เสี่ยเบนซ์น่วมอีก ล่าสุดพบประกันเบนซ์คันก่อเหตุทำประกันแค่ประเภท 5 แถมเจอกฎเหล็กใหม่ประกันไม่จ่ายกรณีแอลกอฮอลล์เกิน 50มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ จ่อซ่อมรถเองและรถคู่กรณีอีกดอก แถมความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลลูกสาวรองผกก.ยังไม่พอ ประกันจ่ายได้แค่ 5.8 แสนบาท ด้านคปภ. เร่งติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของรอง ผกก. เตือนประชาชนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ขับขี่ด้วยความไม่ประมาท เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมร่างกายและสภาพรถให้พร้อม และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด จากกรณีนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 57 ปี เจ้าของกิจการบริษัทอะไหล่รถยนต์ ก่อเหตุเมาแล้วขับรถเบนซ์ อี 250 สีบรอนซ์ หมายเลขทะเบียน ษฮ 789 กรุงเทพมหานคร ชนประสานงารถยนต์ ยี่ห้อซูซูกิ สวิฟต์ สีขาว หมายเลขทะเบียน 2 กก 3653 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.(สอบสวน) กก.2 บก.ป. เสียชีวิตคาที่ ส่วนนางนุชนาถ งามสุวิชชากุล อายุ 44 ปี ภรรยาเสียชีวิตในเวลาต่อมา และด.ญ.พิญาภา งามสุวิชชากุล อายุ 12 ปี ลูกสาว ได้รับบาดเจ็บสาหัสนอนรักษาตัวที่รพ. โดยเหตุเกิดบนถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวงและเขตทวีวัฒนา กทม. ต่อเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า จากการตรวจสอบข้อมูลประกันภัยเบื้องต้นพบว่า รถเบนซ์นายสมชายได้ทำประกันประเภท 3 พลัส หรือประเภท 5 และพ.ร.บ.ฯ ไว้กับบมจ.สินมั่นคงประกันภัย โดยจะให้ความคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกสำหรับความเสียหายชีวิต ร่างกาย และอนามัยจำนวนไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคน และความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือรถตัวเอง ไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนทรัพย์สินของคู่กรณีคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท จากกรณีเมาแล้วขับโดยจากผลตรวจเลือดมีปริมาณแอลกอฮอลล์สูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ส่งผลให้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ไม่คุ้มครองในการซ่อมหรือความเสียหายรถยนต์ทั้งของนายสมชายเอง ส่วนรถของพ.ต.ท.จตุพร นั้น พ.ต.ท.จตุพรซื้อประกันประเภท 1 ไว้กับ บมจ.วิริยะประกันภัย ซึ่งมีความคุ้มครองตัวรถเอาไว้ทุนประกัน 260,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนประมาณ 80%ของราคารถ และเมื่อ บมจ.วิริยะประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว จะไล่เบี้ยเรียกคืนจาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัย นอกจากนี้ส่วนเกินที่เหลือประมาณ 20% สามารถเรียกร้องจาก บมจ.สินมั่นคงได้เพิ่มเติมจนเต็มราคารถ ซึ่งทั้งสองจำนวนรวมประมาณ 320,000 บาท และเมื่อมีการจ่ายไปแล้ว บมจ.สินมั่นคงประกันภัยจะต้องไปไล่เบี้ยเรียกคืนจากผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับได้อีกเต็มจำนวน ในส่วนประเด็นความคุ้มครองชีวิตร่างกายกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บของ พ.ต.ท.จตุพร และครอบครัวนั้น กรณีนายสมชายเป็นฝ่ายผิด จะมีความคุ้มครองวงเงินสูงสุดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ของ บมจ.สินมั่นคงฯ ในส่วนของความเสียหายต่อชีวิตร่างกายอนามัย ดังนี้คือ กรณีของ พ.ต.ท.จตุพร จะได้รับค่าสินไหมตาม พรบ. เต็มทุน 300,000 บาท และตามประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 จำนวน 300,000 บาท (แต่จำนวนนี้จะถูกเรียกคืนจากนายสมชาย) รวมทั้งสิ้น 600,000 บาท กรณีของ นางนุชนาถ งามสุวิชากุล 3 แสนบาท จะได้รับค่าสินไหมตาม พรบ. เต็มทุน 300,000 บาท แต่ต้องหักค่ารักษาพยาบาลตามจริงก่อนเสียชีวิตไปก่อน และตามประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 จำนวน 300,000 บาท รวม 600,000 บาท เช่นเดียวกัน ส่วน บมจ.วิริยะประกันภัย ที่ พ.ต.ท.จตุพร และครอบครัวประสบเหตุ มีการทำประกันภัย พรบ. และประเภท 1 ไว้ จะมีจ่ายสินไหมกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ(แนบท้ายประกันพีเอ)ให้ทั้งพ.ต.ท.จตุพร และนางนุชนาถรายละ 2 แสนบาท ใน ขณะที่นางสาวพิญาภาบุตรสาวนั้นคงจะมีปัญหาในแง่ของค่ารักษาพยาบาลซึ่งบริษัทประกันทั้ง 2 อาจจะให้ความคุ้มครองไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลขณะนี้ทางญาติได้แสดงความกังวลว่าอาจจะเกินกว่า 2 ล้านบาทอย่างแน่นอน แต่วงเงินความคุ้มครองที่บริษัทประกันฯจะจ่ายให้จริงไม่เพียงพอ โดยแบ่งเป็นความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล พ.ร.บ.ฯ จ่ายจริงไม่เกิน 8 หมื่นบาท และประกันประเภท 5 ของ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ที่ให้ความคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกสำหรับความเสียหายชีวิต ร่างกาย และอนามัยจำนวนไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคน รวมเป็นจำนวน 380,000 บาท เมื่อนำมารวมกับความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลในกรมธรรม์ของ บมจ.วิริยะประกันภัย ที่คุ้มครองให้อีก 2 แสนบาท รวมแล้วเพียง 5.8 แสนบาท รวมค่าชดเชยที่จะได้จากบริษัทประกันที่เป็นฝ่ายละเมิดอีกวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน ก็ตก 4,000 บาท รวมแล้ววงเงินค่ารักษาพยาบาลที่ทั้ง 2 บริษัทประกันจะจ่ายได้ก็คือ 584,000 บาทเท่านั้น เพราะฉะนั้น ส่วนที่เกินย่อมตกเป็นภาระของนายสมชายเจ้าของรถเบนซ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลที่ยังขาดไปอย่างแน่นอน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์(รถเบ๊นซ์) หมายเลขทะเบียน ษฮ 789 กรุงเทพมหานคร ชนกับรถยนต์(ซูซูกิ) หมายเลขทะเบียน 2กก 3653 กรุงเทพมหานคร บนถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน คือ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.(สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองปราบปราม และนางนุชนาถ งามสุวิชชากุล ภรรยา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน คือ เด็กหญิงพิชญาภา งามสุวิชชากุล บุตรสาวของพ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล จึงได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และ สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยโดยทันที จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของ สำนักงาน คปภ. พบว่ารถยนต์ทั้ง 2 คัน ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย ดังนี้ 1. รถยนต์(เบ๊นซ์) หมายเลขทะเบียน ษฮ 789 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด(มหาชน) เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 และสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 เป็นการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 61-8-5209000-01726 และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 3+ กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 61-3-5-709808 โดยให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก สำหรับความเสียหายของชีวิต ร่างกาย และอนามัย จำนวนเงินเอาประกันภัย 300,000 บาทต่อคน และความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท 2. รถยนต์(ซูซูกิ) หมายเลขทะเบียน 2กก 3653 กรุงเทพมหานคร ได้ทำประกันภัยไว้กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 และสิ้นสุดความคุ้มครองในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 6211337051681 และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 1 กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 62113/กธ/011105-10 โดยความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย (PA) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร จำนวนเงินเอาประกันภัย รายละ 200,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล วงเงินรายละ 200,000 บาท สำหรับในส่วนของความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้ให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัย กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร จำนวน 300,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน จำนวน 80,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน ทั้งนี้ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ได้ลงพื้นที่และประสานงานกับ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย และบมจ.วิริยะประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบภัยและทายาทโดยด่วน และล่าสุดได้รับแจ้งจากทั้งสองบริษัทประกันภัยว่า พร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนและอยู่ระหว่างการติดต่อประสานกับผู้ประสบภัยและทายาท สำหรับสัญญาประกันภัยอื่นๆนั้น จะมีการติดตามและประสานกับบริษัทประกันภัยอย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยเพิ่มเติม หากพบว่ามีการทำประกันภัยไว้ จะเร่งดำเนินการให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็วต่อไป “สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเดินทางท่องเที่ยว จะขับขี่ด้วยความไม่ประมาท เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมร่างกายและสภาพรถให้พร้อม และปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และขอให้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและวันหมดอายุของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ด้วย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัย อุบัติเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการประกันภัยเพื่อให้ระบบประกันภัยมาช่วยบริหารความเสี่ยง และเยียวยาความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านการประกันภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 โดยในช่วง 7 วันอันตรายนี้ ได้เปิดให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย