นักวิชาการอิสระ ชี้อากาศร้อนรุนแรง กระทบผลผลิตหมูเข้าสู่ตลาดน้อยลง ระบุราคามีขึ้น-ลงตามกลไกตลาด ท่ามกลางอากาศร้อนปรอทแทบแตก คนเรายังพอหลบเลี่ยงหามุมสบายคลายร้อนได้ แต่สัตว์เลี้ยงดูเหมือนจะอยู่ยาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เวลาเข้าหน้าร้อนทีไร ผลผลิตสัตว์มักจะลดลงเสมอ เพราะได้รับผลกระทบจากความร้อน จนพาลกินอาหารน้อย การเจริญเติบโตจึงช้าลงกว่าปกติ แม้เกษตรกรในปัจจุบันจะนำเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์อย่างโรงเรือนปิดปรับอากาศ EVAP มาใช้อย่างแพร่หลายแล้วก็ตาม แต่อากาศร้อนที่โหดร้ายขนาดนี้ ย่อมกระทบต่อการปรับสภาพอากาศภายในโรงเรือนอย่างแน่นอน เรื่องอากาศร้อนกับการเลี้ยงหมูเรียกว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากันเลยก็ว่าได้ เนื่องจากหมูมีลักษณะทางชีวภาพสอดคล้องกับฤดูกาล เพราะการเจริญเติบโตจะสูงหรือต่ำนั้นเชื่อมโยงกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยหมูจะโตช้าในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากหมูเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อเพื่อระบายความร้อน ทางเดียวที่จะช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้คือ การหอบหายใจ เมื่อหมูอยู่ไม่สบาย ทำให้กินอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้อัตราแลกเนื้อ (FCR) แย่ลง และอัตราความเสียหายมักสูงขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันหมูจะเจริญเติบโตดีในช่วงฤดูหนาว ที่มีอากาศเหมาะสมกับตัวหมู และช่วงอากาศเย็นหมูจะกินอาหารมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้หมูโตเร็วนั่นเอง และอากาศร้อนรุนแรง จะส่งผลให้หมูเนื้อที่เข้าสู่ตลาดมีน้ำหนักลดลงตัวละประมาณ 3-5 กิโลกรัม น้ำหนักที่หายไปนี้กระทบโดยตรงกับปริมาณเนื้อหมูที่ขายในท้องตลาด ซึ่งเป็นเหตุผลให้ราคาหมูค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ ตามปริมาณของผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดน้อยลง ยิ่งเมื่อผนวกกับความต้องการบริโภคที่จะสูงขึ้นในช่วงนี้ที่มีเทศกาลเชงเม้งและเทศกาลสงกรานต์ด้วยแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาหมูมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติตามกลไกตลาด และราคาก็จะปรับลงอีกครั้งในช่วงหน้าฝน ทั้งนี้ นายรัฐพล ศรีเจริญ นักวิชาการอิสระ มองว่า ราคาหมูจะตกต่ำหรือแพงนั้น ถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่ไทยมาช้านาน เพราะหากมองย้อนกลับไปในอดีตหลายสิบปีก็จะพบว่า การขึ้นลงของราคาหมูนั้นเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเรื่องปกติ อย่างที่คนในวงการเรียกกันว่า “วัฏจักรหมู” (Hog Cycle) หรือ “วงจรราคาหมู” เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีอิสระเสรีในการเลือกเลี้ยงหมู และมีการขยายการเลี้ยงมากขึ้นในช่วงที่หมูราคาดี เมื่อปริมาณหมูมีมากเกินความต้องการบริโภค ราคาก็จะตกต่ำ จนถึงระดับที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูแบกรับภาระการขาดทุนไม่ไหว ก็จะหยุดเลี้ยงหมูไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อปริมาณหมูลดลงจนไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ราคาก็จะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง...เป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป ในรอบปีราคาหมูจะขึ้น-ลงอยู่ตลอด เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปริมาณการเลี้ยงหมู การบริโภค ต้นทุนการผลิตที่ผันผวน ภาวะโรค รวมทั้งเทศกาลสำคัญต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดราคาในแต่ละช่วง โดยแต่ละปีมีช่วงที่หมูราคาสูงอยู่ 6 เดือน และช่วงราคาตกต่ำอีก 6 เดือน ที่สำคัญในช่วง 3 ปีมานี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องพบกับภาวะขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ปลายปี 2560 ลากยาวมาจนตลอดปี 2561 จนถึงปัจจุบันนี้ ยังต้องร้อนๆหนาวๆกับความเสี่ยงของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่เกิดในหลายประเทศใกล้เคียงกับไทย ทั้งจีน เวียดนาม และกัมพูชา ถึงแม้โรคนี้จะเกิดเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อถึงคนและสัตว์อื่นก็ตาม แต่ด้วยเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาที่เฉพาะเจาะจง หากเกิดในฟาร์มไหนก็ต้องทำลายหมูแบบ 100% ภาวะราคาหมูขึ้นลงไม่ได้เกิดเฉพาะในไทย แต่เกิดในทุกประเทศ จากปัจจัยเดียวกัน อย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทย ตั้งแต่จีนที่ราคาหมูเฉลี่ยทั้งประเทศเริ่มทรงตัว หลังจากประสบปัญหาโรค ASF ปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ประมาณ 69.70 บาท โดยราคาแต่ละมณฑลแตกต่างกันตามปริมาณผลผลิต ขณะที่เวียดนามเหนือที่พบปัญหา ASF เช่นกัน ปัจจุบันเฉลี่ยทั้งประเทศราคาอยู่ที่ 53.62 บาทต่อกิโลกรัม โดยเวียดนามเหนือ ราคาปรับขึ้นจาก 45 บาทต่อกิโลกรัม มาอยู่ที่กิโลกรัมละ 49 บาท เวียดนามใต้ จากราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นกิโลกรัมละ 54 บาท ส่วนกัมพูชายืนราคาที่ 81 บาทต่อกิโลกรัม ลาวราคาทรงตัวที่ 69.42 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคาอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยแนวโน้มราคาอาจจะปรับขึ้นในช่วงฤดูร้อนร้อน ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการขึ้นลงของราคาหมูนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นวาระและวงรอบของอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น วันนี้จึงอยากทำความเข้าใจเรื่องราคาหมูว่า มีขึ้น-มีลง “ตามกลไกตลาด” โดยมีความต้องการบริโภคและปริมาณผลผลิตเป็นตัวกำหนด ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราต้องรู้และทำความเข้าใจ และต้องไม่ลืมว่ากว่าจะเป็นเนื้อหมูแสนอร่อยที่ทานกันอยู่นั้น ยอมมีต้นทุน ต้องใช้เวลา และเกษตรกรต้องทุ่มเทในการทำอาชีพ เพื่อสร้างอาหารที่เพียงพอสำหรับผู้บริโภค