วันที่ 5 เม.ย. 62 มีรายงานว่า นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn ข้อความว่า ประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดในการเดินหน้าประเทศไทย เพราะจำนวนดังกล่าวมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นเพื่อให้เกิดมุมมองที่สมบูรณ์และเป็นหลักฐานถึงมุมมองอีกมุมมองหนึ่งในฐานะผู้เคยรับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง จึงขอเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการคำนวณในทัศนะของผมดังนี้ ประเด็นที่ ๑ จะต้องยึดถือกฎหมายใดเป็นหลักในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คำตอบ มีกฎหมาย ๒ ฉบับที่เกี่ยวข้องคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๖๐ มาตรา ๙๑ และ พรป.ส.ส. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๒๘ โดย มาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาแสดงขั้นตอนการคำนวณจำนวน ๕ วงเล็บ ส่วน พรป.ส.ส.ได้นำไปขยายความต่อกลายเป็น ๘ วงเล็บ แม้ในวรรคท้ายของ ม.๙๑ ของรัฐธรรมนูญจะระบุว่า “การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ก็ตาม หากมีประเด็นที่เพิ่มเติมแล้วไปขัดกับรัฐธรรมนูญ จะต้องยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ ประเด็นที่ ๒ มีประเด็นใดใน ม.๑๒๘ ที่ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ บ้าง คำตอบ เมื่อนำมาตรา ๙๑ ของรัฐธรรมนูญ มาเทียบกับ มาตรา ๑๒๘ ของพรป.ส.ส. ส่วนที่เป็นปัญหาของ มาตรา ๑๒๘ คือ (๖) ซึ่งระบุว่า หากมีการจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแล้วยังไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน “ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวนสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน” จึงเกิดการตีความจากผู้จัดทำสูตรการคำนวณว่า จะต้องกระจายลงไปยังพรรคต่างๆทุกพรรค แม้ว่าพรรคดังกล่าวจะได้รับการคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีต่ำกว่า ๑ คนก็ตาม ซึ่งทำให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กอีก ๑๑ พรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีต่ำกว่า ๑ คน ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกพรรคละ ๑ คน ซึ่งเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑(๔) ที่ระบุในวรรคท้ายท้ายว่า “ แต่ต้องไม่มีผลทำให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่พึงจะมีได้ตาม(๒)” ประเด็นที ๓ สูตรของ กรธ.+กกต. ที่ผ่านการประชุมในขั้นร่างกฎหมายลูกผิดหรือไม่ คำตอบ สูตรของ กรธ.ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ กกต.นำเสนอในที่ประชุมของ กรธ. ตามที่มี กรธ.บางท่านให้สัมภาษณ์ว่าเป็นสูตรที่มีมานานแล้ว เป็นสูตรที่ถูกต้องตาม กม.ลูก มาตรา ๑๒๘ แต่ ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๑ ซึ่งแปลว่าเป็นสูตรที่ไม่สามารถนำมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ หากนำมาใช้ ผู้รับผิดชอบ คือ กกต. จะถูกร้องทันทีว่า กกต.ทำผิดรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่ ๔ เรื่องนี้สมควรมีทางออกอย่างไร คำตอบ ที่ประชุม กกต. ๗ ท่านสมควรพิจารณาเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ใน พรป.ส.ส. กับสูตรการคำนวณที่ สำนักงานได้รับร่วมกับ กรธ.ทดลองทำในขั้นของการร่างกฎหมาย ว่า สูตรดังกล่าวเป็นสูตรที่สอดคล้องกับสิ่งที่กำหนดในกฎหมายจริงหรือไม่ หากมีจุดอ่อนใดที่เคยมองข้าม ให้ปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสม และควรเร่งรีบนำเสนอผลการตัดสินใจเรื่องสูตรพร้อมเหตุผลสนับสนุนต่อสาธารณะ เพื่อรับฟังมุมมองต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ถูกต้องที่สุดก่อนที่จะนำไปใช้คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีกำหนดการประกาศผลวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๒ หากดำเนินการตามนี้ สังคมจะยอมรับและความวุ่นวายที่ตามมาจะไม่เกิดขึ้น สมชัย ศรีสุทธิยากร ๕ เมษายน ๒๕๖๒