ภายหลัง ม.44 เปิดทางให้ยืดการชำระหนี้คลื่น 900 เป็น 10 ปี โดยมีเงื่อนไขต้องเข้าร่วมจัดสรรคลื่น 700 MHzในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อหนุนอุตสาหกรรม 5G ส่วนทีวีดิจิทัลเปิดทางให้คืนไลเซ่นส์ได้ และไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดที่เหลือ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (17 เม.ย. 2562) กสทช.ได้เรียกผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลมาชี้แจงถึงมาตรา 44 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศมาช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz โดยต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ในเดือนมิ.ย.นี้ และทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้นั้น จึงขอให้ผู้ประกอบการที่ต้องการรับสิทธิ์ช่วยเหลือทำหนังสือส่งมายังกสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค. 2562 ส่วนเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 700 MHz และเงื่อนไขการได้รับเงินเยียวยาทีวีดิจิทัล คาดว่าจะสามารถเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัลไม่พอใจเงื่อนไขก็สามารถยกเลิกหนังสือขอรับสิทธิ์ได้ สำหรับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ครั้งนี้จะไม่ใช่การประมูลในครั้งที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 -27,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งใบอนุญาต จำนวน 15 MHz (รวม 3 ค่าย เป็นเงิน 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งโอเปอเรเตอร์ยังไม่ต้องชำระเงินในเดือนมิ.ย.ปีนี้ ให้ชำระวันที่ 1 ต.ค. 2563 จากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล “หากค่ายใดค่ายหนึ่งไม่รับเงื่อนไขว่าต้องเข้ามารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz ก็จะไม่สามารถรับสิทธิ์ขยายค่าคลื่น 900 MHz ได้ และคลื่น 700 MHz ที่เหลือก็จะนำมาจัดประมูลในแบบเดิม การจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้เป็นไปตาม ม. 44 ทำให้เราสามารถทำได้ทันในเดือน มิ.ย.นี้ ไม่ใช่การนั่งเคาะการประมูลแบบเดิม ถ้าทำอย่างนั้นเราทำไม่ทันอยู่แล้ว” ส่วนทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ โดย กสทช.จะตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดค่าชดเชย โดยผู้ประกอบการจะต้องทำหนังสือแสดงความจำนงขอคืนใบอนุญาตต่อ กสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค.62 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่ต้องนำเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้ายในงวดที่ 5 และ 6 มาชำระให้กับ กสทช. ส่วนรายที่ชำระงวดที่ 5 คือ ช่อง 7 workpoint และ springnews กสทช.จะคืนค่าประมูลให้ผู้ประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อ ก็จะได้รับการยกเว้นค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้ายที่เหลือ จำนวน 13,622 ล้านบาท และกสทช.จะเป็นผู้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายในระบบทีวีดิจิทัล หรือ mux ให้แก่ผู้ประกอบการตลอดอายุสัมปทาน โดยผู้ประกอบการที่จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนั้น จะต้องชำระค่าธรรมเนียมที่ค้างจนถึงงวดที่ได้รับการยกเว้น นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการ อาวุโส ส่วนงานปฏิบัติการ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสต้องส่งจดหมายยื่นความจำนงขอใช้สิทธิ์ไปก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้งหนึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งการกำหนดวันจัดสรรคลื่นในเดือนมิ.ย.ยอมรับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นต่อการเตรียมตัว ขณะที่นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า การขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ซึ่งเป็นการยืนยันว่าราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป ดีแทคจะหารือกับทางกสทช. เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฯในเรื่องมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการบริษัทยังไม่ทราบว่าจะมีการประชุมเมื่อไหร่ แต่เรื่องการส่งจดหมายการขอรับสิทธิ์สามารถยื่นได้ก่อน หากเงื่อนไขการประมูลไม่เป็นไปตามที่ต้องการดีแทคก็สามารถยกเลิกหนังสือแจ้งความจำนงค์ได้ นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ทรูมูฟ)กล่าวว่า การประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งที่ผ่านมายังเป็นภาระที่เกิดขึ้น บริษัทยังไม่คุ้มทุน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่โตเท่าที่ควร มูลค่าของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมลดลงกว่า 4 แสนล้านบาท เรื่องม.44 นี้ เป็นเรื่องใหม่ และเราก็กังวล ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท