ท่ามกลางการแข่งขันของอุตสาหกรรมในทุกประเทศทั่วโลก ภาคเอกชนเปรียบเสมือนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ช่วยผลักดันให้เกิดเม็ดเงิน เกิดเป็นภาษี และเกิดการพัฒนาประเทศ ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่ประคับประคองดูแลช่วยเหลือให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงรัฐมีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อม ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ ถ้าภาคเอกชนไปไม่รอด อุตสาหกรรมต่างๆก็ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ เป็นภาวะฟองสบู่แตก ทำให้ในหลายครั้งที่ภาครัฐเองต้องเข้ามาช่วยแก้วิกฤต โดยเฉพาะ ในครั้งนี้ที่รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเยียวยาต่อลมหายใจภาคอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคม ด้วยการใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ เพราะทั้ง 2 ภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และ ทีวีดิจิทัล เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างคุณประโยชน์อย่างมาก มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เเละสังคมของประเทศ สมควรได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง!! โดยต้องยอมรับว่า การประมูลคลื่น 1800 และ900 ที่ผ่านมา มีราคาสูง มากโดยเฉพาะคลื่น 900 สูงเป็น อันดับสองของโลกเมื่อเทียบกับรายได้ต่อประชากร แถมเจอเล่ห์เหลี่ยมการเสนอราคาของผู้ประกอบการบางรายสร้างความปั่นป่วน ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมน้ำดี ต้องก้มหน้าแบกรับภาระค่าประมูลที่สูงเกินจริง ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อสารทั้ง Broadband และ Mobile มีต้นทุนเพิ่ม อย่างมากมายตามการขยายตัวของ OTT ที่ทำให้ปริมาณการใช้งานผ่าน Mobile มีเพิ่มขึ้น จนคลื่นที่ได้มาจากการประมูลราคาแพงทั้ง 2100 MHz, 1800 MHz และ 900 MHz ไม่เพียงพอในระยะอันใกล้นี้ แต่การจัดเก็บรายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น ส่วนทีวีดิจิทัล กำลังอยู่ในภาวะทะเลเลือดที่มีเทคโนโลยี Disruption และพวก OTT เข้ามาทำให้อุตสาหกรรมทีวีพังทลาย โฆษณาหนีไปลงใน Social network เช่น Facebook YouTube Line TV ภาพยนตร์ดูผ่าน Internet ได้ ไม่ต้องมีกล่องใด ๆและที่สำคัญ Internet TV ได้กลายมาเป็นคู่แข่งกับ Digital TV ที่รัฐเปิดประมูล! เกือบทุกช่องขาดทุน บางช่องถึงกับล้มเลิกกิจการ พนักงานตกงานกันมากมาย! ทำให้สถานการณ์ “ทีวีดิจิทัล” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญภาวะ “กลืนเลือด” ต้นทุนที่แบกรับมหาศาล สวนทางรายรับที่ลดฮวบฮาบ เรตติ้งตกต่ำ คนดูน้อย ตอกย้ำธุรกิจเข้าขั้นวิกฤติ Red Alert! และที่เจ็บปวดไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา OTT และอื่นๆไม่เคยช่วยจ่ายค่าภาษี และค่าธรรมเนียมใดๆ ที่ช่วยบำรุงประเทศ แต่ในทางกลับกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าธรรมเนียมความถี่ใบอนุญาต จ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จ่ายภาษีนิติบุคคล มีเม็ดเงินช่วยพัฒนาประเทศ เรียกได้ว่า สร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล เปิดสาระสำคัญของคำสั่ง มาตรา 44 ในส่วนของผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้น ทำให้ เอไอเอส ดีแทค และทรู ที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปก่อนหน้านี้ รวมวงเงินประมูลประมาณ 190,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จะได้รับความช่วยเหลือด้วยการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมจ่าย 4 งวดเป็น 10 งวด หรือจากเดิมต้องจ่ายหมดในปี 2562 เป็น เอไอเอส และ ทรู จ่ายงวดสุดท้ายปี 2568 ขณะที่ ดีแทค ซึ่งประมูลหลังสุด จ่ายงวดสุดท้ายปี 2570 เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีเงินทุนมาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และรองรับการให้บริการ 5 จี นายพิสุทธิ์ งามวิจิตรวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ธนาคารกสิการไทย กล่าวสนับสนุนภาครัฐใช้มาตรา 44 ขยายเวลาการชำระออกไปแล้วคิดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายจากโอเปอเรเตอร์ ไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เพียงแต่รัฐจะได้รับเงินในส่วนนี้ช้าออกไป นอกจากนี้ หากรัฐบาลต้องการไปสู่ 5G โดยเร็ว แต่ไม่ช่วยเหลือโอเปอเรเตอร์ เพียงเชื่อว่าในอนาคตคงมีผู้เล่นรายใหม่มาเพิ่มเติม เป็นความคิดที่ทำลายอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างชัดเจน ขณะที่ มีนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า NGO วิจารณ์จากตำรา ร้อนรน แสดงอาการไม่พอใจอย่างชัดเจน ออกมาต่อต้าน ทำทุกวิถีทางสร้างความเข้าใจผิดให้กระแสสังคมมองว่า การที่รัฐ ใช้มาตรา 44 มาต่อลมหายใจให้2 ภาคอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร้ข้อเท็จจริงโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายจากอุตสาหกรรมสื่อทีวี และโทรคมนาคมฟองสบู่แตกนั้น ความเสียหายของประเทศจะมีมากขนาดไหน ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าสู่ 3G ล้าหลังกว่าประเทศอื่น 10 ปี พอเปิดให้บริการ 4G ไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่น 8 ปี ทำให้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอกชนต้องเอาเงินลงทุนจำนวนมหาศาลมาลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อไล่กวดประเทศอื่นๆที่คุ้มทุนกันมาหมดแล้ว และในห้วงเวลาเดียวกัน ภาคเอกชนต้องเตรียมเงินลงทุนเพิ่มเพื่อเข้าประมูล 5G ในขณะที่ของเดิมยังไม่คุ้มทุน แต่ความก้าวหน้าของประเทศรอไม่ได้ ประเทศไทยต้องมี 5G ให้ทัดเทียมนานาประเทศ และไม่ผิดที่รัฐบาลต้องกระโดดลงมาช่วย เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้า ทั้งนี้ มาตรการ ม.44 ให้มีการผ่อนชำระ ไม่ได้ทำให้รัฐ หรือ ใครเสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน แต่ในทางตรงกันข้าม กับต่อลมหายใจ ให้สื่อทีวี และการสร้าง content ทำให้หมวดสื่อสาร มีกำลังในการลงทุน 5G เพื่อประเทศ หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติในใจ จะพบว่าการใช้มาตรา 44 ผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลไม่ได้เป็นการขอลดจำนวนเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องชำระให้แก่รัฐแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ประกอบการทั้ง 3ราย ขอความช่วยเหลือ เพื่อขยายจำนวนงวดชำระงวดสุดท้าย และพร้อมที่จะชำระดอกเบี้ยนโยบายที่รัฐกำหนด ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ขณะเดียวกันโอเปอเรเตอร์ยังคงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กสทช.กำหนดไว้เดิม โดยมีหลักประกันธนาคารให้แก่ กสทช.ครบถ้วนตามมูลค่าคลื่นที่ต้องชำระ ดังนั้นการขอแบ่งชำระของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย จึงไม่ได้เป็นการผิดนัดการชำระ จนต้องคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ(15%) หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการผิดนัด นอกจากนี้ หากต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาชำระค่าคลื่นดังกล่าว ภาระทางการเงินในส่วนดอกเบี้ยจากการกู้เงิน จะอยู่ประมาณ 3-4% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1.5%) ไม่ได้เป็นตัวเลข ความเสียหายของรัฐจำนวนสูงตามที่มีการ กล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงถือได้ว่า ม.44 เป็นการผ่าทางตัน ต่อลมหายใจให้ภาคอุตสาหกรรมไปต่อได้ โดยไม่มีใครเสียประโยชน์!!! เวลานี้คงต้องตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมนักวิชาการ NGO ที่ออกตัวแรงมาต่อต้านเรื่องนี้มีนัยสำคัญอะไร!?! เพื่อต้องการปกป้องผลประโยชน์ประเทศ หรือเพื่อหวังผลให้ต่างชาติเข้ามาฮุบ 2 อุตสาหกรรมหลักที่เป็นสมบัติของคนไทยให้ตกไปอยู่ในมือต่างชาติกันแน่!!! -----------------------------------------