สัปดาห์พระเครื่อง/อ.ราม วัชรประดิษฐ์ หากจะกล่าวถึงยุคสมัยของสยามที่มีความเจริญและสร้างสรรค์ปฏิมากรรมได้งดงามอย่างถึงที่สุดต้องยกให้ “สมัยสุโขทัย” โดยเฉพาะ ยุค Classic โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘พระปางลีลา’ ที่จำลองจากพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระนางสิริมหามายา ซึ่งเป็นพระมารดาที่สิ้นพระชนม์เมื่อท่านประสูติได้ไม่นาน เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ในวันออกพรรษา โดยมีเทวดาทุกชั้นและพระพรหมลงมาส่ง ครั้งนั้นพระสารีบุตรได้กล่าวชื่นชมในพระอิริยาบถที่กำลังเสด็จพระราชดำเนินว่าช่างงดงามจับใจ ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น จึงเป็นที่มาของ ‘พระพุทธรูปปางลีลา’ ในจินตนาการของช่าง และเป็นแรงบันดาลใจของทวยราษฎร์ ซึ่งทำให้เกิด ‘พิธีตักบาตรเทโว’ ซึ่งสมมุติจากการเสด็จลงมาให้ประชาชนในโลกมนุษย์ ได้ตักบาตรทำบุญกับท่านนั่นเอง ‘พระปางลีลา’ ถือเป็นศิลปกรรมยุคทองของสุโขทัย ซึ่งหากจะเปรียบเทียบกับกลุ่มเมืองที่เผยแผ่อิทธิพลถึงกันแล้ว นับได้ว่ามีความงามยิ่งไปกว่าพระแถบกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก หรือ สุพรรณบุรี เสียอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พระลีลากำแพงศอกสุโขทัย ที่ไปฝากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ กรุเดียวกับ ผงสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น สำหรับที่จังหวัดสุโขทัยเองก็มีพระลีลาน่าสนใจอยู่มากมาย และหนึ่งในนั้นที่จะกล่าวถึงก็คือ 'พระลีลาถ้ำหีบ' พระลีลาถ้ำหีบ นับเป็นพระกรุเก่าแก่ของจังหวัดสุโขทัยที่ได้รับการยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามมาก ลายเส้นมีความอ่อนไหว ชัดเจน กลมกลืน และรับกันอย่างหาที่ติไม่ได้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งศิลปะสกุลช่างสุโขทัยบริสุทธิ์โดยแท้ และถึงแม้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่สุโขทัย แต่จะหาได้ยากยิ่งและไม่ค่อยแพร่หลายในสุโขทัยนัก สันนิษฐานว่า หลังจากที่มีการขุดพบแล้วน่าจะนำออกมากระจายนอกเขตจังหวัดและในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่ และด้วยผู้บูชาประจักษ์พุทธคุณเป็นเลิศจนเป็นที่กล่าวขาน ทั้งด้าน โภคทรัพย์และเมตตามหานิยม จึงทำให้ได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   พระลีลาถ้ำหีบ ค้นพบอยู่ในไหเคลือบภายในถ้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดร้างบนเขากิ่วอ้ายมา จ.สุโขทัย เดิมชื่อ ‘วัดถ้ำหีบ’ เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม จึงเหลือเพียงซากปรักหักพังกลายสภาพเป็นวัดร้าง ไม่หลงเหลือร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองเมื่ออดีตไว้เลย ชาวบ้านขึ้นเขาไปเพื่อหามูลค้างค้าว พอเข้าถ้ำพบไหเคลือบหลายใบ เมื่อเปิดออกดูจึงพบ ‘พระปางลีลา เนื้อดินเผา’ ขนาดเขื่องกว่าพระลีลาทั่วไป เนื้อพระแกร่ง โดยเฉพาะสีแดงจะแกร่งมากกว่าสีเหลือง เนื่องจากเป็นพระที่ผ่านการเผา เมื่อเคาะจะมีเสียงดังกังวานน่าฟัง และยิ่งสร้างความฮือฮาแก่นักเลงพระที่ไปดูการเปิดไหแล้วพบว่า เนื้อพระออกผิวเหลืองนวล ดูเหมือนพระใหม่หรือหม้อใหม่ นี่แหละเป็นการที่องค์พระไม่เคยสัมผัสอากาศภายนอกเลยเป็นเวลาหลายร้อยปี เนื้อดินของพระถ้ำหีบนั้น มีทั้งประเภทดินหยาบและดินละเอียด บางองค์พบมีการปิดทองล่องชาดมาแต่ในกรุ นอกจากนี้ยังพบ ‘พระเนื้อชินและเนื้อว่าน’ ลักษณะเหมือนพระเนื้อดินอีกด้วย แต่มีจำนวนน้อย พระลีลาถ้ำหีบ เป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก มีความสูงประมาณ 8.5 ซ.ม. ฐานกว้างประมาณ 2.5 ซ.ม. พิมพ์ทรงเป็นรูปยาวรี ยอดแหลม รูปกรอบดูมีสองชั้น องค์พระส่วนใหญ่จะตัดตามขอบ แต่ก็มีตัดเลยขอบเป็นปีกบ้างเหมือนกัน พุทธลักษณะ องค์พระประทับยืน แสดงปางลีลา อยู่บนฐานเขียงชั้นเดียว อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะสุโขทัย มีความอ่อนช้อยงดงาม คมลึก ในลักษณาการก้าวย่าง พระบาทข้างซ้ายทรงอยู่ ส่วนพระบาทข้างขวายกขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงพระอิริยาบถว่ากำลังเสด็จพระราชดำเนิน พระหัตถ์ข้างขวาทอดลงตามลำพระองค์ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเหนือพระอุระ และผายฝ่าพระหัตถ์ออก แสดงปางห้ามพระไม้แก่นจันทน์ เห็นรอยชายสบงและชายจีวรด้านล่าง โดยเฉพาะชายจีวรที่ซ้อนทบๆ กัน ดูมีมิติและมีชีวิตชีวา พระเกศเฉียงไปด้านซ้ายขององค์พระ หากใช้กล้องส่องดูจะเห็นฐานพระเมาลีเหนือพระนลาฏ (หน้าผาก) มีเส้นขีดเป็นไรพระศก พระพักตร์เป็นหน้านางศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ พระเนตรเป็นเนตรเนื้อลักษณะยาวรี พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์พริ้ม ลักษณะใกล้เคียงกับปากมนุษย์ พระกรรณยาวลงมาจรดพระอังสา ที่ลำพระศอจะมีรอยนูนคล้ายสร้อยพระศอค่อนข้างชัดเจน ด้านหลังจะเห็นลายผ้าดิบที่กดด้วยมือ จะมีรอยสูงต่ำไม่เรียบเสมอกัน คล้ายๆ ลายมือ จึงมักเรียกกันว่า ‘หลังลายมือ’ พระลีลาถ้ำหีบอาจแบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์ข้างเม็ด   ส่วนของทำเทียมเลียนแบบนั้น มีออกมาตั้งแต่ชาติที่แล้วแล้ว และยิ่งเป็นพระเนื้อแกร่งยิ่งทำได้ใกล้เคียงมาก แต่ถ้าเห็นพระสีเขียวอื๋อคลุมเมื่อไหร่ให้ระวังไว้ด้วย ส่วนใหญ่แล้วของปลอม เนื้อจะขรุขระไม่เรียบ มักมีเม็ดโปนขึ้นมาเหมือนตัวหมัด และของปลอมจะหดตัวทั้งเนื้อและเส้นสายจะเล็กกว่าของจริง ในบางครั้งอาจพบพระประเภทลีลาข้างเม็ดด้วยก็ได้ แต่มีน้อยเต็มทน อ้อ! เลยถือโอกาสบอกจุดสำคัญสักหน่อย คือ บนพื้นที่ช่องว่างของเรียวพระบาทหรือหว่างขาด้านล่างนั้น จะมี ‘เส้นตรง’ ปรากฏอยู่ชัดเจน เดิมทีคงเป็นเส้นชายจีวรแต่ติดเฉพาะเส้นเรียวบาง มักถอดพิมพ์ไม่ติด ‘พระลีลาถ้ำหีบ’ นี้ ยังมีพบที่ กรุวัดเจดีย์งามและวัดเขาพระบาทน้อย ด้วยครับผม