ความสำเร็จอีกก้าวขององค์การอวกาศของญี่ปุ่น กับภารกิจสุดหิน ระเบิดพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวงู เตรียมเก็บตัวอย่างดินกลับโลก หวังจะเป็นหลักฐานอีกทาง ช่วยไขปมปริศนาจุดเริ่มต้นระบบสุริยะให้กับนักดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ความเคลื่อนไหวในห้วงอวกาศในย่านเอเชีย ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) กับภารกิจของยานอวกาศ ฮายาบูสะ 2 ว่า สามารถพิชิตภารกิจระเบิดพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยริวงู เตรียมเก็บตัวอย่างดินกลับโลก โดยระบุ “5 เมษายน 2562 ยานอวกาศ #ฮายาบูสะ2 (#Hayabusa2) ของประเทศญี่ปุ่น ทดลองระเบิดพื้นผิวของ #ดาวเคราะห์น้อยริวงู (Ryugu) ได้สำเร็จ รอเก็บตัวอย่างเศษดินบริเวณใต้พื้นผิวดาวกลับมาศึกษาที่โลกภายในปี พ.ศ.2563 ยานฮายาบูสะ2 ระเบิดพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยริวงูด้วยการปล่อยวัตถุขนาดเท่าลูกเบสบอลน้ำหนัก 2 กิโลกรัม พุ่งชนผิวดาวเคราะห์น้อยด้วยความเร็วกว่า 7,200 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนเกิดแรงกระแทกทำให้ผิวดาวแตกกระจายกระเด็นออกมา ภารกิจดังกล่าว ถือว่าเป็นภารกิจเสี่ยงอันตรายที่สุดของยานฮายาบูสะ 2 เนื่องจากหินที่กระเด็นขึ้นมาด้วยความเร็วสูง อาจสร้างความเสียหายแก่ตัวยานและอุปกรณ์ได้ เมื่อปล่อยวัตถุลง ตัวยานต้องรีบอ้อมไปหลบอีกฝั่งของดาวเคราะห์น้อย และโคจรกลับมาภายหลัง เพื่อเก็บตัวอย่างเศษดินที่หลุดออกมาจากใต้พื้นผิว เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระบบสุริยะเริ่มก่อตัว ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางธรณีวิทยาเหมือนวัตถุขนาดใหญ่ เช่น ดาวเคราะห์ หรือดาวเคราะห์แคระ รวมถึงดินใต้ผิวดาวยังไม่ถูกกระทำจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น แสงจากดวงอาทิตย์หรือรังสีต่าง ๆ ในอวกาศ จึงคาดกันว่า ตัวอย่างใต้ผิวดินของดาวเคราะห์น้อยริวงูจะเป็นประตูที่นำนักดาราศาสตร์ย้อนเวลาไปศึกษาระบบสุริยะเมื่อแรกเริ่ม และคลี่คลายปริศนาทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่กระจ่างในปัจจุบัน เรียบเรียงโดย : นายเจษฎา กีรติภารัตน์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร. แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://global.jaxa.jp/press/2019/04/20190405a.html http://global.jaxa.jp/press/2019/04/20190405b.html https://www.sciencealert.com/japan-bombed-an-asteroid-to-pr…"