คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ผมอยู่ต่างจังหวัด ไม่ไกลจากจังหวัดอุบลราชธานี คิดถึงบรรยากาศพื้นบ้านแถบถิ่นนี้ นึกถึงสาวลูกทุ่งคนหนึ่ง ซึ่งกำลังโด่งดังด้วยเพลงลูกทุ่งแนวอีสาน ความโด่งดังของเธอในยุคโซเชียลมีเดีย ผ่านมือถือหรือสมาร์ทโฟน ทำให้เธอกลายเป็นสาวลูกทุ่ง ก็ลือไปทั่วโลก
เธอคือ “ต่าย อรทัย” (ชื่อเล่น คือ “ต่าย” ชื่อจริง … “อรทัย” นามสกุล “ดาบคำ” เป็นชาวอำเภอนาจะหลวย อุบลราชธานี บ้านเกิด ของต่าย อยู่บ้านนอกออกไปอีก
ต่าย อรทัย มีคุณยายอายุ 103 ปี ย่างเข้า 104 ปี คุณยายเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก เธอเป็นพี่สาวของน้องชายอีก 3 คน พ่อแม่หย่ากันให้อยู่กับคุณยาย ด้วยความทุกข์ยาก ต่ายต้องหางานทำส่งน้องเรียนหนังสือเคยทำงานก่อสร้างกับแม่ รับจ้างซักเสื้อผ้าคนงานก่อสร้าง ตัวละ 5 บาท 10 บาท เงินไม่พอใช้ ไปเป็นสาวโรงงานแถวบางปู เงินพอใช้สำหรับตัวเอง แต่ไม่พอจะส่งให้น้องชายและทางบ้าน จึงขวนขวายไปสมัครร้องเพลงในงานประกวดต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ
เวทีแล้วเวทีเล่า ต่ายไม่เคยชนะ แต่แล้วเธอก็ประสบความสำเร็จได้ ประจวบกับ “ครูสลา คุณวุฒิ” เห็นแววเสียงของเธอได้พาไปเข้าค่ายเพลงของ “แกรมมี่โกลด์” และแต่งเพลงให้เธอ เริ่มจากเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน”
เนื้อเพลงเข้ากับบุคลิกและน้ำเสียงเศร้าๆ ของต่าย เพลงนั้นติดหูคนฟังทั้งแผ่นดิน
เพลง 3 อัลบั้มแรกของต่ายทำยอดขายทะลุล้านตลับทั้งสามอัลบั้ม ภายในไม่กี่เดือน ยอดคนเข้าไปดูในมือถือ ที่เรียกว่า views สูงพรวดกว่า 30 ล้านวิว
กล่าวกันว่า เพลงของต่าย อรทัย มียอดขายสูงสุดของนักร้องลูกทุ่งในปัจจุบัน
หลายวันที่ผมได้ตามดูในยูทูป (ทางมือถือ) ต่ายเป็นที่รักของทุกคน ไปประทับใจบรรยากาศเมื่อเธออยู่บนเวทีในยุโรปหลายประเทศ ต่ายมีอัธยาศัยเรียบร้อยแบบผู้หญิงไทย เป็นที่ชื่นชมของคนไทยและครอบครัวฝรั่งอย่างยิ่ง
สังเกตเห็นว่า เมื่อใครขอถ่ายรูป (เซลฟี่) ต่ายจะแสดงความยินดีและยกมือไหว้เขาทุกครั้ง ฝรั่งเองก็ยกมือไหว้เธออย่างเป็นธรรมชาติ เช่นกัน
เพลงของ ต่าย อรทัย เนื่องจากเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน จึงเป็นที่นิยมชื่นชอบไปถึงประเทศ (สปป.) ลาว ไม่แพ้ที่เมืองไทย เมื่อไปลาวแฟนเพลงก็จำได้ ต่างขอเซลฟี่ไปตลอดทาง
ต่าย อรทัย เป็นคนแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ในการร้องเพลง ไม่เคยเห็นเธอนุ่งสั้น
วันที่ทำบุญใส่บาตรกับคุณแม่ ต่ายนุ่งผ้าซิ่นลายขิดอย่างคุณแม่ ผ้าซิ่นลายขิดเป็นผ้าฝ้ายก็มี เป็นผ้าไหมทอมือก็มี ชายผ้าซิ่นด้านล่างมีแถบลายรับกับลายขิด ชาวอีสานและชาวลาวนิยมใส่ไปงานบุญ ขอบชายของผ้าซิ่น ต้องพิถีพิถันนุ่งให้เสมอกัน
บริเวณบ้านของคุณแม่ คงจะกว้างหลายไร่ สังเกตจากกำแพงบ้าน (กิ่งคอนกรีตกิ่งไม้) ยาวประมาณ 3 ช่วงเสาไฟฟ้า ถนนหน้าบ้านยังเป็นดินลูกรัง
ต่ายสร้างบ้านให้ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และคุณยาย จากคนจนๆ บัดนี้ ฐานะของต่าย เป็นขั้นเศรษฐีคนหนึ่ง
แต่เธอก็ไม่ลืมบ้นเกิด เอาเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาไปมอบให้เด็กๆ ที่โรงเรียนเก่าอยู่เสมอ เมื่อเดินซื้อของในตลาด เด็กนักเรียนเห็นเข้า ก็จะพากันรุมขอเซลฟี่ กับเธอด้วยความตื่นเต้นดีใจ
หมู่บ้านของต่าย (ที่น่าจะหลวย) มีวัด 2 วัด วัดหนึ่งเรียกว่า “วัดบ้าน” อีกวัดหนึ่งเรียกว่า “วัดป่า” (ได้ยินเรียกว่า “วัดป่าหนองหล่ม”) วันที่ต่ายใส่บาตรกับคุณแม่ มีพระทั้งสองวัดมาบิณฑบาต นับได้ 6 รูป ท่านเดินเรียงแถวกัน สังเกตมี 2 รูปห่มจีวรสีกรักเข้ม (แสดงว่าเป็นพระวัดป่า)
เมื่อรับบิณฑบาตเสร็จ ท่านจะไปยืนเข้าแถวกัน แล้วสวดให้พร ต่ายกับคุณแม่พร้อมใจกันกรวดน้ำ (ทางอีสานเรียกว่า “หมาดน้ำ”) เมื่อพระเดินจากไปจนลับตาแล้ว ต่ายกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลอีกครั้งหนึ่งคราวนี้ใช้เวลานานพอสมควร ต่ายบอกว่า ได้ตั้งใจอธิษฐานอุทิศส่วนกุศลถึงญาติผู้ล่วงลับหลายคน
คราวนั้นอยู่ระหว่างเข้าพรรษา คุณยายไปอยู่จำศีลที่วัดป่า บอกต่ายว่า ก่อนยายจะสิ้นใจจากไป ขอให้หลานต่ายมาทำกำแพงถวายวัดสักหน่อยหนึ่ง ต่ายตั้งใจจะไปทำกำแพงถวายวัดหลังสงกรานต์ปีต่อมา
การไปอยู่จำศีล (รักษาศีล) ที่วัดในระหว่างเข้าพรรษา 3 เดือนเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีแล้ว
ระหว่างอยู่จำศีลในวัด ซึ่งมีทั้งแม่ชีและอุบาสก อุบาสิกา (อยู่รวมกันในศาลา) มีการไหว้พระสวดมนต์เช้า-เย็น บางวัด มีการสวดสรภัญญะ คนเฒ่คนแก่ได้นั่งพูดคุยกัน ดูแลกันและกัน ไม่เหงา ลูกหลานไปส่งอาหารตอนเพลและตอนเย็น (ส่วนใหญ่งดอาหารเย็น) พระจะไปเทศน์ให้ฟังตอนบ่ายๆ
การไปอยู่จำศีลในวัด เป็นความสุขของคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งน่าเสียดายที่ทุกวันนี้จะไม่ค่อยมีวัฒนธรรมอย่างนี้แล้ว
สาเหตุเป็นเพราะว่า วัดขาดการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องนี้ไม่อำนวยความสะดวกเท่าที่ควร เช่น ห้องน้ำห้องส้วม มักจะทำไว้นอกศาลา ไม่ติดมุ้งลวดกันยุงให้ (สมัยก่อน ศาลาโล่งๆ ก็อยู่กันได้เพราะไม่มีมุง)
ทำไมจึงมีกิจกรรมอยู่จำศีลเข้าพรรษา เพราะในพรรษามีลูกหลานบวชเข้าพรรษา พระที่เป็นลูกหลานก็ได้ดูแลคนเฒ่คนแก่ที่มาอยู่วัด พระเณรทั่วไปได้ฝึกเทศน์ให้คนจำศีลฟัง บางรูปก็ฝึกเทศน์ แหล่ นิทานชาดก จนมีชื่อเสียง
ในศาลาจำศีลสมัยก่อน มีความบันเทิงจากการเทศน์เล่าเรื่อง ต่างๆ ในนิทานชาดก ซึ่งเป็นการสอนธรรมะทั้งสิ้น สมัยนี้ ถ้าวัดมีโทรทัศน์วางไว้สักเครื่อง คนจำศีลก็จะมีความบันเทิงตามสมควร ได้ดูข่าวสารบ้านเมืองและดูละครทีวี ตามสมควร
ทุกวันนี้ ลูกหลานอำนวยความสะดวกให้คุณตาคุณยายที่บ้าน ใครบ้านมัน ศาลาวัดก็เหงา ถูกทิ้งร้าง พระเณรก็ไม่มีเพื่อน ไม่มีกิจกรรมสัมพันธ์กับชาวบ้าน ต่างคนต่างอยู่
กรณีคุณยายของต่าย อรทัย ไปอยู่จำศีลเข้าพรรษาที่วัด เห็นได้ชัดว่า ลูกหลานของคุณยายได้เข้าวัด ได้ทำบุญกับวัด เช่นที่คุณยายชวนต่ายสร้างกำแพงถวายวัด และพระในวัดก็คุ้นเคยกับบ้านของคุณตาคุณยาย ที่บ้านของคุณตาคุณยายก็มักจะมีการทำบุญใส่บาตรเป็นประจำทุกเช้า ทั้งวัดและบ้านได้พึ่งพาอาศัยกัน
ที่บริเวณบ้านของต่าย ซึ่งเป็นบ้านคุณแม่ ทำศาลาโล่งๆ ไว้หลังหนึ่งสำหรับพบปะกัน กินอาหารร่วมกัน มีงานบุญและกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน ศาลานั้น ยกพื้นพอนั่งหย่อนขาได้ พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิกหรือปูเสื่อสาดได้ เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจของทุกคน จำลองมาจากวัดนั่นเอง
ต่ายไปรับคุณยายมาจากวัด ให้นั่งที่ศาลา ลูกหลานก็ได้มารวมกัน ต่ายได้นอนหนุนตักคุณยายเหมือนสมัยเด็ก คุณยายก็มีความสุขที่ได้อยู่กลางวงล้อมของลูกหลาน
มีคนถามคุณยายว่า ทาน (กิน) อะไร จึงอายุยืนเป็นร้อยปี?
คุณยายตอบว่า กินผักกินปลา กินป่น (น้ำพริกใส่ปลาร้า) อย่างที่เขากินทั่วไปนั่นแหละ
ก็มานึกว่า สภาพแวดล้อม เช่น ลูกหลาน ญาติมิตร นี่แหละทำให้คนเรามีความสุข มีความอบอุ่น
การไปอยู่จำศีลที่วัด เป็นความสุขของคนเฒ่าคนแก่
ผมไปน้ำตาซึมกับภาพของต่าย อรทัย วันที่ไปร้องเพลงให้เพื่อนที่โรงงานเก่า (ที่เคยอยู่ทำงาน) ฟัง เพื่อนคนงานทุกคนรักต่าย ต่างรุมล้อมมะรุมมะตุ้มขอเซลฟี่กับต่าย ร้องเพลงคลอไปกับต่ายได้ทุกเพลง พวกเขามีความสุขกับต่ายที่ชีวิตเหมือนฝัน
เพื่อนในโรงงานทุกคนอยู่ในชุดคนงาน ต้องคาดปากคาดจมูกกันเชื้อทุกคน ทำให้จำกันไม่ได้ ต่ายต้องให้เพื่อนๆ ปลดผ้ากันปากกันจมูกออกก่อน เมื่อเห็นหน้ากัน ก็โผเข้ากอดกันด้วยความรักความผูกพันเก่าๆ
ครับ เห็นแล้วก็น้ำตาซึม
ชีวิตของต่าย อรทัย ได้รางวัลแห่งความเก่งและความดีมากมายทั้งหมดนั้นคือ “รางวัลชีวิต” ของเธอ
สงกรานต์ปีนี้ ผมมีความสุขอยู่กับต่าย และคุณยายวัย 103 ปี นึกเห็นแต่บุญและคุณงามความดีที่น่าจะหลวย”
บุญและคุณงามความดีนั้น “ครูสลา คุณวุฒิ” มีส่วนสร้างสรรค์ขึ้นมา ครูสลากำลังสร้างสรรค์เพลงให้ลูกศิษย์หลายคนร้อง ไม่ว่าจะเป็น “ศิริพร อำไพพงษ์” หรือ “ไมค์ ภิรมย์พร”... ทุกคนเหมือนได้ชีวิตใหม่เช่นเดียวกับต่าย อรทัย
ทุกคนเหมือนเป็น “ดอกหญ้า” ในป่าคอนกรีต