เมื่อเวลา 18.00 น . วันที่ 7 เมษายน 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก บ้านห้วยคา หมู่ที่ 9 ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัด นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานเปิดงาน”เทิดเกียรติวีรชนคนกล้าพระยาพิชัยดาบหัก” ของอำเภอพิชัย ประจำปี 2562 พร้อมชมขบวนแห่อันยิ่งใหญ่อลังการ การแสดงแสง สี เสียง ประวัติเทิดพระเกียรติวีรชนคนกล้าพระยาพิชัยดาบหัก, การแสดงโขน ของนักเรียนโรงเรียนพิชัย และ การแสดงประกวดแข่งข้นหนูน้อยรักษ์บ้านเกิด โดยมีนายมานิต อนรรฆมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์นายพิภัช ประจันเขตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุลปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอพิชัย กล่าวรายงาน ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และ ประชาชนชาวเมืองพิชัย ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพื่อเชิดชูวีรกรรมของพระยาพิชัยดาบหัก วีรบุรุษของชาติไทยและเป็นทหารเอกคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ได้สร้างวีรกรรมต่อสู้กับกับข้าศึกผู้รุกรานแผ่นดินไทยอย่างองอาจกล้าหาญ จนได้รับการยกย่องเชิดชูสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นที่ภาคภูมิใจของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีและเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
“ พระยาพิชัยดาบหัก “ เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟันขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ เข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสิน ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตาก ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รักษ์มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” เมื่อรับราชการมีความดีความชอบจึงได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ พระยาสีหราชเดโช และพระยาพิชัย ผู้สำเร็จราชการครองเมืองพิชัย ซึ่งรับพระราชทานเครื่องยศเสมอเจ้าพระยาสุรสีห์ตามลำดับ ภายหลังพม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า ” พระยาพิชัยดาบหัก “
ในปี พ.ศ. 2311 พม่าได้ยกทัพมาอีก 1 หมื่นคน พระเจ้าตากพร้อมด้วยหมื่นไวยวรนาถได้เข้าโจมตีจนแตกพ่าย และได้มีการสู้รบปราบก๊กต่าง ๆ อีกหลายคราว เมื่อพระเจ้าตากสินเสด็จกลับกรุงธนบุรี โปรดตั้งเจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็น “พระยาสีหราชเดโช” มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกราชองครักษ์ตามเดิม สุดท้ายเมื่อปราบก๊กพระเจ้าฝางได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบให้ทหารของพระองค์โดยทั่วหน้า ส่วนพระยาสีหราชเดโช (จ้อย หรือ ทองดี ฟันขาว) นั้น ได้โปรดเกล้าฯ บำเหน็จความชอบให้เป็นพระยาพิชัยปกครองเมืองพิชัย อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เยาว์วัย
ในปี พ.ศ. 2313 – 2316 ได้เกิดการสู้รบกับกองทัพพม่าอีกหลายคราว และทุกคราวที่กองทัพพม่าแตกพ่ายไป ก็สร้างความอัปยศอดสูแก่แม่ทัพนายกองเป็นทวีคุณ พอสิ้นฤดูฝนปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โปสุพลายกกองทัพมาหมายตีเมืองพิชัยอีก “การศึกครั้งนี้พระยาพิชัยจับดาบสองมือคาดด้าย ออกไล่ฟันแทงพม่าอย่างชุลมุน จนเมื่อพระยาพิชัยเสียการทรงตัว ก็ได้ใช้ดาบข้างขวาพยุงตัวไว้ จนดาบข้างขวาหักเป็นสองท่อน” กองทัพโปสุพลาก็แตกพ่ายกลับไป เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 (ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2316)
พระยาพิชัยดาบหัก ได้สร้างมรดกอันควรแก่การยกย่องสรรเสริญให้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวที ความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาดกล้าหาญรวมถึงความรักชาติ ต้องการให้ชาติเจริญรุ่งเรืองมั่นคงตลอดมาตราบจนทุกวันนี้.





