หมายเหตุ : หลังวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 สถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้เงียบสงบดังที่หลายคนคาดหวังไว้ แต่กลับเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบุคคลหลายกลุ่ม หลายฝ่าย และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ พล.อ. เอกชัย ศรีวิลาศ” ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุปัญหาความขัดแย้ง พร้อมเสนอแนะทางออกของปัญหา ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
-สถานการณ์หลังเลือกตั้งอาจจะไม่จบที่การจัดตั้งรัฐบาล แต่มีปัญหาความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นพรรคเล็กๆ ทั้งหมด ไม่ให้มีพรรคใหญ่ และคงคาดไม่ถึงว่า การเป็นพรรคเล็ก เวลาเป็นรัฐบาลส่วนผสม เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เกิดขึ้นได้ยาก จนเข้าสู่ Deadlock ทางการเมือง อีกทั้งก่อนการเลือกตั้ง เคยเตือนว่า ห้ามมีการหาเสียงแบบโจมตีข้ามฝ่าย อยากให้หาเสียงเพื่อเสนอนโยบายพรรคเท่านั้น แต่พบว่า มีการโจมตี แบ่งพรรคแบ่งพวก โดยบอกว่าฝ่ายตัวเองประชาธิปไตย เป็นคนดี และมีการโจมตีว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ประชาธิปไตย หรือเป็นคนดี รวมทั้งมีการโจมตีกันหนักขึ้น ซึ่งมี 2-3 พรรค มีการหาเสียงด้วยวิธีการโจมตีกองทัพ โดยระบุว่า กองทัพไม่ควรออกมายุ่ง กองทัพเป็นเผด็จการ จึงเกิดปมเงื่อนไขปัญหา และเกิดแผลต่างๆ
เมื่อการเลือกตั้งผ่านไป ก็มีการโจมตีหนักขึ้นโดยใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) มีการปลุกระดมทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ความขัดแย้งเริ่มถ่ายโอนเปลี่ยนแปลงไปสู่ความขัดแย้งระหว่างพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ กับฝ่ายของทหาร และพรรคพลังประชารัฐ เริ่มมีความขัดแย้งชัดเจน
ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เงียบไป อาจไปเลียแผล บ่มเพาะตัวเอง เพราะไม่คาดคิดว่า ผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นแบบนี้ ทั้งที่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวนมาก แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสักที่นั่งเดียว ทำให้บ้านเมืองเกิดแรงกระเพื่อม และมีการปลุกกระแสคนหนุ่ม คนสาว นิสิต นักศึกษา เริ่มกระจายไปทั่วประเทศ ออกมาต่อต้าน
โดยเฉพาะช่วงนี้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีโดย คสช. กับแกนนำของพรรคอนาคตใหม่ จึงทำให้คนเกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่โต บางคนมองย้อนกลัวจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 ทั้งที่นิสิต นักศึกษา เงียบหายไปนานนับ 10 กว่าปี เป็นการปลุกกระแสขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งได้ยินเสียงจากฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน กับกองทัพ ออกมาว่า จะเป็นการปลุกเอารูปแบบการปกครองของประเทศอื่นๆ ที่ไปร่ำเรียนมา เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จึงมองได้ว่าขณะนี้ประเทศอยู่ในสภาวะไม่สู้ดีเท่าไหร่
-กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้ง หรือดึงตัวเองลงสนามการเมือง มองผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบไหน
ทหาร กับการเมือง แทบจะแยกกันไม่ออก ตั้งแต่ปี 2475 มีพรรคการเมืองที่เป็นทหารมาโดยตลอด บางยุคสมัยทหารด้วยกันขัดแย้งกันเอง ทหารปฏิวัติกันเอง เพียงแต่ว่า พรรคการเมืองฝ่ายทหาร ไม่ค่อยอยู่ยาวนานจนกระทั่งเป็นสถาบันการเมือง เหมือนเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ เพื่อประวิงเวลาเข้ามาจัดการสถานการณ์ต่างๆ จนกระทั่งสุดท้ายพรรคมาตุภูมิ มาประเดี๋ยวเดียวก็ไป จึงคิดว่า พรรคทหารที่มาลงเล่นการเมืองมีมาตลอด เช่น มหาจำลอง, ป๋าเปรม ก็เป็นทหาร บางช่วงเวลาอาจมีรัฐบาลพลเรือนเข้ามา แต่อยู่ได้ไม่นาน กลับมีทหารมายุ่งเกี่ยว แม้แต่ทหารที่ปลดเกษียณแล้ว ก็ลงเล่นการเมืองก็มาก ไปตั้งพรรคการเมืองเองก็มี จึงไม่สามารถแยกกันออก
-วาทกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากเป็นการโจมตีกันไป-มา คิดว่าเป็นการสะท้อนอะไรหรือไม่
การจัดการความขัดแย้งอย่ามุ่งไปที่ตัวบุคคล ให้มองไปที่ตัวปัญหามากกว่า วันนี้ทราบหรือไม่เกิดปัญหาอะไรกับการเมืองไทย เช่น บางคนมองว่าเกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่มีการแก้ไขมากี่ครั้งแล้ว ล้มล้างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ กลับยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งวันนี้บอกได้ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ ยังมีปัญหา เพราะถูกการตีความ และถกเถียงกัน ฉะนั้นใครจะว่ารัฐธรรมนูญไม่มีปัญหาคงเป็นไปไม่ได้ และตัวคนที่เล่นการเมืองขัดแย้งกัน เริ่มถ่ายโอนเปลี่ยนแปลง ฝ่ายการเมืองเป็นอนาคตใหม่ ฝ่ายทหารเป็นพลังประชารัฐ จึงมองว่า อาจจะเป็นเพราะระบบ และโครงสร้างในระบบประชาธิปไตย ไม่เหมาะสมที่ต้องถูกเปลี่ยนแปลงปรับปรุง ให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากคนไทย ระบบอุปถัมภ์ เจ้านายลูกน้อง หรือเจ้าขุนมูลนาย เลิกไม่ได้
-คสช. จะสามารถรักษาความสงบจนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 9 พฤษภาคม หรือไม่
คิดว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เพราะกำลังอยู่ในช่วงการจัดกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คงไม่มีใครกล้าออกมากระทำอะไรที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ถ้าจำกันได้ เมื่อปี 2553-2554 มีการดึง สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นพวก และโจมตีอีกฝ่ายว่าไม่มีความจงรักภักดี ซึ่งไม่อยากให้ทำ เพราะเชื่อว่า ปวงชนชาวไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะมีบางที่โจมตีสถาบัน แต่ต้องหลบอยู่อย่างหลบซ่อน ไม่ได้แสดงตัวชัดเจน จึงอยากให้เลิกดึงสถาบันลงมาโจมตีว่ากล่าวกัน และดำเนินคดี จะไม่เกิดผลดีต่อสถาบัน
-ขณะนี้เกิดความเคลื่อนไหวโจมตี กกต. จนต้องมีการตอบโต้กลับ
ไม่รู้ว่าใครให้ข้อเสนอแนะกับ กกต. ปกติต้องอยู่แบบเงียบที่สุด จะออกมาเฉพาะเวลาแถลงข่าว หรือชี้แจงเท่านั้น แต่เพราะเหตุใด กกต. ถึงออกมาตอบโต้ และจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้โจมตี ซึ่งดูแล้วไม่สู้ดี เนื่องจากทุกคนจะมอง กกต. เป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้จะมีการเลือกตั้ง หรือการโจมตี จะโจมตีเรื่องการทำงานของ กกต. แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะรัฐธรรมนูญก็ใหม่ กกต. เข้ามาใหม่ ระบบดูแลพื้นที่การเลือกตั้งก็เป็นคนใหม่ และไม่มีสูตรสำเร็จคิดการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. ไม่ควรให้ข่าวเล็ดลอดออกมา
เพราะขณะนี้ผลการเลือกตั้งยังไม่ 100% เนื่องจากบางเขตต้องมีการเลือกตั้งใหม่ หรือบางเขตถูกใบเหลือง ใบส้ม และจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตยังไม่คงที่ แล้วส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะคงที่ได้อย่างไร ฉะนั้น ต้องไปรอดูผลวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ที่ กกต. จะประกาศได้เกิน 95% ตามที่บอก คาดว่าจะช่วยลดข้อโต้แย้งได้ส่วนหนึ่ง และเห็นจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคชัดเจน
วันนี้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย มั่นใจว่าตัวเองจะมีเสียงเกิน 250 เสียง ซึ่งหลังจากวันที่ 9 พฤษภาคม และภายใน 15 วัน มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าฝ่ายที่ได้เกิน 250 เสียง จะได้เป็นประธานรัฐสภา แต่จะเป็นฝ่ายไหนยังไม่รู้ เพราะยังมีพรรคเล็ก ที่เป็นตัวแปร ซึ่งพรรคเพื่อไทย อาจจะได้เป็นประธานสภาฯ แต่ถ้าโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา จะได้แน่นอน เพราะฝ่ายเพื่อไทยไม่มีทางจะรวมได้ 376 เสียง เนื่องจากต้องรวมกับเสียง สว. เมื่อได้เป็นนายกฯ ก็จัดตั้งรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลเสียงส่วนน้อย แต่พล.อ.ประยุทธ์ สามารถบริหารจัดการได้ และบางพรรคประกาศว่า ให้โหวตได้อย่างอิสระ จึงมีโอกาสเสียงก้ำกึ่งกัน ประมาณ 10-20 เสียง สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
-หากพล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง ถือเป็นความชอบธรรมหรือไม่
ถือเป็นนายกฯ ที่มาตามระบบประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญ ได้ทำประชามติ และผ่านการยอมรับ จะบอกว่าไม่เป็นประชาธปไตยไม่ได้ ถ้าใยอมรับ ต้องไม่ยอมรับตั้งแต่แรก
-เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มการเมืองภาคประชาชน กับกองทัพ จนเกิดวลี “ซ้ายดัดจริต” จากผบ.ทบ.
ท่านผบ.ทบ. ถูกกล่าวโจมตีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง และอยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชากำลังพล 2 แสนกว่าคนในกองทัพบก ถ้าไม่แสดงออกอะไรเลยกจะดูหน่อมแน้ม และยังเป็นเลขาธิการ คสช. ซึ่งต้องดูแลกองทัพ กระทรวง และองคาพยพมากมาย รวมทั้งช่วงเวลา 5 ปี คนที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. สามารถทำให้บ้านเมืองสงบได้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่มาเกิดเหตุการณ์ขึ้นตอนนี้ ผบ.ทบ. จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน จึงต้องออกมาแสดง เพื่อปรามให้หยุด และเลิกโจมตี แต่อาจจะปรามแรงไปนิด จนเกิดวลีต่างๆ ขึ้นมา
-ทางออกที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้ง คืออะไร
ต้องเลิกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และต้องเลิกคิดว่าแต่ละฝ่ายไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะได้เคยทดสอบมาแล้ว โดยเอาทุกฝ่ายมาอยู่ในห้องเรียน ซึ่งก็อยู่กันได้ รักกัน เป็นพวกเดียวกัน และหลักคิดส่วนตัว ใครเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือเป็นศัตรูต้องเอามาอยู่ใกล้ๆ แล้วจะเข้าใจศัตรู และศัตรูจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา
ให้ลองคิดว่า จะอยู่ด้วยกันได้ไหม เช่น เพื่อไทย เป็นประธานสภาฯ พลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล และให้เพื่อไทยมาร่วมด้วย แต่ตอนนี้เกิดการโจมตีกัน กลายเป็นกีดกันโอกาสของตัวเอง ซึ่งนักการเมืองรู้จักกันหมด หลายคนเคยอยู่พรรคเดียวกัน และย้ายไปอยู่อีกพรรค เชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้
-คนนอกประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญของความขัดแย้งหรือไม่
ถ้าเราไม่ให้สำคัญ ก็จะไม่มีผล อย่าไปตอบโต้ เพราะการตอบโต้ เท่ากับเป็นการให้ความสำคัญ อยากให้ยึดคำสอนหลวงปู่ชา “ใครว่า หรือโจมตีให้เราเสียหาย ไม่จริงอย่างที่ว่า ให้นิ่งเสีย ถ้าจริงอย่างที่ว่า ให้พัฒนา ปรับปรุงตัวเอง” เพราะถ้ายิ่งตอบโต้ เหมือนการปาลูกบอลเข้าข้างฝา ยิ่งขว้างแรง ก็กลับมาแรง ต้องหยุด แล้วจะเงียบสงบหายไปเอง
-อยากฝากอะไรถึงนัการเมือง และพรรคการมือง
เป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่เริ่มฟื้นกลับคืนเป็นประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้ง แต่อย่าไปทำลายโอกาสของตัวเอง คิดว่า วันนี้นักการเมืองเริ่มทำลายโอกาสของตัวเอง ต้องอดทน แม้ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นรัฐบาล ทนไปอีกสักครั้ง จะเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง วันนี้เห็นชัดเจน แต่ก่อนเคยบอกว่า พรรคเก่าไม่ต้องส่งคนลง แค่เห็นชื่อพรรคก็ได้แล้ว มันไม่ใช่อีกต่อไป
หรือพรรคพลังประชารัฐ ดึงนักการเมืองเก่าๆ มาร่วมเพื่อให้ได้คะแนนเสียง คิดแบบนั้นไม่ได้แล้ว ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เป็นพรรคเก่า ไม่มีนักการเมืองรุ่นเก่า แต่ชนะถล่มทลาย เป็นโอกาสของนักการเมืองรุ่นต่อไปในอนาคตว่า ใครก็ได้ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น สามารถเป็นนักการเมืองประเทศไทยได้ ไม่ใช่การเมืองยุคไดโนเสาร์ น้ำเน่าแบบเก่าๆ อีกต่อไป ต้องใช้โอกาสนี้ให้เกิดกับประเทศไทย อย่าใช้โอกาสนี้เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานทางการเมือง