ศธ.ยึดแนวทางพระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ยกระดับการศึกษา เน้นเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ สอดคล้องวัฒนธรรมพื้นที่ ตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาชายแดนใต้ระยะ 20 ปี กระทรวงศึกษาธิการย้ำความสำคัญของ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ที่ยึดตามยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ขณะเดียวกัน สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 เน้นการปฏิบัติภารกิจในระดับพื้นที่แบบบูรณาการให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี ควบคู่กับแผนพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ผ่านการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษา และหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวถึง (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ร่างแผนฯ ดังกล่าว ได้จัดทำขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยยึดตามยุทธศาสตร์พระราชทานคือ "การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" ให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2560-2562 “วิสัยทัศน์ของร่างแผนยุทธศาสตร์การศึกษาเขตพัฒนาเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 ปี คือ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21” ทั้งนี้ แผนดังกล่าวมี 6 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา นายสันติ แสงระวี รองศึกษาธิการภาค รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 7 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานศึกษาธิการ ภาค 7 ยะลา เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการศึกษาชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจที่สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และระดับจังหวัด โดยการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งยังประสานการดำเนินงานร่วมกับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) อย่างเข้มแข็งด้วย “การดำเนินงานโครงการต่างๆ ของสำนักงานศึกษาธิการภาค 7 จะสอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นการบูรณาการเพื่อผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพิธีมอบใบรับรองและระเบียนแสดงผลสอบเทียบความรู้อิสลามศึกษา พุทธศักราช 2546 ของผู้สอบเทียบประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โครงการเงินอุดหนุนการศึกษานักเรียนมุสลิมและอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยระดับมัธยมศึกษา และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โครงการ Coaching Teams เพื่อยกระดับคุณภาพ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยในระดับพื้นที่ และโครงการ TFE (Teams For Education)”