อย.เตือนและยกเลิกไปตั้งแต่ปีที่แล้วยังโผล่!ขายออนไลน์ได้อีก เตือนอย่าหลงเชื่อซื้อมากิน ผสมไซบูทรามินที่เป็นสารอันตรายประกาศห้ามใช้ด้วยมีผลข้างเคียงถึงชีวิต พร้อมเตรียมเรียกประชุมร้านค้าออนไลน์ หากยังทำผิดซ้ำซากเจอจัดการขั้นเด็ดขาด นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการติดตาม  เฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในท้องตลาด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ถูกยกเลิกทะเบียนไปแล้ว ชื่อผลิตภัณฑ์ Boxy Indelar และผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า ชื่อผลิตภัณฑ์ Mang Luk Power Slim ขายผ่านร้านค้าตลาดออนไลน์ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน โดยก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนพ.ย.59 อย. ได้ประชาสัมพันธ์เตือนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim เนื่องจากตรวจพบสารไซบูทรามีน และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า และเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งยกเลิกสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Boxy Indelar ผลิตโดย บริษัท เอสซีจี แกรนด์ จำกัด เนื่องจากตรวจพบสารไซบูทรามีนเช่นกัน ทั้งนี้ อย. มีการประชุมกับกลุ่มร้านค้าตลาดออนไลน์เพื่อร่วมกันหารือและให้คำแนะนำการดำเนินกิจการการค้าออนไลน์เกี่ยวกับข้อกฎหมายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจและแนวทางเผยแพร่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางเว็บไซต์ให้ถูกต้อง ป้องกันการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางมาร์เก็ตเพลส ซึ่งตลาดออนไลน์มีระบบมาตรการสุ่มตรวจและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เพื่อควบคุมร้านค้าไม่ให้ทำผิดกฎหมาย กรณีผู้จำหน่าย หรือร้านค้า ยังมีการกระทำความผิดซ้ำซาก ตลาดออนไลน์จะส่งข้อมูลหลักฐานให้ อย. เพื่อส่งเรื่องต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เพื่อสืบสวนทางลึกหาตัวผู้กระทำผิด จัดการขั้นเด็ดขาด และขยายผลไปยังแหล่งผลิตต่อไป อย่างกรณียุทธการสยบไพรีที่ทาง อย.   ได้ร่วมกับตำรวจ เข้าตรวจค้นและจับกุมอดีตนางแบบ พร้อมของกลางจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังขยายผลจับกุมถึงขบวนการลักลอบขายยาลดความอ้วน ประกอบไปด้วยนายทุน นายหน้า และแพทย์ประจำคลินิกราว 70 คน           สำหรับ ไซบูทรามีน เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น ผลข้างเคียงจากการใช้ไซบูทรามีน เช่น ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องผูก ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว และหากได้รับในปริมาณมากอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศฯ กำหนดให้ไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.61 ผู้ใดขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่  4 แสนบาท - 2 ล้านบาท