เหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่ทอดแสงส่องให้ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม กำลังดิ้นหาทางออกในการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ และผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 895-915 MHz/940-960 MHz และ ย่าน 890-895/935-940 MHz ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังปาดเหงื่อมาเงินมาชำระ                  แต่แล้วได้มีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่มีผลใช้บังคับ 11 เมษายน 2562 ระบุว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 895-915 MHz/940-960 MHz และ ย่าน 890-895/935-940 MHz ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นสำหรับกิจการโทรคมนาคม และให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ต่อไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่งหรือประกาศ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตรายใดที่ไม่สามารถชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ได้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช.ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อขอแบ่งชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ต่อไป ทั้งนี้โดยให้สำนักงาน กสทช.พิจารณาแบ่งชำระเงินจากผู้รับใบอนุญาตออกเป็น 10งวด ปีละงวด งวดละเท่าๆกัน โดยให้ปีที่ผู้รับใบอนุญาตประมูลคลื่นความถี่ได้ตามคำสั่งหรือประกาศเริ่มนับเป็นงวดแรก และเมื่อสำนักงาน กสทช.พิจารณาแบ่งเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องชำระในแต่ละงวดได้แล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตชำระเงินตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป โดยงวดที่ต้องชำระในปีดังกล่าวให้รวมกับเงินชดเชยของงวดที่ผ่านมาด้วย และอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน ของจำนวนเงินประมูลคลื่นความถี่ที่ค้างชำระ รวมทั้งต้องวางหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลรายใดประสงค์จะคืนใบอนุญาตให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช.ภายใน 30 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้สำนักงาน กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยจากผู้รับใบอนุญาตดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ได้มีการชำระแล้ว ขณะเดียวกันให้สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHzสำหรับใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผุ้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 890 -915 MHz/935-960 MHZ หากผู้รับใบอนุญาตฯไม่ประสงค์จะขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ให้ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขและให้ผู้ได้รับใบอนุญาตฯชำระเงินงวดที่เหลือให้ครบถ้วย และให้สำนักงาน กสทช.จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน700 MHz โดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ต่อไป อย่างไรก็ตามหากมองในการประกาศม.44ในครั้งนี้ แม้จะมองว่าเป็นการต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการ แต่ก็ใช่ว่าผู้ประกอบการจะไม่ต้องผจญกับปัญหา เพราะล่าสุดทาง “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการกสทช.ได้เรียกผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล มาชี้แจงถึงมาตรา 44 ที่คสช. ออกประกาศมาช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz แต่ต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในเดือนมิ.ย.นี้ และทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ ก็ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการรับสิทธิ์ช่วยเหลือทำหนังสือส่งมายังกสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค. 2562 ส่วนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 MHz และการได้รับเงินเยียวยาทีวีดิจิทัล คาดว่าจะสามารถเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลไม่พอใจเงื่อนไขก็สามารถยกเลิกหนังสือขอรับสิทธิ์ได้ ทั้งนี้การจัดสรรคลื่น 700 MHz จะไม่ใช่การประมูลในครั้งที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 -27,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 15 MHz (รวม 3 ค่าย เป็นเงิน 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งโอเปอเรเตอร์ยังไม่ต้องชำระเงินในเดือนมิ.ย.ปีนี้ ให้ชำระวันที่ 1 ต.ค. 2563 จากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล  ส่วนทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการไม่ต้องนำเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายในงวดที่ 5 และ 6มาชำระให้กับ กสทช. ส่วนรายที่ชำระงวดที่ 5 คือ ช่อง 7 workpoint และ springnewsกสทช.จะคืนค่าประมูลให้ผู้ประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อ ก็จะได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้ายที่เหลือ จำนวน 13,622 ล้านบาท และกสทช.จะเป็นผู้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายในระบบทีวีดิจิทัล หรือ mux ให้แก่ผู้ประกอบการตลอดอายุสัมปทาน โดยผู้ประกอบการที่จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น จะต้องชำระค่าธรรมเนียมที่ค้างจนถึงงวดที่ได้รับการยกเว้น ขณะที่มุมมองผู้ประกอบทั้งค่ายมือถือ และทีวีดิจิตอล กลับมีมุมมองในเรื่องนี้ว่า “วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร”  รองกรรมการผู้อำนวยการ อาวุโส ส่วนงานปฏิบัติการเอไอเอส กล่าวว่า คงต้องส่งจดหมายยื่นความจำนงขอใช้สิทธิ์ไปก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่งว่าจะเข้าร่วมจัดสรรคลื่นหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นกับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท แต่ก็ยอมรับว่าการกำหนดวันจัดสรรคลื่นในเดือนมิ.ย.นั้นเป็นระยะเวลาที่สั้นต่อการเตรียมตัว ซึ่งคลื่น 700 MHz เป็นการนำมาทำ 5G ซึ่งคาดว่ามีรูปธรรมที่ชัดเจนภายในสองปี ไม่ใช่ปีหน้า เท่ากับเป็นการจ่ายเปล่า เช่นเดียวกับ “ราจีฟ บาวา” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจดีแทค กล่าวว่า การส่งจดหมายการขอรับสิทธิ์สามารถยื่นได้ก่อน หากเงื่อนไขการประมูลไม่เป็นไปตามที่ต้องการดีแทคก็สามารถยกเลิกหนังสือแจ้งความจำนงค์ได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าราคาคลื่นความถี่ของไทยสูงเกินไป ซึ่งดีแทคจะหารือกับทางกสทช. เพื่อความชัดเจนก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป ส่วน “อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข” รองประธานคณะกรรมการบริหารทรูมูฟ กล่าวว่า การประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งที่ผ่านมายังเป็นภาระที่เกิดขึ้น มูลค่าของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมลดลงกว่า 4 แสนล้านบาท และเรื่องม.44 นี้เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท                 ด้านฝั่งทีวีดิจิทัล “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่อสมท. กล่าวว่า บริษัทจะส่งหนังสือแสดงความจำนงค์ให้กสทช.ก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการทุกรายจะยื่นหนังสือขอรับสิทธิ์เช่นกัน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขการเยียวยาอีกครั้งหนึ่งว่าพอใจหรือไม่