ในระยะหลังๆมานี้คำว่า “ติดเชื้อในกระแสเลือด” ดูจะเป็นคำที่น่าสะพรึงกลัว และสยองขวัญสั่นประสาทพอสมควร เพราะคำนี้ได้กลายเป็นคำศัพท์สะแลงในสังคมไปเสียแล้ว ซึ่งมีความหมายว่า “ถูกทำให้ตาย” จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ที่แน่ๆคือคุณจะมีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว การถูกวินิจฉัยว่า “ติดเชื้อในกระแสเลือด” จึงเป็นการตัดปัญหาได้ดีที่สุด แต่ที่เราจะพูดถึงกันวันนี้เป็นเรื่องของสุขภาพจริงๆ เป็นอาการที่สภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย จนทำให้อวัยวะต่างๆเสียหาย เพราะถูกเชื้อโรคทำลาย เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย เนื่องจากระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้น้อยลง ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อต่างๆได้รับอาการและออกซิเจนน้อยลง เป็นผลให้อวัยวะต่างเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว หากมีอาการรุนแรงมากก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที แล้วจะไม่ทำรู้สึกสยองได้ยังไงเมื่อได้ยินคำว่าติดเชื้อในกระแสเลือด ใช่ไหมคะ? ก็มันน่ากลัวจริงๆนั่นแหละ ยิ่งในยุคปัจจุบันมีเชื้อโรคร้ายแรงเกิดขึ้นมากมายที่ล้วนเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตหากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาทันเวลา แม้แต่เป็นหวัดธรรมดาๆอยู่ดีๆก็อาจมีอาการแทรกซ้อนให้เกิดการติดเชื้อในปอด ทำให้ปอดบวม หากผู้ป่วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปพบแพทย์ไม่ทันหรือแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาก็มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับพี่ชายผู้เขียนเองเมื่อเร็วๆนี้ ที่ไปโรงพยาบาลด้วยอาการไข้หวัดธรรมดา แต่อยู่ไปอยู่มา(ก็อยู่ในโรงพยาบาลนั่นแหละ เป็นเดือน)หมอบอกว่าติดเชื้อในปอดและมีอาการแทรกซ้อน ก็เสียชีวิตในห้องไอซียู.นั่นเอง ภาพแบคทีเรียชนิดแกรมลบ เมื่อย้อมสีจะติดสีแดง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อระบุว่า การติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็วนั้นส่วนใหญ่จะติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ที่มีลักษณะรูปทรงแท่ง หรือเชื้อแบคทีเรียที่ย้อมสีแล้วติดสีแดง ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะพบได้ในระบบทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินหายใจ รองลงมาก็เป็นเชื้อแบคทีเรียรูปร่างทรงกลมชนิดแกรมบวก หรือแบคทีเรียที่เมื่อย้อมสีแบบแกรมแล้วจะติดสีน้ำเงิน ซึ่งพบได้ตามผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดบางส่วนก็เกิดจากการติดเชื้อรา และบางส่วนก็ติดเชื้อหลายชนิดรวมๆกัน อย่างไรก็ตามการที่เชื้อโรคเหล่านั้นจะเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดได้นั้นมันจะต้องมีอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเป็นแหล่งติดเชื้อเกิดขึ้นก่อน เช่นเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ ซึ่งถ้าดูตามตำแหน่งของอวัยวะในช่องท้องก็อาจจะเกิดจากการที่ไส้ติ่งอักเสบ หรือไส้ติ่งแตก ลำไส้อักเสบ หรือลำไส้ทะลุ ตลอดจนตับอักเสบ หรืออาการรวมๆก็คือเกิดการอักเสบขึ้นของอวัยวะภายในช่องท้องอาจจะตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่งพร้อมๆกัน ส่วนการติดเชื้อที่ผิวหนังก็อาจจะเกิดจากแผลติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นแผลทั่วไป แผลกดทับ หรือแผลเบาหวาน หรือฝีหนอง ตลอดจนผื่นแพ้ที่มีอาการคันและเกาจนเกิดแผลและเกิดการติดเชื้อตามมา นอกจากนี้ยังอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ระบบประสาท เช่นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือไขสันหลังอักเสบ และยังมีการติดเชื้อในระบบอวัยวะอื่นๆอีกมากมายที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ส่วนใหญ่การติดเชื้อในกระแสเลือดจะมีโอกาสเกิดขึ้นในเด็กทารก เด็กเล็ก และคนชรามากกว่าคนวัยอื่น เนื่องจากคนกลุ่มนั้นจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าเด็กโตและคนวัยทำงาน ภาพแบคทีเรียแกรมบวกเมื่อย้อมสีจะติดสีน้ำเงิน นอกจากเด็กและผู้สูงอายุแล้วยังมีกลุ่มคนที่มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเอดส์ เพราะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว โอกาสจะเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่างๆฉวยโอกาสนั้นง่ายมาก อีกกลุ่มหนึ่งก็คือผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใส่สายต่างๆเข้าไปในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสายป้อนอาหาร สายสวนปัสสาวะ หรือแม้กระทั่งท่อช่วยหายใจ ก็มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้สูง เพราะผู้ป่วยเหลานี้มีโอกาสที่จะขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายจึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพลงลดไปเรื่อยๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายคือกลุ่มผู้ป่วยที่ชอบซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เองโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และรับประทานยาไม่ครบตามกำหนด ทำให้เกิดการดื้อยาขึ้น และไม่สามารถใช้ยาตัวเดิมฆ่าเชื้อได้อีกต่อไป เมื่อติดเชื้อซ้ำโอกาสที่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดนั้นง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป ทีนี้เรามาดูอาการกันนะคะ ว่า คนที่ติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมีอาการอย่างไรบ้างจะได้สังเกตตัวเองได้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรสงสัยว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อในลักษณะดังกล่าวจะได้ไปพบแพทย์ได้ทัน (แต่ส่วนใหญ่หมอบอกว่าหากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วหมอหนักใจมาก เพราะมีโอกาสเสียชีวิตสูง ยกเว้นรักษาได้ทันเวลา) ซึ่งอาการที่บ่งชี้ว่าคุณอาจติดเชื้อในกระแสเลือดก็คือ จะมีอาการหนาวสั่นแต่มีไข้สูง แต่ในบางรายจะตัวเย็นเยียบเพราะอุณหภูมิในร่างกายต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีอาการหายใจหอบ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว สับสน กระวนกระวาย หรือบางรายอาจซึม และคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปัสสาวะออกน้อย ผิวอาจจะอุ่น แดง หรือซีด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการว่ารุนแรงมาน้อยแค่ไหน...ถ้าคุณมีอาการดังที่กล่าวมานี้รีบไปพบแพทย์เลยนะคะจะได้ไม่เสียใจทีหลัง แต่การที่แพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่นั้น จะต้องมีตำแหน่งที่ติดเชื้อในร่างกายที่เห็นหรือตรวจพบได้เป็นที่แน่นอนชัดเจนเสียก่อน เช่นการตรวจร่างกายด้วยการเอกซเรย์ปอด ทำอัลตราซาวน์ในช่องท้อง หรือการเจาะน้ำจากไขสันหลัง น้ำในช่องท้อง น้ำในช่องปอด ตรวจจำนวนเม็ดเลือดขาว หากตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นก็แสดงว่ามีการติดเชื้อ การตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่นั้น อีกทางหนึ่งอาจตรวจจากปัสสาวะ ว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือไม่ หรือตรวจจากสีของเสมหะ หรือตรวจจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือตรวจจากการนำเลือดไปเพาะเชื้อ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นวิธีการของแพทย์ ส่วนตัวเรามีหน้าที่สังเกตอาการของตัวเอง หากเมื่อไหร่ที่มีไข้สูงกว่า ๓๘ องศา หรือหนาวสั่น ตัวเย็นเยียบผิดปกติวัดอุณหภูมิแล้วต่ำกว่า ๓๖ องศา หรือหายใจหอบเหนื่อย หัวใจเต้นมากกว่า ๙๐ ครั้งต่อนาที ไม่ต้องรีรอเลยนะคะ ไปโรงพยาบาลเลยค่ะ ที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของหมอเขาไปนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจากคอลัมน์ “ชีวิต...เลือกได้”... ดูแลตัวเองนะคะ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 46 ชีวิต...เลือกได้ (ตอนที่๙๘) ธนลักษณ์ อ่อนเกตุพล [email protected]