สหกรณ์ คือ องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ โดยประเทศไทย มีสหกรณ์จัดตั้งขึ้น จำนวน 8,129 แห่ง สมาชิกสหกรณ์รวม 11.64 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจรวม 2,187,606.37 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ16.62 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าขบวนการสหกรณ์เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจและสังคมขนาดใหญ่ และสหกรณ์ยังมีบทบาทที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การเป็นสถาบันทางการเงินที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินออมให้กับสมาชิกสหกรณ์ โดยเมื่อปี 2561 สหกรณ์มีธุรกิจรับฝากเงินจำนวน 793,658.99 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36.28 ของปริมาณธุรกิจรวมทุกธุรกิจของสหกรณ์ (ข้อมูล : กรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ 31 ธ.ค. 61) การที่ขบวนการสหกรณ์มีธุรกิจรับฝากเงินจากสมาชิกจำนวนมาก ย่อมมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเกิดขึ้น เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สหกรณ์มีข่าวด้านลบ หรือช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ สมาชิกมีความต้องการเบิกถอนเงินฝากกับสหกรณ์จำนวนมาก หากสหกรณ์มีการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (สินทรัพย์ ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดในระยะเวลาอันสั้น) น้อยเกินไป และไม่สามารถให้สมาชิกถอนเงินฝากได้ทันตามความต้องการเมื่อทวงถาม จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของสหกรณ์ทันที ภาครัฐจึงดูแลให้สหกรณ์/ชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทที่มีการรับฝากเงินจากสมาชิกต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ พ.ศ. 2550 และประกาศเรื่อง การกำหนดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ ซึ่งกำหนดให้สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายเดือน ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งของยอดเงินฝากทั้งหมด (สหกรณ์รับเงินฝาก 100 บาท ต้องดำรงสภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 1 บาท) ซึ่งสินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ เงินสด เงินฝากที่ชุมนุมสหกรณ์หรือธนาคาร หลักทรัพย์ของรัฐบาล หรือของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ เห็นได้ว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์ อย่างไรก็ตาม การบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์จึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากหากดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไว้มากเกินไปสหกรณ์อาจมีปัญหาการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน หรือหากดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยเกินไปอาจเกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องแก่สหกรณ์ตามที่กล่าวมา ดังนั้น ผู้บริหารหรือผู้จัดการสหกรณ์จึงต้องมีการวางแผนทางการเงินที่ดีสำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ รวมถึงต้องมีข้อมูลกระแสเงินสดไหลเข้าและออกในแต่ละช่วงเวลาของสหกรณ์ โดยทำการประมาณความต้องการใช้เงินและบริหารเงินของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อไป