราต้องการวิเวกไม่ขอกลับมาอีก…”
หลวงพ่อเกษมเริ่มธุดงส์เจริญวิปัสสนาไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ เช่น ป่าช้าของศาลาวังทาน ป่าช้าบนดอยแม่อาง ฯลฯ ก่อนที่จะปักหลักตั้งมั่นบำเพ็ญธรรมที่ป่าช้าประตูม้า ซึ่งก็คือ “สุสานไตรลักษณ์” ศูนย์รวมแห่งศรัทธาในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเกษม เขมโก ที่มีชื่อเสียงและเกียรติคุณขจรขจายจนถึงปัจจุบัน
หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งในโลกปัจจุบัน ผู้มีวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัด ตัดแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากวัฏสงสาร บำเพ็ญศีลอันบริสุทธิ์ มีสมาธิตั้งมั่น และปัญญาแห่งธรรมอันสว่างไสว แม้สังขารจะร่วงโรยไปตามความไม่เที่ยงแท้ของโลก แต่จิตแห่งพระอริยะยังคงดำรงอยู่ครบถ้วน แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปนานเพียงใด ท่านยังคงเป็นที่เคารพศรัทธาและยึดมั่นของพุทธศาสนิกชนไม่เสื่อมคลาย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เปรียบเทียบไว้ใน “หนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 80 พรรษา ของหลวงพ่อเกษม” ความว่า “ชีวิตและปฏิปทาของหลวงพ่อเกษม เขมโก ย่อมเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธพจน์ที่ว่า สีลคนโธ อนุตตโร กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งปวง”
วัตถุมงคลต่างๆ ที่หลวงพ่อสร้างและปลุกเสก จึงล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อีกทั้งทวีความทรงคุณค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา หนึ่งในนั้นคือ “เหรียญสิริมงคลเสาร์ 5” เหรียญที่ชาวลำปางหวงแหนมาก เป็นหนึ่งในหลายๆ เหรียญที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นเหรียญที่มีการทำเทียมมากที่สุดรุ่นหนึ่งด้วย
เหรียญสิริมงคลเสาร์ 5 จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกสมทบทุนสร้างศาลาเจ้าแม่สุชาดา เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2516 โดยหลังจากการปลุกเสกของหลวงพ่อเกษมที่สุสานไตรลักษณ์เป็นที่เรียบร้อย ท่านได้พูดกับบรรดาลูกศิษย์ที่มาร่วมพิธีว่า "ถ้าเอาไปใช้แล้ว ไม่ดี ให้เอามาคืน เฮา" จึงมีลูกศิษย์ส่วนหนึ่งได้นำเหรียญไปทดลองยิงที่บริเวณป่าละเมาะหลังสุสานฯ ปรากฏว่าปืนยิงไม่ออก และยังสร้างประสบการณ์อื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะเมื่อคราวเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 จนได้รับการเรียกขานว่า “เหรียญวีรชน” และด้วยรูปทรงของเหรียญเป็นรูประฆังคว่ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เหรียญระฆัง”
เหรียญสิริมงคลเสาร์ 5 หรือ เหรียญวีรชน หรือ เหรียญระฆังหลวงพ่อเกษม ปี 2516 นี้ มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง ทุกเนื้อจะมีจุดตำหนิเพื่อการพิจารณา ดังนี้ ด้านหน้า จะมีเส้นรัศมีออกจากองค์หลวงพ่อ และแผ่ไปยังบริเวณข้างเหรียญ ส่วน ด้านหลัง จะมีเส้นรัศมีแผ่ไปยังบริเวณข้างเหรียญ และที่ใต้ตัวนะ (เหนือยันต์แถวแรก) จะมีขนแมวคล้ายกอหญ้าแผ่ออก
นอกจากนี้จะมีการแบ่งเป็นบล็อก (พิมพ์) ต่างๆ ตามการเล่นหาของชาวลำปางได้ 5 บล็อก คือ 1. บล็อกเสาอากาศ (พิมพ์นิยม) 2.บล็อกเขี้ยว 3.บล็อกสิบโท 4.บล็อกสิบโทมีเขี้ยว และ 5.บล็อกสายฝน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันของจุดตำหนิแม่พิมพ์ในแต่ละบล็อก การเล่นหาจึงควรพิจารณาให้มาก เริ่มจากดูความแท้หรือเก๊ก่อน แล้วค่อยมาดูที่พิมพ์ว่าเป็นพิมพ์นิยมหรือพิมพ์ธรรมดาเพราะสนนราคาเช่าหาจะแตกต่างกันครับผม