ร้อนแรงไม่แพ้อากาศเมืองไทยก็คือ ปรากฎการณ์ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และถูกขุดอดีตมาไล่ล่าอย่างต่อเนื่อง กับกรณีที่เป็นกระแสล่าสุดเรื่องแนวคิดเลิกระบบการนับญาติที่ใช้เรียกขานกันในสังคมไทย ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์เอาไว้ใน The Momentum เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 “เลิกใช้คำว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา อยากให้เลิกใช้คำพวกนี้ให้หมด สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ” แม้จะมีความพยายามอธิบายว่าเป็นการเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมใหม่ภายในองค์กรของตนเอง ก็คือพรรคการเมืองของเขาเพียงเท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเขาก้าวเข้าสู่ในองค์กรที่ใหญ่กว่านี้หรือในระดับประเทศ แนวคิดเช่นนี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ และนั่นจึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านในโลกโซเชียลตามมาอย่างดุเดือด นำไปสู่การปะทะกันทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ในทางกลับกันความเป็นขบถและกล้าท้าทายเช่นนี้ กลับยิ่งทำให้ “ธนาธร”ได้รับคะแนนนิยมอย่างสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และจับกลุ่มแฟนคลับ “ฟ้ารักพ่อ” ได้อย่างเหนียวแน่น กระนั้น ปรากฏการณ์ “ธนาธร” กับพรรคอนาคตใหม่ ทำให้หวนคิดถึงปรากฎการณ์ทักษิณ ชินวัตร กับพรรคไทยรักไทยที่เคยกวาดที่นั่งส.ส.ถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2544 และเมื่อยิ่งจับจ้องลงไปที่ “ธนาธร” ถึงวิบากกรรมและกลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว ก็พบความเหมือนที่แทบจะถอดแบบกันมา ในหลายเรื่องอย่างน่าตกใจ ไล่มาตั้งแต่ ประการแรก ปมเขื่องเรื่องหุ้น ที่อาจทำให้เส้นทางสู่ดวงดาวของ “ธนาธร”ต้องสะดุดหยุดลง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.รับคำร้องและตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่า “ธนาธร” ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. หรือไม่ เนื่องจากขณะสมัครรับเลือกตั้ง ยังถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อ เข้าลักษณะต้องห้ามในการเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตจากนักกฎหมายว่า เป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เมื่อพบพิรุธหลายประการในการโอนหุ้นให้แม่กับหลาน และยิ่งชี้แจงก็ยิ่งเกิดคำถามมากขึ้น ขณะที่ “ทักษิณ” ก็เคยสร้างตำนาน “ซุกหุ้น” ในชื่อคนขับรถ และคนรับใช้มาแล้ว ทำให้เกิดวลีเด็ด “บกพร่องโดยสุจริต” ที่เขาอ้างกลางศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีเจตนาปกปิดแต่อย่างใด ก่อนจะรอดความผิดในคดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ด้วยมติ 8 ต่อ 7 เสียง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2544 แต่หลังจากนั้น 3 ปีต่อมา มีการออกมาแฉถึงกระบวนการตัดสินคดีที่ไม่เที่ยงธรรม ความเหมือนประการต่อมา ก็คือ การใช้มวลชนเป็นหลังพิงฝา จะเห็นได้ทั้ง “ธนาธร” และแกนนำพรรคมักอ้าง “6 ล้านเสียง” ที่เลือกพรรคอนาคตใหม่เป็นเดิมพัน ขณะที่การแสดงพลังของมวลชนในการเดินทางไปให้กำลังใจ “ธนาธร” ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เกิด # Save Thanatorn ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เพียงแค่ “ธนาธร” ถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกมาให้ปากคำ 3 ข้อหา คือ มาตรา116 ฐานยุยงปลุกปั่น, มาตรา 119 พาผู้ต้องหลบหนี และมาตรา 251 มั่วสุมชุมนุมกันเกิน 10 คนเพื่อประทุษร้าย “ผมเชื่อมั่นว่ามีประชาชนหลายล้านคนที่รักความเป็นธรรม ยืนเคียงข้างผมและพร้อมจะแสดงออกว่าพวกเขาไม่ยอมทนกับอำนาจมืดที่จ้องทำลาย” ความตอนหนึ่งจากข้อความที่ “ธนาธร” โพสต์ในแฟนเพจของตนเองต่อกรณีได้รับหมายเรียกจกพนักงานสอบสวน ในขณะที่การเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ ในหลายจังหวะก้าวทางการเมืองที่ผ่านมา ก็สอดรับกับการเคลื่อนของมวลชนกลุ่มคนอยากเลือกตั้งอย่างพอเหมาะพอเจาะ เฉกเช่นเดียวกัน คราว “ทักษิณ” ติดหล่มคดีซุกหุ้น ก็มีข่าวว่าจะมีการชุมนุมเพื่อกดดันและเผาศาลรัฐธรรมนูญออกมา และมีการอ้างประชาชนที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทย 11 ล้านเสียง ซึ่งถือเป็นการใช้มวลชนเป็น “เกราะ”ช่วยให้รอดพ้นคดีในครั้งนั้น และหลายครั้งที่ “ทักษิณ”เลือกที่จะส่งสารถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ในการต่อต้านกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวิกฤตการณ์ทางการเมือง กระทั่งรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีรัฐบาล คมช. รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เองก็เคยเผชิญกับแรงเสียดทานจากกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ต่อมาคือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติมาแล้ว และเมื่อคราว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องสาวต้องเดินทางไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งางการเมือง ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหาย ในโครงการรับจำนำข้าว ก็ได้เห็นพลังของมวลชนที่ออกมากดดัน ก่อนที่ “ยิ่งลักษณ์” จะเลือกเดินตามรอยพี่ชาย คือหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนมีคำพิพากษาจำคุก ประการที่สาม ดิสเครดิตกระบวนการยุติธรรม ตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนเมื่อ “ธนาธร” ได้รับหมายเรียกจาก สน.ปทุมวัน แทนที่จะไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ แต่กลับนำหมายเรียกไปโพสต์ในสื่อโซเชียลมีเดียของตนเอง แล้วกล่าวหา เป็นการใช้อำนาจมืด “ธนาธร” เองยังแสดงความเห็นผ่านบทสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมระบุว่า “คดีคุณทักษิณมันชัดเจนว่าคดีอาญาที่ฟ้องคุณทักษิณทำขึ้นในรัฐบาลทหาร เราจึงขอเสนอว่า เราต้องคืนความยุติธรรมให้เขา เอาทักษิณกลับมา นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เขาต้องรับผลที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเป็นทางออกเดียว ผู้นำของทั้งสองฝั่งต้องรับผิดชอบ” เมื่อถามว่าคุณจะทำอะไร หาทางที่จะถอนคดีความ แล้วฟ้องคดีด้วยข้อหาที่โทษน้อยลงเพื่อต้อนรับเขาหรือ? “ธนาธร” ตอบว่า “ไม่ใช่...ต้องรื้อคดีต่างๆ พิจารณาคดีต่างๆ ใหม่ และผู้พิพากษาต้องเป็นกลาง ไม่เหมือนที่ผ่านมาที่เราเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อกำจัดคุณทักษิณ เขามีสิทธิ์ที่จะต่อสู้คดีภายใต้กระบวนการและศาลที่เป็นธรรม ผมเชื่ออย่างนั้น...เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน” ส่วน “ทักษิณ” เองนั้น ก็มักจะสื่อสารไปถึงมวลชนของเขาว่า “ไม่ผิด และเขาถูกกลั่นแกล้ง” เสมอๆ รวมทั้งล่าสุด ที่สร้างวลีดัง “กระบวนการยุติธรรมแบบป้อมๆ” กล่าวหากระบวนการยุติธรรมว่าหมดความน่าเชื่อถือแล้ว และที่แทบจะถอดแบบกันมา ประการที่สี่ ก็คือ ตำรารวยแล้วไม่โกง เมื่อเจ้าของฉายาไพร่หมื่นล้าน อย่าง “ธนาธร” ก้าวเข้าสู่การเมือง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้เป็นแม่ก็การันตีว่า เด็กคนนี้ไม่ได้หวังเข้ามาเล่นการเมืองเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ “พื้นเพของครอบครัวเราเอง ไม่ได้โตมาจากสายการเมืองที่ต้องเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เพื่อถอนทุน ช่วงก่อนเลือกตั้ง พอถามเขาว่าจะเลือกอะไรระหว่างบริษัท กับประเทศไทย เจ้าตัวตอบทันทีว่าประเทศไทย ดิฉันจึงเข้าใจในความตั้งใจของลูกชาย” ขณะที่เมื่อครั้ง “ทักษิณ” ตาดูดาว เท้าติดดิน ประกาศว่า “ผมเข้ามาเล่นการเมืองเพราะอยากทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ผมรวยแล้วผมไม่โกง” แต่แล้วก็เห็นว่า มีคดีทุจริตทั้งทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน 1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ 2.คดีทุจริตหวยบนดิน 3.คดีแปลงสัมปทานมือถือ และ 4.คดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย และประการสุดท้าย คือ ทัศนะคติอันตราย ที่ “ธนาธร” ในฐานะนายทุน หนังสือ “ฟ้าเดียวกัน” บอกว่าให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ขณะเดียวกันก็จับมือกับนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เคลื่อนไหวเรื่องมาตรา 112 จัดตั้งพรรคการเมือง เช่นเดียวกัน ทุกวันนี้ “ทักษิณ”เอง ยังต้องออกมายืนยันว่าตนเอง จงรักภักดี ไม่ดึงฟ้าต่ำ แต่แม้จะเหมือนกันในหลายประการ ทว่าก็มีความต่างในการทำงานการเมือง ที่ “ทักษิณ” ใช้เวลามากกว่าธนาธร หลายปี และใช้วิธีทำการเมืองแบบเก่าด้วยการใช้พลังดูดและดึงกลุ่มการเมืองต่างๆมาร่วม ในขณะทีท “ธนาธร” ใช้กลุยทธ์ดิจิตัล เจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กระนั้นกระแสที่เกิดขึ้นกับ “ทักษิณ” ในวันวาน และ “ธนาธร” ในวันนี้ ยังมีความเหมือนกัน นั่นคือ อารมณ์ทางการเมือง ที่คนอยากเห็นการเมืองใหม่ อยากให้โอกาสคนใหม่ๆ ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนไร้นัยแอบแฝงเป็นอย่างอื่นจริง ก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ในทางกลับกันหากทำให้ประชาชนผิดหวังกระแสก็จะตีกลับเช่นกัน