ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง วัดสุทัศน์ ศูนย์กลางของเทพนคร วัดสุทัศนเทพวราราม พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็น 1 ใน 6 พระอารามหลวงขนาดใหญ่ในประเทศไทย วัดสุทัศน์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามกลางพระนคร สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ เมืองเก่าสุโขทัย เป็นวัดที่มีการวางแผนผังเขตพุทธาวาสจำลองภูมิจักรวาลตามคติมณฑลแบบพุทธ รวมทั้งบริเวณลานหน้าวัดมีการเชื่อมต่อกับเสาชิงช้าและที่ตั้งเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นความเชื่อตามศาสนากัน อยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างกลมกลืน จึงเป็นศูนย์รวมศาสนสถานทั้งพุทธและพราหมณ์กลางพระนคร และชุมชนยังคงบรรยากาศดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก จากข้อมูล “จิตรกรรมรามเกียรติ์ วัดสุทัศนเทพนคร” กล่าวเมื่อครั้งสร้างพระอาราม พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี รัชกาลที่ 1 ยังมิได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม มีเพียงปรากฏนามวัดในหมายรับสั่งพระราชพิธีขุดรากพระวิหาร เมื่อเดือน 3 พุทธศักราช 2350 ว่า “วัดทำใหม่ ณ เสาชิงช้า” ด้วยบริเวณเสาชิงช้าเป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ มีเสาชิงช้าเป็นศูนย์กลางของพระนคร สำหรับรับและส่งเทพเจ้าในพระราชพิธีตรีปวายและตรียัมปวาย ต่อมาปรากฏนามพระอารามในหมายกำหนดการหล่อแก้พระศรีศากยมุนี เมื่อเดือนยี่ พุทธศักราช 2351 ว่า “วัดเสาชิงช้า” ครั้นถึงเดือน 6 ปีเดียวกัน ปรากฏนามพระอารามในหมายกำหนดการก่อรากพระวิหารว่า “วัดมหาสุทธาวาส” การก่อสร้างพระอารามยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง การก่อสร้างพระอารามมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ผูกพัทธสีมาและสมโภชพระอารามในปี พ.ศ. 2390 และพระราชทานนามพระอารามว่า “วัดสุทัศนเทพธาราม” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงแปลงนามพระอารามเป็น “วัดสุทัศนเทพวราราม” และชื่อ “พระศรีศากยมุณี” เป็นชื่อพระราชทาน ทั้งทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมุขหน้ามุขหลังพระวิหารหลวงเพิ่มขึ้น “หน้าบันประธานพระวิหารหลวงที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 จำหลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ สอดคล้องกับนามของวัดว่า “สุทัศนเทพ” อันเป็นนครของพระอินทร์ และสอดคล้องกับสร้อยนามพระนคร “บวรรัตนโกสินทร์” คือเมืองที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต อันเป็นแก้วของพระอินทร์” เกี่ยวกับ “สุทัศนเทพนคร” นี้ เป็นไปตามคติไตรภูมิที่ปรากฏในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา เป็นวัดศูนย์กลางพระนคร จึงถือเอาคติของสุทัศนเทพนครซึ่งตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นแบบแผนในการก่อสร้าง มีพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีเป็นศูนย์กลางเปรียบเสมือนไพชยนตวิมาน พระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่มีขนาดใหญ่โต ก่อสร้างด้วยฝีมือช่างหลวง มีความวิจิตรงดงาม ภายในมีภาพจิตรกรรมพุทธประวัติ และเรื่องในวรรณคดี ด้านหน้าพระวิหารมีสัตตมหาสถานหรือสัญลักษณ์แสดงสถานที่พระพุทธองค์ประทับภายหลังการตรัสรู้ 7 แห่ง บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพเทวดาทวารบาล ด้านในเขียนจิตรกรรมรูปเทพยดา เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระคเณศ พระเทวกรรม อีกเรื่องราวในไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา นารายณ์ 20 ปาง รวมทั้งเรื่องรามเกียรติ์ อยู่ในกรอบเหนือช่องประตูหน้าต่างในพระอุโบสถ จำนวนทั้งสิ้น 90 ภาพ ใส่กรอบไม้ทรงฝรั่ง (ช่องละ 3 ภาพ เขียนลงบนกระดาษด้วยเทคนิคสีฝุ่น ตามคติศิลปะไทยแบบประเพณี) นำมาจากบทละครพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 1 ที่ชุกชีหรือฐานพระพุทธรูปพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 8 ด้วยความสำคัญของสถานที่ตั้งและคติความเชื่อทางศาสนา วัดสุทัศนเทพวรารามจึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 รัชกาลที่ 10 วัดสุทัศน์จึงเป็นสถานที่ทำพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ ทำน้ำพระพุทธมนต์ หลังจากเสร็จพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมแล้วแห่เชิญไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง เพื่อประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก