คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น ตั้งใจจะเขียนเรื่อง “อุเบกขา” มานานแล้ว แต่ก็หาโอกาสเขียนไม่ได้ วันนี้ขอเขียนตามที่ตั้งใจ อุเบกขา เราแปลว่า “วางเฉย” ถ้าเป็นความรูสึกหรือ เวทนา หมายถึงความรู้สึกว่าไม่ทุกข์ ไม่สุข เป็นความรู้สึกเฉยๆ ถ้ามีใจเป็นกลาง คือ ไม่เอนเอียงไปตามภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะผิดหรือถูก ไม่ว่าจะเป็นโทษหรือเป็นคุณ เป็นความรู้และเข้าใจในเรื่องกรรม มีใจยุติธรรม เคารพในกฎกติกาหรือ กฎหมาย เพ่งพิจารณาด้วยเหตุผลเป็นสำคัญ อุเบกขาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง “พรหมวิหารธรรม” (คือ 1.เมตตา 2.กรุณา 3.มุทิตา 4.อุเบกขา) คำว่า “พรหมวิหาร” คือ คุณธรรมของผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง หรือหัวหน้า พรหมในที่นี้คือ พระพรหม หรือเทวดา ซึ่งถือว่า เป็นสิ่งสูงสุด (ในลัทธิพราหมณ์) เรามักจะแสดงด้วยภาพ “พรหม 4 หน้า” คือรูปเทวดาที่มี 4 หน้า ซึ่งมีลักษณะมองเห็นปวงสัตว์ในทิศทั้งสี่ แต่ความจริง เทวดาประเภทนี้ไม่ใช่มี 4 หน้า แต่หมายถึง มีคุณธรรมทั้งสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา พระพุทธเจ้าเอาความเชื่อในทางลัทธิมาอธิบายให้เป็น “ธรรม” ที่ปฏิบัติได้ หมายความว่า พระพรหมที่ว่ามี 4 หน้านั้น คือ มีธรรม 4 ประการ ประจำใจคือ 1 เมตตา – ความรัก ความปราถนาดี ต้องการให้คนอื่นมีความสุขสมหวัง มีอาการดีใจ 2 กรุณา – มีใจสงสาร เห็นใจ อยากให้เขาพ้นทุกข์ภัยได้ไม่อยากให้เขาลำบาก 3 มุทิตา – ยินดีกับความสุขความสำเร็จของคนอื่น ได้ข่าวดีก็ดีใจ 4 อุเบกขา – วางใจเป็นกลาง มีจิตเที่ยงตรง ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เท่าทันความจริงที่เกิดขึ้น ไม่เอนเอียงด้วยอคติอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าใจกฎแห่งกรรม วันนี้ต้องการจะเขียนถึงข้อสุดท้าย คือ “อุเบกขา” ขอทำความเข้าใจก่อนว่า อุเบกขาเป็น “ธรรม” อย่างหนึ่ง คือเป็น “สภาวะ” อย่างหนึ่ง สภาวะ คือ “สิ่งที่มีอยู่จริงในตัวเอง” ทุกสภาวะคือ “ธรรม” ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในตัวเอง ไม่ว่าจะบัญญัติหรือไม่บัญญัติว่าเป็นอะไร มันม็มีอยู่ เช่น สภาวะทีเรียกว่า “รูป” คือ ความเปลี่ยนแปลง ความแตกสลาย รูปเป้นธรรมอยู่างหนึ่งจึงเรียกเต็มๆ ได้ว่า “ธรรม” (คือ “รูปธรรม”) ทุกสภาวะในคำสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็น “ธรรม” อย่างหนึ่งๆ เอาคำว่า “ธรรม” ต่อท้ายได้ทั้งหมด สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” จะเรียกว่า “ธาตุ” ก็ได้ “ธาติ” คือ สภาวะที่มีอยู่แต่เดิม ไม่ว่า จะเรียกหรือบัญญัติเป็นอะไร ก็มีอยู่จริง ไม่ใช่มีอยู่เพราะการเรียกหรือบัญญัติขึ้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรม (หรือ “ธาตุ”) เป็นสิ่งที่ทรงแสดงหรือเปิดเผยให้รู้ให้เข้าใจ คือ มันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งทสี่เรียกหรือบัญญัติขึ้น (อย่างสิกขาบทแต่ละข้อ) ในภาษาบาลี แยกกันอย่างชัดเจนระหว่าง “ธรรม” กับ “วินัย” ใช้คำว่า “ธมฺโม จ วินโย จ” (คือ ธรรม และวินัย) หมายความว่า ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีธรรมและวินัย ส่วนที่เป็นธรรม คือ สภาวะที่มีอยู่ในตัวเอง ส่วนที่เป็นวินัย คือ สิ่งหรือเรื่องที่บัญญัติขึ้น – ตั้งขึ้นซึ่งเรียกว่า “กฎ” บ้าง “สิกขาบท” บ้าง ฯลฯ ธรรม เปลี่ยนแปลไม่ได้ วินัย เปลี่ยนแปลงได้ ยกเลิกได้ เพิ่มเติมได้ ปรุงแต่งได้ ด้วยการเรียกหรือ บัญญัติขึ้น คำว่า ธรรม ในคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ละอย่าง เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “กรรม” เมื่อเป็นการกระทำ (แต่คำว่า กรรมในที่นี้ ต้องเนื่องกับจิต จึงจัดเป็นกรรม) อุเบกขา เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาวะ (มีอยู่) ในตัวเอง และเป็น “กรรม” อย่างหนึ่ง เมื่อจิตเข้าไปจับ เรียกว่า ”อุเบกขาธรรม” ก็ได้ เรียกว่า “อุเบกขากรรม” ก็ได้ หรือจะเรียกว่า “อุเบกขาจิต” ก็ได้ (หมายถึงจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขา) จิตในที่นี้ คือ “ความตั้งใจ” หรือ “เจตนา” ทุกอย่างที่เป็นกรรม เพราะมีความตั้งใจหรือมีเจตนา คือต้องเนื่องกันจิตเสมอ ถ้าจิตไม่รับรู้ ก็ไม่เป็นกรรม จะเห็นได้ว่า ธรรมทุกอย่าง เป็นสภาวะแต่ละอย่างคือมีอยู่ในตัวเอง จะเป็นกรรมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจิตว่า รับรู้หรือไม่ จิตที่รับรู้นี้แหละ เรียกว่า “เจตนา” กรรมจึงเป็นสภาวะที่เนื่องกับจิตเสมอ กรรม (การกระทำ) เป็นสภาวะหรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง จิต ก็เป็นสภาวะหรือเป็นธรรม อย่างหนึ่ง อุเบกขา เราแปลว่า “วางเฉย” จึงไม่ใช่การไม่รับรู้อะไรแต่เป็นการรับรู้อย่างยิ่ง มีการเพ่งพิจารณาและรู้ อุเบกขาที่เป็นความรู้สึก หรือเป็น “เวทนา” เป็นสภาวะที่รู้ว่าไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งเป็นความรู้สึก (รู้ได้) ในฌานที่ 4 เรียกว่าจิตเป็นอุเบกขา อันเป็นสภาวะที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง อุเบกขา ที่เป็น “ปัญญา” บาลีใช้คำว่า “ปัชฌัตตตา” คือความที่จิตเป็นกลาง หรือการวางจิตเป็นกลาง จะเห็นได้ว่า ทั้งอุเบกขาที่เป็นความรู้สึก (เวทนา) และอุเบกขาที่เป็นปัญญา ไม่ใช่การไม่รับรู้อะไร แต่เป็นการรับรู้ด้วยสติและปัญญาอย่างยิ่ง อุเบกขาในฌานที่ 4 เป็นสภาวะของจิต (รู้ด้วยสติ) ว่าไม่ทุกข์ไม่สุข จึงมีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง อุเบกขาที่เป็น มัชฌัตตตา (วางใจเป็นกลาง) เป็นสภาวะของจิตที่อยู่ตรงกลางระหว่าง ความถูกกับความผิด ระหว่างทุกข์หรือโทษ) กับคุณ ระหว่างทุกข์กับสุข ฯลฯ ซึ่งจะเป็นได้อย่างนั้น ต้องใช้ปัญญาเพ่งพิจารณา ไม่ใช่การไม่รู้อะไร จึงอาจเป็นไปได้ว่า เพราะคำแปลว่า “วางเฉย” สำหรับ “อุเบกขา” ทำให้เข้าใจผิดได้ว่า เป็นการเฉยเมย ไม่รับรู้อะไรเสียเลย แต่ความจริงสภาวะที่เรียกว่า อุเบกขา เป็นการมีสติอย่างยิ่งในฌานที่ 4 และเป็นการเพ่งพิจารณาด้วยปัญญาอย่างยิ่งในการวางใจเป็นกลาง อุเบกขา จึงเป็นเรื่องของความรู้ ไม่ใช่การไม่รับรู้อะไร การวางเฉยโดยไม่รับรู้อะไร ย่อมไม่เป็น “กรรม” แต่ความจริง อุเบกขา ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นกรรมอย่างหนึ่ง คือมีการกระทำ (มีเจตนา) ทางจิต จึงจะเรียกว่า “อุเบกขา” อุเบกขาใน “พรหมวิหาร 4” เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาเพ่งพิจารณาเพื่อวางใจเป็นกลาง ไม่ให้ใจเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ให้พิจารณาเห็นกรรม เห็นความยุติธรรม หรือเห็นหลักการเห็นเหตุผล จนวางใจเป็นกลางได้ น่าแปลกใจว่า คนในประเทศที่เจริญแล้ว ทางประชาธิปไตยมี “อุเบกขา” ได้เป็นอย่างดี ไม่ถือข้าง จนวางใจเป็นกลางไม่ได้คนไทย หรือ ชาวพุทธ (ส่วนใหญ่) กลับไม่วางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ในทางการเมือง ปล่อยใจให้ยึดถืออยู่ข้างใดข้างหนึ่ง อย่างเหนียวแน่นไม่เพ่งพิจารณาให้เห็กรรม หรือไม่เข้าใจธรรม หรือไม่วางใจให้อยุ่กับกฎกติกา-ความยุติธรรมในสังคม จึงอยากให้พระสงฆ์เทศน์เรื่องอุเบกขา (ที่ถูกต้อง) ให้มากๆ ไม่ใช่สอนให้วางเฉย” โดยไม่รับรู้อะไร อุเบกขาไม่ใช่การมีท่าทีวางเฉย หรือมีกิริยาอาการ “ปลง” ไม่สนใจอะไร แต่เป็นการใช้สติปัญญาอย่างยิ่งต่างหาก เมือสอนเรื่องพรหมวิหาร 4 ดูเหมือนชาวพุทธไทยเข้าใจแต่ธรรม 3 ข้อแรก เมตตา กรุณา และมุทิตา เท่านั้น ส่วน “อุเบกขา” กลับไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดๆ เป็นส่วนมาก อุเบกขาในฌานที่ 4 (ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) อาจจะเป็นเรื่องที่อยู่ห่างไกลออกไป แต่อุเบกขาในพรหมวิหาร 4 เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติอยู่เสมอๆ เพื่อให้อุเบกขา เป็นธรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม อยากให้มีการศึกษาและเข้าใจกฎกติกาหรือกฎหมาย ของบ้านเมืองให้ดี เพื่อจะได้วางใจเป็นกลางได้ดี ไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือเอาแต่ “วางเฉย” เฉยเมยไม่รับรู้อะไร ที่เข้าใจว่าเป็น “อุเบกขา”