คอลัมน์ "ด้วยสมองและสองมือ" ไม่ว่าจะสังคมวัฒนธรรมใด ประเทศไหนไหน ล้วนแล้วแต่มีศิลปะแขนงที่เรียกว่าดนตรีกันทุกชนชาติจากอดีตจวบจนปัจจุบัน ศาสตร์ของดนตรีมากมายเสียจนเรียนรู้ไม่หมด จนมีการเรียนการสอนที่แยกออกตามความถนัด และทุกประเภทความถนัดยังคงยึดเป็นแนวทางอาชีพได้ไม่แพ้อาชีพอื่นเลยก็ว่าได้ ตัวอย่างอาชีพด้านเทคโนโลยีดนตรีที่หลายคนอาจรู้จักหรือไม่รู้จัก เลยอยากจะพามาพบกับกูรูพร้อมเรื่องราวที่จะเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านดนตรีให้กับทุกคน อาจารย์ประดิษฐ์ แสงไกร (อ.ปู) อาจารย์ประจำภาควิชาการประพันธ์เพลง และภาควิชาการผลิตดนตรี วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 18 ประจำปี 2559 (The 18th Silpa Bhirasri Creativity Grants 2018) โครงการ “The best of Thailand meets the best of the world” รางวัลนี้มอบให้ศิลปินโดยดูจากผลงานศิลปะต่างๆ แต่ปีนี้จัดให้มีรางวัลด้านประพันธ์เพลงเป็นปีแรก โดยเน้นเรื่องของคอนเซ็ปต์และแนวคิดในการประพันธ์ตามหัวข้อ ส่วนตัวอาจารย์ได้รางวัลนี้จากการตีความส่วนตัวและหยิบยกความเป็นไทยผสมกับความเป็นสากลที่ว่าหากนำทั้งสองแบบมาผสมผสานกันควรจะออกมาอย่างไร? ซึ่งอาจารย์นำสัญลักษณ์ที่คนไทยคุ้นเคย และชาวต่างชาติพบเจอเป็นเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย นั่นคือ ยักษ์ในสนามบินสุวรรณภูมิ และนำเพลงไทยอย่างกราวในที่ใช้เป็นเพลงแสดงถึงตัวละครยักษ์ในการแสดงโขนมาปรับให้เข้ากับตะวันตกจึงทำให้ตรงกับคอนเซ็ปต์และได้รับรางวัล สำหรับอาจารย์ประดิษฐ์ เป็นตัวอย่างของบุคคลที่มาทางสายดนตรีอาชีพที่ไม่ใช่แค่พรสวรรค์ เพราะเริ่มต้นพรแสวงตั้งแต่เริ่มรู้ตัวตนว่าชอบและรักที่จะมาสายวิชาชีพดนตรี โดยเริ่มจากการเล่นดนตรีไทยมาก่อน เข้าเรียนมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวงโยธวาทิต จึงมีโอกาสเรียนดนตรีเรื่อยมา จุดนี้ก็ทำให้รู้ว่าชอบดนตรีอยากทำอาชีพนี้ หลังจบชั้นม.ปลายจึงสอบเอนทรานซ์เข้าศึกษาที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาการสอนเครื่องดนตรีและวงดนตรีไทย) แต่ด้านที่สนใจคือเทคโนโลยีดนตรี (การบันทึกเสียง) เนื่องจากเป็นเรื่องแปลกใหม่จึงแสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม อ่านหนังสือ ลงมือทดลองทำเอง สะสมจนกลายเป็นความชำนาญและประสบการณ์เรื่อยมา ต่อมาจึงศึกษาต่อปริญญาโท ด้านการประพันธ์เพลงโดยตรงที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยความชำนาญและประสบการณ์นำพาให้มาเป็นอาจารย์โดยเริ่มสอนครั้งแรกที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณ 3 ปี และย้ายมาสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต กว่า 8 ปีจนถึงปัจจุบัน ในสาขาเทคโนโลยีการผลิตดนตรี สิ่งที่โดดเด่นของอาจารย์คือไม่อยากมีความรู้แบบคร่ำครึ และต้องอยู่ในเทรนด์ตลอด อะไรที่เป็นดนตรีแนวใหม่ต้องทัน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการนำมาเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาให้ตรงกันตามยุคตามสมัย รูปแบบการเรียนการสอนเทคโนโลยีผลิตดนตรี ที่เน้นการเรียนรู้ทักษะเพื่อผลิตผลงานดนตรีสมัยนิยม รวมถึงทักษะการใช้เครื่องมือในห้องบันทึกเสียง การเป็นผู้ผลิตผลงานดนตรีหรือคอนเสิร์ต (โปรดิวเซอร์) นักแต่งเพลงสมัยนิยม วิศวกรบันทึกเสียง ผู้ตัดต่อเสียงดนตรี และนักธุรกิจดนตรี อาจารย์เน้นยึดความสนใจของนักศึกษาเป็นหลัก เพราะเรื่องของดนตรีมีความเป็นปัจเจก จึงมีความหลากหลายเพราะแต่ละคนฟังเพลงไม่เหมือนกัน อย่างเช่น วิชา Mix Technique (ทักษะการผสมเสียง) ก็ให้นักศึกษาเลือกเพลงที่ชอบได้ทุกแบบ ทุกสไตล์ โดยให้หาโมเดลของตัวเองว่าอยากเป็นคาแรกเตอร์ในทิศทางไหน จากนั้นค่อยๆปรับจากโมเดลต้นแบบมาเป็นตัวของตัวเอง “ด้วยความที่อาชีพดนตรีที่ไม่ใช่แค่นักดนตรี อาชีพดนตรีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบันเทิง และมีแนวโน้มจะมีการพัฒนาที่เห็นได้ชัด และได้รับกระแสตอบรับดีทั้งในและต่างประเทศ คือ การออกแบบเสียงสำหรับสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ภาพยนตร์ เกมส์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ ในฐานะที่เราเป็นคนที่คร่ำหวอด และมองเห็นว่าอะไรที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษามีอนาคตในทางที่ดีได้ เราจะทอดแทรกทุกประสบการณ์ให้เขาได้นำไปใช้ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ให้นักศึกษาได้ลองทำไปควบคู่กับการเรียนไปด้วยซึ่งทำให้เขาได้ลองนำไปใช้จริง ก็นับว่าเป็นความภูมิใจเมื่อเขาเรียนจบก็จะเห็นได้ว่าหลายคนเข้าสู่วงการอาชีพที่เห็นผลชัด อาทิ Film Composer ทำเพลงประกอบสื่อต่างๆ Production House ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ แม้กระทั่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ พวกเขาได้กระจายความรู้ไปสู่เวทีอื่นๆ ไป ทำประโยชน์กับคนอื่นเรียกว่าเป็นผลผลิตที่ประสบความสำเร็จของผมแล้ว” แรงบันดาลใจของอาจารย์ประดิษฐ์ที่ทำให้มีกำลังใจมาถึงทุกวันนี้ คือ “ครู” ครูที่ทำการเรียนของเราเราไม่ยึดติดกับกรอบมากเกินไปทางด้านศาสตร์ของดนตรีไทย ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี ๒๕๓๑ และอาจารย์บรูซ แกสตัน นักดนตรีชาวอเมริกันผู้ที่ได้รับรางวัลศิลปาธรสาขาดนตรี ทั้งสองท่านทำให้เราได้รับการปลูกฝังแนวที่เปิดกว้างพัฒนาวัฒนธรรม ดนตรี และภาษาเข้าด้วยกัน ทำให้เราเป็นนักดนตรีที่เป็น Developer มากกว่า User “เราต้องเป็นนักดนตรีผู้พัฒนาได้ไม่ใช่นักดนตรีผู้ตาม ตรงนี้เองทำให้ผมได้รับโอกาสทำโปรเจ็กต์กับนักดนตรีชาวอังกฤษในการพัฒนาการเต้นร่วมสมัย ประกอบวรรณคดีไทย เรื่องพระมหาชนก ฉบับภาษาอังกฤษเขียนโดย Dr. Sarah Shaw อาจารย์ประจำ University of Oxford โดยทำงานร่วมกับนักดนตรี นักเต้น นักออกแบบท่าเต้นชาวไทย และอังกฤษ ร่วมถึงการคิด ดีไซน์ เพลงในแต่ละฉาก” ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาคนอื่นได้เราต้องพัฒนาตัวเอง...อยากเป็นนักดนตรีในสายเทคโนโลยีการผลิตดนตรี ต้องฟังเพลงเยอะๆ เหมือนกับการอ่านหนังสือ ยิ่งอ่านมากยิ่งมีต้นทุนมาก การสร้างสรรค์เพลงก็เช่นกัน ฟังมากก็มีต้นทุนในการทำงานมาก เปิดใจให้กว้างแล้วเราจะสามารถทำงานของตนเองได้ทุกรูปแบบ “เราจะไม่พึ่งพรสวรรค์อย่างเดียวเราต้องหาพรแสวงด้วย เพราะดนตรีเป็นเรื่องของ Skill (ทักษะ) ล้วนๆ แม้ว่าจุดเริ่มต้นของคนเราไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเรามีปลายทางที่เราตั้งไว้แน่วแน่ จะเริ่มต้นจากดนตรีไทยหรือดนตรีสากลมาก่อน เมื่อปลายทางเราคือ “นักดนตรี” ให้เริ่มต้นจากความเชื่อนั้นและค่อยๆ ตามมันเราก็จะเป็นหนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ได้อย่างแน่นอน”