ท่ามกลางความแตกแยกขัดแย้งต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปีในสังคมไทย ได้มีความพยายามนำเสนอแนวคิดคืนความสมานฉันท์ให้กับคนไทย ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเข้ามาดูแลวางกติกาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอด ทว่า แนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติดังกล่าว ก็ไม่เคยได้รับการสนองตอบ โดยเฉพาะจากฟากการเมืองที่มักให้เหตุผลว่าไม่อาจทำได้ เพราะขัดต่อระบอบประชาธิปไตย จนสุดท้าย ทหารต้องเข้ามาทำรัฐประหารยึดอำนาจ เพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการนองเลือดจากการเผชิญหน้าของกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่ทำท่าจะบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง กระนั้น ล่าสุด ข้อเสนอในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติกลับมาเป็นประเด็นข่าวอีกครั้ง และคราวนี้ดูเหมือนจะเรียกความสนใจได้มากกว่าที่ผ่านๆ มา เนื่องจากเป็นการนำเสนอจากขั้วการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ โดยนายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ทำท่าว่าจะเกิดปัญหาเดดล็อก ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเสียงก้ำกึ่งกัน ไม่สามารถตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ และอาจเกิดความวุ่นวายจากการออกเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มการเมืองต่างๆ “ถ้าทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมืองยังถือทิฐิ ไม่ยอมลดราวาศอก บ้านเมืองของเราก็จะถึงทางตัน ตกอยู่ในวังวนเดิม ถ้าจะให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ หรือจะให้ใช้มาตรา 44 เพื่อสั่งยกเลิกการเลือกตั้งจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเช่นกัน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเองก็จะเสียงบประมาณที่ใช้ในการเลือกตั้งไปโดยเปล่าประโยชน์ 5-6 พันล้านบาท ส่วนตัวเห็นว่าทางออกของประเทศขณะนี้ ทุกพรรคการเมือง ทุกขั้วทุกฝ่ายควรต้องถอยคนละก้าวเพื่อให้บ้านเมืองสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ทางออกที่ดีที่สุดเวลานี้คือ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติที่ทุกฝ่าย ทุกพรรคที่มีส.ส.มีส่วนร่วม โดยนายกฯต้องเป็นคนกลางที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ ไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับขั้วใดขั้วหนึ่ง ซึ่งทุกพรรคต้องร่วมลงสัตยาบรรณทางการเมืองเห็นพ้องในการตั้งรัฐบาลแห่งชาตินี้ และมีภารกิจหลัก 2 เรื่องใหญ่คือ 1. การแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีความเป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล เมื่อเสร็จภารกิจหลักนี้ภายในเวลา 2 ปี ก็ให้ยุบสภาฯเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนในการกำหนดอนาคตผ่านการเลือกตั้งใหม่ หากเห็นว่าข้อเสนอนี้เป็นทางออก พรรคการเมืองทุกพรรคก็ควรหันหน้าเข้าหากัน และพุดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก” ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราชระบุ พร้อมกันนี้นายเทพไทยังได้เสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกฯคนกลาง โดยมีด้วยกันทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย 2 องคมนตรีคือ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ นายพลากร สุวรรณรัฐ อดีตข้าราชการฝ่ายปกครอง และที่เหลืออีก 2 คน ได้แก่ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้จาก 4 แคนดิเดตนายกฯคนกลางที่นายเทพไทเปิดชื่อขึ้นมานั้น ดูเหมือนผู้ที่ได้รับการโฟกัสมากสุดคือนายพลากร เพราะแทบทุกครั้งที่มีการนำเสนอแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายพลากรมักถูกมองว่ามีความเหมาะสมในการเข้ามาทำหน้าที่นายกฯคนกลาง สำหรับนายพลากรนั้น ตามประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2491 เป็นบุตรของนายพ่วง สุวรรณรัฐ อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ โดยนายพลากรมีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 4 คน คือ 1. ท่านผู้หญิงพรรณวดี จุฑารัตนกุล นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ สมรสกับ นายจเร จุฑารัตนกุล อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ 2. นางพิยดา สุวรรณรัฐ ประกอบอาชีพอิสระ สมรสกับนายเฮนริค แลงเฟลด์ 3. นางภราไดย สุวรรณรัฐ สมรสกับ นายทินกร หิรัญพฤกษ์ ซึ่งมีลูกชายคือ ภูริ หิรัญพฤกษ์ เป็นดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง 4.นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับราชการในสายมหาดไทยเคยเป็นผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ด้านชีวิตครอบครัวของนายพลากร ได้สมรสกับท่านผู้หญิงทัศนียา สุวรรณรัฐ โดยนายพลากรจบการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโท M.A.I.A.(international affair, Southeast Asia Studies) มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท และผ่านการอบรมจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ส่วนชีวิตด้านการทำงานบนเส้นทางราชการของนายพลากรนั้น ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง เพราะเคยผ่านประสบการณ์ทั้งในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นต้น โดยนายพลากรได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อ วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 และนี่เป็นประวัติโดยย่นย่อนายพลากร ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการขานชื่อให้นายกฯคนกลางอีกครั้ง ส่วนจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หลังวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ น่าจะมีคำตอบให้ได้รับทราบโดยทั่วกัน