ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องถือว่า เป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต” ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีอายุครบ 70 ปี เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน โดยการเฉลิมฉลองก็มีขึ้นทั้งที่ในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “สำนักงานใหญ่” อันเปรียบได้กับ “กองบัญชาการแห่งกองทัพนาโต” และทั้งที่ใน “กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.” เมืองหลวงของ “สหรัฐอเมริกา” แดน “พญาอินทรี” อันเป็นมหานครที่เหล่าบรรดาผู้นำชาติสมาชิกของนาโต ได้จรดปากกาลงนามใน “สนธิสัญญา” ร่วมสถาปนาองค์การระหว่างประเทศแห่งนี้เป็นปฐม เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) โดยมีนายแฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยนั้น เป็นผู้นำการลงนาม ทำสนธิสัญญา ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน แห่งสหรัฐฯ ลงนามในการสถาปนาองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. พ.ศ. 2492 และเพราะด้วยเหตุนั้น ก็ทำให้ “สหรัฐฯ” ยืนผงาดง้ำนำอยู่แถวหน้าขององค์การความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ไปโดยปริยาย กอปรกับกานำกรีธาพลกองทัพสัมพันธมิตรชนะศึกในสงครามโลก ครั้งที่ 2 พร้อมอิทธิพลของพญาอินทรี ที่สยายปีกและกรงเล็บ ขึ้นแท่นเป็นชาติผู้นำมหาอำนาจโลกของฝ่ายชาติตะวันตกโลกเสรี เผชิญหน้ากับมหาอำนาจโลกของอีกฟากภายใต้การนำของสหภาพโซเวียตรัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ แห่งกลุ่มโลกสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงบรรยากาศการเฉลิมฉลอง ครบรอบ 70 ปี ของนาโตในปีนี้ ก็ต้องถือว่า บรรยากาศไม่ชื่นมื่นเท่าที่ควรจะเป็น ด้วยเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ทำให้น่าปลื้มในมวลหมู่ชาติสมาชิกของนาโตเอง เริ่มจากกรณีที่ “นายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการนาโต” ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างชนิดสับเละต่อนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน (America First)” อันเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน” ว่า ส่งผลกระทบต่อความวิตกกังวลในเรื่องความเชื่อมั่นในความเข้มแข็งของนาโต ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำขององค์การระหว่างประเทศแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มสถาปนา นายเจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต	 กล่าวปาฐกถาที่รัฐสภาสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ทั้งนี้ การออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของเลขาธิการนาโตข้างต้น ก็มีขึ้นที่ “แคปิตอลฮิลล์” คือ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ หรือสภาคองเกรส ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ แบบไม่ไว้หน้าปวงประชาบรรดาชาว “ลุงแซม” กันแบบ “ถึงถิ่น” กันเลยทีเดียว โดยนายสโตลเทนเบิร์ก ได้รับเชิญในฐานะบิ๊กบอสของนาโต ให้ไปแสดงปาฐกถาในสภาคองเกรสดังกล่าว เนื่องในการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ที่มีการสถาปนาก่อตั้งนาโต ตามมาด้วย เหตุวิวาทะกันแบบข้ามชาติ ข้ามทวีป ในมวลหมู่ชาติสมาชิกนาโตด้วยกันเอง ระหว่าง “สหรัฐฯ “ กับ “ตุรกี” เมื่อปรากฏว่า ทางการตุรกี ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน” ซึ่งมีความสนิทสนมเป็นพิเศษกับ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” ชาติไม้เบื่อไม้เมาของเหล่าชาติตะวันตกมาตั้งแต่ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีคำสั่งซื้อ “เอส-400 ตริอุมฟ์ หรือไทรอัมพ์ (S-400 Triumf (Triumph)” หรือที่มักเรียกสั้นๆ กันติดปากว่า “เอส-400 (เอสสี่ร้อย)” จากรัสเซีย “เอส-400 ตริอุมฟ์” จากรัสเซีย ที่ตุรกี หนึ่งในชาติสมาชิกนาโต มีคำสั่งซื้อไปประจำกองทัพ ก็สร้างความเกรี้ยวกราดโกรธาให้แก่มหาอำนาจตะวันตก เหล่าชาตินาโตด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ บอสใหญ่ตัวจริงเสียงจริงของนาโต ทั้งนี้ ก็ด้วย “เอส-400” ที่ว่า มันเป็น “ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อต้านอากาศยาน” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “จรวด” ที่ใช้สำหรับยิงต่อต้านอากาศยาน พวกเครื่องบินรบทั้งหลาย นั่นเอง โดย “เอส-400” ที่ตุรกีสั่งจากรัสเซีย ก็เป็นจรวจที่“ถูกออกแบบ มาเพื่อใช้ยิงอากาศยานเครื่องบินรบของสหรัฐฯ และเหล่าชาติพันธมิตรตะวันตกเป็นประการสำคัญ” ซึ่งรวมถึง “เครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-35” ที่ผลิตโดย “ล็อกฮีดมาร์ติน คอร์ป” ของสหรัฐฯ ที่ว่าแน่ๆ เป็นเครื่องบินขับไล่เยี่ยมยอดแห่งยุค ก็ตกเป็นเป้าหมายของการออกแบบคิดค้นพัฒนาจรวจต่อต้านอากาศยานรุ่นนี้ด้วย ด้วยประการฉะนี้ ทางการสหรัฐฯ จึงออกมาคัดค้านการสั่งซื้อของตุรกีข้างต้นกันอย่างกร้าวแข็ง ถึงขนาดที่ “รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ แห่งสหรัฐฯ” ออกมากระตุ้นเตือนให้ทางการตุรกี ยกเลิกต่อคำสั่งซื้อดังกล่าวนั้นเสีย ก่อนกดดันให้รัฐบาลอังการาของประธานาธิบดีเออร์โดกัน “เลือก” เอาว่า ระหว่าง “เอส-400ของรัสเซีย” กับ “ความเป็นพันธมิตรกับนาโต” โดยหยิบยกเรื่องความเสี่ยงด้านความมั่นคงของตุรกีขึ้นมาเป็นคำขู่ ทว่า ทางการตุรกีหายินยอมตามแรงกดดันไม่ โดย “นายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกี” กล่าวว่า คำสั่งซื้อจรวดมหาประลัยข้างต้นได้ลุล่วงข้อตกลงกันเป็นไปที่เรียบร้อยแล้ว ยกเลิกมิได้ ก่อนตอกกลับ ด้วยการหยิบยกกรณีที่ตุรกีจะกรีธาทัพเข้าไปบดขยี้กองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในซีเรีย ที่ทางการสหรัฐฯ คัดค้านในห้วงเวลาเดียวกับการกดดันให้ตุรกียกเลิกคำสั่งซื้อจรวดเอส-400 ด้วยการตอบโต้กลับไปว่า ให้สหรัฐฯ เลือกเอาเองเช่นกัน ระหว่างตุรกี กับกลุ่มก่อการร้ายชาวเคิร์ด สหรัฐฯ จะเลือกใคร นายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกี (ขวา) เมื่อครั้งพบปะกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็ต้องบอกว่า บรรยากาศเฉลิมฉลองนาโตปีนี้ที่อายุครบ 70 ปี ไม่เป็นปลื้มชื่นมื่นเอาเสียเลยสำหรับวิวาทะที่บังเกิดขึ้นในหมู่ชาติด้วยกันเอง