มีประเด็นในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ควันยังไม่จางหาย คือ หลังจากประกาศผลคะแนนไปแล้วถัดมาอีก 4 วัน กกต. ได้ประกาศผล (ไม่ทางการ) 100% ปรากฏว่า มีบัตรเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจำนวน 4.4 ล้านคะแนน นอกจากนี้ยังพบว่ามีบัตรเลือกตั้งขาดหายไปจำนวน 9 บัตร เป็น “ปัญหาบัตรเขย่งกัน” หรือจำนวนบัตรไม่ตรงกัน ในความหมายคือ “บัตรเลือกตั้งที่ กกต.เตรียมไว้ ณ หน่วยเลือกตั้งต่างๆ ถูกใช้ไปไม่ตรงกับจำนวนผู้ที่เข้าคูหาไปลงคะแนน” กล่าวคือ จำนวนผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาพบการเขย่งของบัตรเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถสอบทานได้ว่าเกิดการผิดพลาดที่หน่วยเลือกตั้งใด ในกรณีเช่นนี้ หากจำนวนผู้มาใช้สิทธิกับตัวเลขบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน กกต.ประจำหน่วยก็จะให้มีการนับคะแนนใหม่ แต่เมื่อนับคะแนนใหม่แล้ว ก็ยังเหมือนเดิน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนการวิพากษ์วิจารณ์ไปไกลว่าจะมีการทุจริตหรืออื่นใดในการเลือกตั้งหรือไม่ ลองมาย่อยประเด็น ในมุมมองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และ คณะกรรมการนับคะแนน (กนค.) สำหรับการนับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าฯ ซึ่งแต่งตั้งจากประชาชนในเขตเลือกตั้ง เป็นชาวบ้านจากหลายกลุ่มหลายอาชีพ และเป็นผู้ปฏิบัติงานการเลือกตั้งและนับผลคะแนนในพื้นที่เป็นเบื้องแรก เห็นว่าควรดูข้อเท็จจริงเสียก่อน คือ (1) เพราะคะแนนนับเสร็จสิ้นที่หน่วยเลือกตั้ง และติดประกาศคะแนนหน่วยเลือกตั้งตามแบบ ส.ส. 5/18 ไว้ที่หน่วย เป็นรายงานผลการนับคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต ซึ่งมีข้อมูล ที่ตั้งหน่วย จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนผู้ใช้สิทธิ จำนวนบัตรที่จัดสรร (เป็นจำนวนบัตร) บัตรที่ใช้ และแยกเป็น บัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่เลือกผู้ใด คะแนนผู้สมัครแต่ละคน รวมคะแนน ขั้วบัตร เล่มขั้วและบัตรที่เหลือ เล่มบัตรที่เหลือ มีข้อสังเกตว่า การระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งที่รับมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้มาใช้สิทธิ บัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน (ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด) ปัญหาบัตรงอก บัตรเกิน บัตรขาด จึงสามารถตรวจสอบได้จากต้นทาง นอกจากนี้ยังมียอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาย หญิง อีกต่างหาก ที่งบแล้วยอดต้องตรงกันหมด (2) กปน. ทุกหน่วยรายงานผลคะแนนต่อ กกต.เขต, กกต.เขตรายงาน กกต.จังหวัด, กกต.จังหวัดรายงาน กกต.กลาง หากจะโกงต้องรู้กันตั้งแต่ กปน. จนถึง กกต.กลาง (3) กฎหมายได้กำหนดให้ทุกพรรคการเมืองได้แต่งตั้งตัวแทนผู้สมัคร ขณะลงคะแนนหรือตอนนับคะแนนถ้าเห็นว่าไม่โปร่งใส ตัวแทนผู้สมัครต้องคัดค้านไว้ ถ้าหากหน่วยใดตัวแทนผู้สมัครไม่ได้คัดค้านไว้จะขอให้นับคะแนนใหม่ตามกฎหมายไม่ได้ วาทกรรมว่ามีการทุจริตในการนับคะแนนจะเป็นการดูถูกและกล่าวหา กปน. และ กนค. ที่น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะไม่เข้าใจกระบวนการขั้นตอนการลงคะแนนและการนับคะแนน การเปลี่ยนแปลงผลคะแนนจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะหาก กปน. ไม่สามารถรวมผลคะแนนโดยมีจำนวนบัตรที่ลงคะแนน กับจำนวนคะแนนไม่ตรงกัน ก็จะไม่สามารถรายงาน กกต.เขตได้ มีข้อสังเกตว่า การตรวจสอบบัตรขาดบัตรเกินในกรณีการเลือกตั้งครั้งนี้จะง่าย เนื่องจาก จำนวนบัตรที่มีผู้มาแสดงตนขอรับบัตรเพื่อลงคะแนน กับจำนวนผลคะแนน รวมบัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด จะต้องตรงกัน(เท่ากัน) เพราะ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถกาคะแนนได้เพียงหนึ่งหมายเลขเท่านั้น (4) ประเด็นการโกงที่หน่วยเลือกตั้ง (โดย กปน.) ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนหีบเป็นไปไม่ได้ เพราะ ก่อนส่งหีบ กปน.ได้นับเสร็จแล้วที่หน่วย แล้วทำประกาศปิดไว้หน้าหน่วยมีรายการเกี่ยวกับบัตรและคะแนนของผู้สมัคร บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน หากเปลี่ยนหีบหรือเปลี่ยนประกาศคะแนนก็จะไม่ตรงกัน กรณี กกต. แจงปมนับบัตรดีเป็นบัตรเสียตามคลิปข่าวที่เผยแพร่ ก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวน ก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงไป การโกงคะแนนเป็นไปได้ยาก เพราะตอนนับคะแนนเป็นอย่างเปิดเผยมีคนมาดูเยอะ แต่หากมีประเด็นร้องเรียนฯ ในกระบวนสอบสวนอาจมีการลำเอียงได้ กลายเป็นดรามาไปแล้ว ยกตัวอย่างคือ (1) จากจำนวนบัตรกว่า 38 ล้านใบ จาก 9 หมื่นกว่าหน่วย แต่มีรายงานผิดไป 9 ใบ (บวกเลขแล้วยอดสุทธิไม่ลงตัว) เป็นที่วิพากษ์กันต่าง ๆ นานาถึงสาเหตุที่จำนวนบัตรหายไปไหน อย่างไร แม้จะไม่มีผลไปเปลี่ยนแปลงคะแนนผู้ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส. เขตก็ตาม แต่ในระบบการเลือกตั้งปัจจุบันนี้ ทุกคะแนนมีความหมาย เพราะทุกคะแนนจะไปรวมกันเพื่อคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค (2) ปัญหาการรายงานผลที่ล่าช้าไปสี่วันทำให้คนคลางแคลงสงสัย ว่าล่าช้าเพราะเหตุใด เพราะข้อเท็จจริง กปน. ทุกหน่วย ทุกเขต ทุกจังหวัดได้ส่งผลคะแนนแล้วในคืนวันที่ 24 ต่อเนื่องวันที่ 25 มีนาคมแล้ว (3) เป็นอีกจุดที่เป็นดรามาในการนับคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งคะแนนจากต่างประเทศ จากต่างจังหวัด และ จากเขตเลือกตั้งนั้นเอง ที่มีการขนบัตรเลือกตั้งมารวมนับ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นการสร้างกระแสกันเกิน ทั้งที่สามารถตรวจสอบได้ และในกระแสการโกงก็ยังหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ว่าจำนวนผู้มาลงคะแนนกับจำนวนบัตรเลือกตั้งและจำนวนผลคะแนนไม่ถูกต้องตรงกันอย่างไร การตีข่าวสร้างกระแสโดยไม่มีพยานหลักฐานจะเป็นขี้แพ้ชวนตี หรือ “วาทกรรมทางการเมือง” มากกว่า ซึ่ง กกต.กลางได้ “ตกเป็นจำเลยทางสังคม” ไปแล้ว ในอารมณ์ของคนเลือกข้างที่ย่อมโกรธแค้นบ้างเป็นธรรมดา และใน “ยุคที่สื่อเสี้ยมทรงพลัง” อย่างไรก็ตาม การให้ขวัญกำลังใจพึงมีให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้ว แต่มีข้อผิดพลาดบ้าง ด้วยภาวะสุดวิสัยจำเป็นและด้วยเหตุผลที่รับฟังได้ กกต. ต้องเปิดเผยผลคะแนนทุกเขตโดยเร็ว ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้ติดใจบัตรเกินบัตรเขย่ง แต่สงสัยและติดใจกันมากกว่าที่ว่าพรรคใดได้คะแนนสุทธิเท่าใด พรรคใดได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด พรรคใดจะได้ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อตาม “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed Member Apportionment System : MMA) เป็นจำนวนพรรคละเท่าใด และพรรคไหนมีสิทธิ์รวบรวมเสียง ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อน ในประเด็นนี้ กกต.ต้องเคลียร์มากกว่าประเด็นอื่น นอกจากนี้ประชาชนและพรรคการเมืองได้เรียกร้องให้ เพื่อยืนยันว่า ผลคะแนนที่ กกต.กลางมีอยู่ถูกต้องตรงกันกับคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งที่ประกาศหรือไม่ เพราะ หาก กกต.กลาง ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดผลคะแนน แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าผลรวมคะแนนไม่ตรงกัน ได้แก่ คะแนนที่ กนค.ประกาศทุกหน่วยทั่วประเทศ รวมทั้งคะแนนเลือกตั้งนอกเขตและในเขตล่วงหน้าด้วย ปัญหาอยู่ที่ว่าแต่ละพรรคก็มีคะแนนหน้าหน่วยของพรรคอยู่แล้ว หากคะแนนพรรคใดที่ กกต.ประกาศแล้วไม่ตรงกับคะแนนคนของพรรคที่เก็บข้อมูลหน้าหน่วยไว้ ก็สามารถตรวจสอบได้ แต่ กกต.ก็ควรรีบเปิดเผยคะแนนของแต่ละหน่วยโดยเร็ว มิใช่รอหรือประวิงเวลาให้ยาวเป็นที่ชวนสงสัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะปัญหาภาพรวมใน ความแม่น ความชัดเจน ความเป็นมืออาชีพของ กกต. ถือเป็นความบกพร่อง เป็นปัญหาสะท้อน “ประสิทธิภาพ” ของ กกต. เพราะเป็นงานสำคัญระดับชาติที่ผิดพลาดไม่ได้ ปัญหาข้อบกพร่องพึงระวัง ในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมามีปัญหาความบกพร่องได้แก่ (1) ปัญหากรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติ มีการไว้ช่องและไม่ไว้ช่องของผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติ แต่ละหน่วยเลือกตั้งเขียนไม่เหมือนกัน ทำให้เจ้าหน้าที่คนคีย์ข้อมูลสับสน กรอกผิดกรอกถูก (2) ปัญหาการปฏิบัติงานของกรรมการ กปน.บางกรณี เช่น (2.1) มักง่าย หละหลวม ไม่รอบคอบ ไม่ละเอียด (2.2) ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาประจำหน่วยฯ ที่อาจไม่ถูกต้องหรือเป็นประเด็นเหตุแห่งการร้องเรียนฯ (2.3) ระเบียบไม่แม่น โดยเฉพาะในระเบียบหลักการพื้น ๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะตอนอบรมไม่ใส่ใจ (2.4) จำนวนข้อมูล บัตรเสีย บัตรดี ผู้มาลงคะแนน ขี่กัน หรือ ผิดหน่วย ผิดเขต เป็นต้น แต่ในกรณีที่ กปน. เคร่งครัดเช็คยอดตรวจสอบคอยเฝ้าระวังมิให้ผู้ลงคะแนนนำบัตรเลือกตั้งออกไปนอกหน่วยได้ ผลการนับคะแนนจำนวนบัตรที่ใช้ไปกับคะแนนต้องตรงกัน (3) ปัญหาการรายงานระบบ rapid report ซึ่ง กปน. เป็นผู้กรอกในแอป (Application) แล้วมี admin ในแต่ละเขตควบคุมดูแลอีกชั้นหนึ่ง ถือเป็นช่องโหว่ของข้อมูล เพราะหากเอาคะแนนจาก rapid report ที่รายงานผิดพลาดไปประกาศจะสับสน เพราะคะแนนรายงานจะไม่ตรงกับคะแนนที่ประกาศหน้าหน่วย ที่สื่อออนไลน์สามารถตรวจสอบเช็คกลับได้อย่างรวดเร็วทันที จึงเป็นปัญหาของคะแนนที่ได้ส่งต่อจากเขตไปจังหวัด จาก กกต.จังหวัดไป กกต.กลาง ว่ามีเหตุใดที่ทำให้การรายงานตัวเลขคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน โอกาสที่เกิดกรณีบัตรเขย่ง กรณีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มากกว่า “บัญชีเลือกตั้ง” หรือ “บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” (ส.ส.1/3) นี้ ลองมาดูกระบวนการกรณี “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่อในเขตเลือกตั้ง 2 หน่วย” หากมีการเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหมดทุกคนส่วนใหญ่ในกรณีของ (1) ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ์เลือกตั้ง และ (2) ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วไป ที่มิใช่ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหลักฐานแสดงว่าในวันเลือกตั้งตนจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั้งสองกลุ่มดังกล่าวสามารถลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ในรอบวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2562 ก็จะไม่มีเพื่อป้องกันจำนวน “บัตรเขย่ง” ได้ส่วนหนึ่ง ขอยกตัวอย่างที่มักเกิด “บัตรเขย่ง” ใน 4 กรณี เช่น (1) กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนโดยเฉพาะตำรวจ มักใช้ช่องทางเดิมที่เคยปฏิบัติมาตลอด ตามระเบียบ กกต. ข้อ 140 โดยขอเพิ่มชื่อต่อท้ายในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ส.ส. 1/3) คือเพิ่มชื่อใช้สิทธิในหน่วยที่ตนทำหน้าที่ (มีชื่ออยู่ต่างหน่วยแต่เขตเลือกตั้งเดียวกัน) นี่คือสาเหตุมีบัตรเขย่งอย่างแท้จริง ในกรณีที่หนึ่ง (2) สาเหตุมีบัตรเขย่งอย่างแท้จริง ในกรณีที่สอง คือคนที่ไปขอเพิ่มชื่อในหน่วยเลือกตั้ง แต่ยังไม่มีชื่อในบัญชีเลือกตั้ง ก็สามารถเพิ่มชื่อในหน่วยเลือกตั้งนั้นได้ด้วย ซึ่งมีในหลายกรณี ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้บัตรเขย่ง ทั้งสิ้น (3) กรณีที่ผู้เลือกตั้งไม่นำบัตรหย่อนลงหีบบัตร อาจมีได้ในกรณีที่มีคนมาลงคะแนนกันเยอะคนแน่น ทำให้เผลอมีผู้เลือกตั้งไม่ได้หย่อนบัตรลงหีบ แต่นำบัตรเล็ดลอดออกไปนอกหน่วย ทำให้จำนวนบัตรเลือกตั้งขาดหายไป (4) กรณีผู้เลือกตั้งไปรายงานตัวใช้สิทธิ แต่อาจรอคิวนาน เลยสละสิทธิออกไปเสียจากหน่วย (ยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งและยังไม่ได้ลงคะแนน) ทำให้จำนวนผู้มาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรที่ถูกใช้ไปไม่ตรงกัน ข้อสังเกตในกรณีที่ (3) และ (4) นั้นคล้าย ๆ กัน ในกรณีที่ (3) เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ “หละหลวม” แต่ในกรณีที่ (4) ถือว่าเจ้าหน้าที่ “มั่ว” ที่ผิดพลาดในการเช็คจำนวนผู้มาลงคะแนน โดยเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า 600 คน และในบางห้วงเวลามีผู้มาแสดงตนใช้สิทธิคราวเดียวกันเป็นจำนวนมาก ๆ เพราะไปเช็คว่ามีผู้มาลงคะแนน แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้รับบัตรและยังไม่ได้ลงคะแนนเลย ต่างจากกรณีที่ (1) และ (2) ซึ่งเป็นกรณีที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้นกว่าบัญชีเลือกตั้ง จากกรณีเหล่านี้ จึงเป็นผลให้ จำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน กับจำนวนผู้มีสิทธิในบัญชีเลือกตั้ง และ จำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไปยอดไม่ตรงกัน เป็นต้น นี่เป็นมุมมองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานการเลือกตั้งในระดับพื้นที่ที่พอจะอธิบายที่มาที่ไปของ “บัตรเขย่ง” ได้ในอีกทัศนะหนึ่ง