เมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 ที่ผ่านมา นางแสงดาว วนาสวรรค์ หัวหน้าสำนักปลัด เทศบาลตำบลขุนยวม เชิญชวนนักท่องเที่ยวเที่ยวชมอนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น สัมผัสตำนานรัก “โกโบริ-อังศุมาลิน” แห่งขุนยวม สายใยมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น “อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น” ในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นสถานที่ที่บอกเล่าเรื่องราวดังกล่าวได้ดีที่สุด เพราะเป็นที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบูรพาที่เกิดขึ้นในแถบอำเภอขุนยวม อนุสรณ์สถานฯ แห่งนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2539 ภายในอนุสรณ์สถานฯ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกจัดแสดงข้อมูลพื้นฐานของ อ.ขุนยวม ที่สำเนียงท้องถิ่นออกเสียงเป็น “กุ๋นยม” กุ๋น หมายถึงภูเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ ส่วน ยม หมายถึงไม้ยมซึ่งขึ้นอยู่ตามภูเขาแถบนี้มาก และขุนยวมยังเป็นอำเภอที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์ โดยมีชาวไทใหญ่เป็นประชากรจำนวนมากที่สุด นอกนั้นก็ยังมีชาวปกาเกอะญอ ไทยวน ม้ง และ ลัวะ เมื่อเดินขึ้นมายังชั้น 2 ส่วนนี้จัดแสดงเรื่องราวของขุนยวมในสมัยสงคราม ที่ชาวขุนยวมมีโอกาสต้อนรับกองทัพทหารญี่ปุ่นจำนวนนับหมื่นอย่างไม่คาดคิด จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งบรรยากาศและสภาพสังคมอย่างฉับพลัน ทหารเหล่านั้นต้องพึ่งพาชาวขุนยวมในเรื่องเสบียงอาหารและสินค้าต่างๆ คนขุนยวม ทุกเพศทุกวัยจึงค้าขายกับทหารญี่ปุ่นและรับจ้างทำงานต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งมิตรภาพและน้ำใจระหว่างกัน ข้อมูลจัดแสดงยังบอกถึงจำนวนทหารญี่ปุ่นที่เข้ามารบในพม่า และถอนทัพจากพม่าเข้ามาไทย อนุมานว่ามีประมาณ 270,000 นาย และกองทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งทัพในขุนยวมนั้น ได้กระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ โดยมีวัดม่วยต่อและวัดหัวเวียง (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกัน) เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลที่ 56 และโรงพยาบาลใหญ่ของค่าย ส่วนวัดขุ่ม เป็นกองบัญชาการอีกแห่งหนึ่งและเป็นที่ตั้งกองทหารสื่อสาร และวัดต่อแพ เป็นที่ตั้งของกองกำลังทหารญี่ปุ่นที่เคลื่อนพลมาจากพม่า วิหารเล็กหน้าเจดีย์ของวัดต่อแพเป็นสถานที่พิมพ์ธนบัตร ตรงส่วนนี้มีของชิ้นสำคัญที่ไม่ควรพลาดชมคือ ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ขนาดกว้าง 50 ซ.ม. ยาว 2 ม. บนผืนผ้าเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ กล่าวถึงเหตุผลที่ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงคราม และทรงพระราชทานให้แก่กองทัพญี่ปุ่น กล่าวกันว่ามีเพียง 5 ผืนเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีแท่นบูชา และดาบซามูไรจัดแสดงไว้ด้วยกัน ถัดมาเป็นส่วนจัดแสดงเครื่องแต่งกาย ทั้งเสื้อผ้าและหมวกเหล็ก และเครื่องใช้ส่วนตัวของทหารญี่ปุ่นที่เก็บรวบรวมไว้ได้ มีทั้งเครื่องรางแบบญี่ปุ่นที่ใช้ห้อยติดตัว กล้องถ่ายภาพ อุปกรณ์เครื่องเขียน แปรงสีฟันยี่ห้อชิเซโด้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีอาวุธ ทั้งปืนสั้น ปืนยาว และหีบบรรจุยุทธภัณฑ์และลังกระสุนจำนวนมาก เรื่องราวประเพณี วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชาวไทใหญ่ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในอำเภอขุนยวมที่จัดแสดงอยู่ในส่วนที่ 3 ของอนุสรณ์สถานฯ ชาวไทใหญ่ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนา และยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากงานประเพณี หรือ “ปอย” ที่ยังจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนต่างๆ นอกจากนั้นก็ยังมีความรู้เรื่องอาหารและที่อยู่อาศัยของชาวไทใหญ่จัดแสดงไว้ให้ชมกันอีกด้วย หากใครมีโอกาสผ่านมาที่อำเภอขุนยวมก็ไม่อยากให้พลาดชม “อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น” ที่อาจทำให้เห็นแง่มุมดีๆ ในสงครามอันโหดร้าย มิตรภาพนั้นงอกงามได้ทุกแห่งไม่เว้นแม้แต่ในสมรภูมิรบ ดังเช่นในบทกลอนที่แต่งโดยโทโมโยชิ อิโนอุเอะ อดีตทหารผ่านศึกชาวญี่ปุ่นอายุกว่า 90 ปี ที่เคยมารบในพื้นที่ขุนยวม กลอนบทหนึ่งแปลออกมาได้อย่างจับใจว่า “...40 ปีก่อน เสี้ยวหนึ่งของชีวิต หากแจ่มกระจ่างในความทรงจำ ความกรุณาที่มีให้นั้น เกินขอบเขตกั้นของภาษา ใครเล่าจะลืมความเมตตา จวบจนสิ้นชีวาวาย...” “อนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น” ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ปิดพักเที่ยง 12.00-13.00 น. สอบถามโทร. 0 5369 1466