วันที่ 14 เม.ย.62 รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน กรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ใน รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Winai Dahlan ระบุว่า นมสดลดอ้วน นมในที่นี้หมายถึงนมวัวที่นิยมดื่มกันมาก นำไปเป็นวัตถุดิบเตรียมผลิตภัณฑ์จากนม (Daily products) ที่มีตั้งแต่เนย เนยแข็ง กี โยเกิร์ต ไอศกรีม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอีกมากมาย นมวัวตามปกติมีไขมันประมาณ 4% ของน้ำหนักหรือ 4 กรัมต่อนมร้อยซีซี นมสดเมื่อไม่เอาไขมันออกในที่นี้ขอเรียกว่า “นมเต็มมันเนย” (Full-fat milk) หากทำการปั่นเพื่อสกัดไขมันในนมออก นมที่ถูกแยกไขมันออกครึ่งหนึ่งเรียกว่า “นมพร่องมันเนย” (Skimmed milk) มีไขมันเหลืออยู่ 2% หากสกัดไขมันออกจนแทบหมดกระทั่งเหลือไขมันประมาณ 0.5% เรียกนมนั้นว่า “นมขาดมันเนย” (Fat-free milk) บางคนเข้าใจว่าเป็นนมที่ไม่มีไขมันเลย นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด สุดท้ายคือนมที่มีการเติมมันเนยลงไปทำให้มีไขมันมากกว่าปกติ ช่วยให้อร่อยขึ้น นมชนิดนี้เรียกกันว่า “นมเติมมันเนย” (Fat-added milk) มีไขมันประมาณ 6% ความที่นมมีไขมันทำให้คนจำนวนไม่น้อยที่กลัวอ้วนรวมทั้งกลัวปัญหาหลอดเลือดตีบเลี่ยงการดื่มนมหรือเลือกนมพร่องมันเนยแม้มีราคาแพงกว่า บางส่วนถึงขนาดเลือกนมขาดมันเนยเสียด้วยซ้ำ สิ่งหนึ่งที่อยากบอกให้รู้คือความเชื่อเรื่องนมและไขมันในนมเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีรายงานวิจัยจากสวีเดนชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร the Scandinavian Journal of Primary Health Care ค.ศ.2013 ว่านักวิจัยให้อาสาสมัครจำนวน 1,782 คนดื่มผลิตภัณฑ์นมสดโดยติดตามศึกษานาน 12 ปีพบว่าอาสาสมัครเหล่านี้เสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงน้อยลง งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร the European Journal of Nutrition ค.ศ.2017 นักวิจัยทำการวิเคราะห์งานวิจัยเก่าที่ติดตามศึกษาอาสาสมัครจำนวนมากรวมทั้งสิ้น 29 งานวิจัย เกี่ยวข้องกับอาสาสมัครจำนวน 938,465 คน สรุปได้ว่าการดื่มนมสดเป็นประจำไม่ก่อปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด บางรายงานยังช่วยลดน้ำหนักตัวได้ด้วย กลายเป็นอย่างนั้น เรื่องนี้นักโภชนาการรุ่นใหญ่อย่างศาสตราจารย์ ดร.วอลเตอร์ วิลเลตต์ (Walter Willett) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายไว้ว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงกลัวเรื่องไขมันในนมอยู่มาก เอาเข้าจริงไขมันในนมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนเหล่านั้นคิด ปัญหาของโรคอ้วนมาจากการบริโภคแป้งและน้ำตาลสูงไม่ใช่บริโภคไขมันสูง ในการลดน้ำหนักตัว ดร.วิลเลตต์กล่าวว่าการเลือกบริโภคนมสดดีกว่าการบริโภคนมพร่องมันเนย เนื่องจากนมสดมีไขมันที่ทำให้อิ่มได้ง่ายกว่า ในขณะที่ผู้ที่บริโภคนมพร่องมันเนยเมื่ออิ่มช้ากว่ามักบริโภคแป้งมากขึ้น ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กรณีนมสด ดร.วิลเลตต์แนะนำให้ดื่มนมประมาณวันละสองกล่องเพื่อให้ได้แคลเซียมพอเหมาะไม่มากจนเกินไปยิ่งไปกว่านั้นหากเป็นการบริโภคโยเกิร์ต งานวิจัยของ ดร.วิลเลตต์เองกลับพบว่าโยเกิร์ตชนิดพร่องมันเนยทำให้อ้วนง่ายกว่าโยเกิร์ตนมเต็มมันเนย ทั้งนี้เนื่องจากโยเกิร์ตนมพร่องมันเนยมักเติมน้ำตาลทดแทนไขมันที่ลดลง เจอน้ำตาลแทนไขมันย่อมทำให้อ้วนขึ้นซึ่งรู้กันดีอยู่แล้ว