“แกนนำตัวแทนแต่ละตำบล พร้อมด้วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก จุด ขึ้น ลง ผ่ากลางหมู่บ้าน และไร่ นา สวน ของชาวบ้าน อนาคตต้องกลายเป็นที่ตาบอดทันทีหลังก่อสร้างเสร็จ เพราะมอเตอร์เวย์เป็นแบบปิด” เวลา 10.00 น. วันที่ 19 เม.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เลขที่ 249 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ แกนนำตัวแทนแต่ละตำบลทั้ง 34 ตำบล 10 อำเภอ 5 จังหวัด พร้อมด้วยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนผลกระทบจากโครงการนี้ประมาณ 300 กว่าคน เข้ายื่นเอกสารต่อ นาย “ดำรงศักดิ์ เครือแก้ว” อุปนายกสภาทนายความ ฝ่ายปฏิบัติการ” ขอความอนุเคราะห์ขอความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เพื่อยุติการก่อสร้างถนนที่ไม่เป็นธรรม ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งไม่เห็นด้วย กับแนวผังเส้นทางของกรมทางหลวงที่จะเกิดขึ้น เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนมากมายและเป็นการละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทางด้านนายฉัตรชัย เทศนิยม ประธานหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 เปิดเผยว่า การที่เข้ามายื่นเอกสารกับสภาทนายความในวันนี้ก็เพราะว่าไปยื่นเอกสารมาหลายหน่วยงานของรัฐแล้วไม่มีหน่วยงานไหนติดต่อกลับมาหาพวกตนเลย จะมีก็แต่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน โทรมาสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนหน่วยงานอื่นอื่นเงียบกริบ พวกตนเล็งเห็นว่าต่อไปคงต้องพึ่งทางด้านกฎหมายให้ช่วยเหลือ ฉัตรชัย เทศนิยม เปิดเผยต่อว่า หมู่บ้านตนซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวผังเส้นทางของกรมทางหลวงที่จะเกิดขึ้น เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนมากมาย และเป็นการละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากพื้นที่ ที่คาดว่าจะมีทางจราจรนั้นจะก่อสร้างผ่ากลางบนพื้นที่ของหมู่บ้าน อันเป็นที่อยู่อาศัยในชุมชนของพวกตน เนื่องจากในหมู่บ้านเป็นชุมชนที่ก่อตั้งมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี มีผู้อยู่อาศัย 405 หลังคาเรือน จำนวน 1,000 กว่าคน มีทั้งผู้สูงวัยและเด็กเล็ก ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งฝุ่นควันและเสียง ตลอดจนอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในการก่อสร้าง นอกจากนี้พื้นที่ก่อสร้างที่อาจจะรุกล้ำเข้ามาในหมู่บ้านจนต้องมีการเวนคืนพื้นที่บางส่วนของประชาชนที่อยู่อาศัยภายในหมู่บ้านส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่หมู่บ้านซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน ส่งผลด้านความปลอดภัยเนื่องจากหมู่บ้านจะไม่สามารถจัดการด้านความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่เคยอยู่ร่วมกันได้ ส่วนทางด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างยังไม่มีความชัดเจนด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควรแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องการควบคุมปริมาณสารตะกั่ว การฟุ้งกระจายของสารพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ที่ออกมาจากรถยนต์ในปริมาณ 1,206 กรัมโมเลกุล(g/mol) ต่อรถยนต์ 1 คัน ที่อัตราความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะสะสมเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณรถยนต์ที่ผ่านไป - มา และระดับเสียงที่ต้องอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 84 เดซิเบล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และพื้นที่โดยรอบเส้นทาง แนวทางขึ้น-ลงของโครงการมีการใช้พื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่รายล้อมด้วยที่พักอาศัยจำนวน 405 หลัง และชุมชนนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สีเขียว สำหรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัย และเกษตรกรรม นายฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย ทางด้าน นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกสภาทนายความ ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า ตอนนี้ทางสภาทนายความได้รับเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากประชาชนแล้วก็ยินดีจะเข้ามาช่วยเหลือในทางกฎหมายทันที ขอเวลาศึกษาตรวจสอบเอกสารไม่นาน และจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องไหนดูแล้วเข้าข่ายถ้าละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ แห่งราชอาณาจักรไทย ก็จะช่วยอย่างเต็มที่ และจะช่วยตามเรื่องจากหน่วยงานของภาครัฐที่เคยไปยื่นเรื่องมาแล้ว อีกทางหนึ่ง