ลานบ้านกลางเมือง/บูรพา โชติช่วง วัดมหาธาตุ เพชรบุรี สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก ตามโบราณราชประเพณี พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร 107 แห่ง 76 จังหวัด พร้อมกันในวันเสาร์ที่ 6 เมษายน วันจันทร์ที่ 8 เมษาฯ ตั้งพิธีน้ำอภิเษก ณ พระอาราม เจดียสถานสำคัญประจำจังหวัด วันอังคารที่ 9 เมษาฯ เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษาฯ นำน้ำสรงมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษก 76 จังหวัด มาเสกน้ำรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์กรุงเทพมหานคร (จากหอศาสตราคม พระบรมมหาราชวัง) ทำพิธีประกาศชุมนุมเทวดา ทำน้ำเทพมนตร์ เจริญพระพุทธมนต์ และทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ วัดสุทัศนเทพวราราม วันศุกร์ที่ 19 เมษาฯ แห่เชิญน้ำอภิเษก จากวัดสุทัศน์ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกอบพิธีพราหมณ์ (“ประมวลองค์ความรู้ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรม 2562) กล่าวสถานที่พลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จังหวัดเพชรบุรี กระทำพิธี ณ ท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี 1 ในแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ที่เรียก “เบญจสุทธคงคา” (โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป อินเดีย, อ้างแล้ว) ใช้ในการพระราชพิธีมาแต่โบราณราชประเพณี, สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร จากข้อมูลจดหมายเหตุ “เรื่องบรมราชาภิเษก” พระนิพนธ์ของ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (2514) (พระพรหมมุนี จัดพิมพ์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราช พระบรมราชูปถัมภกแห่งวัดราชบพิธ, 2562) ได้ให้รายละเอียดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (พ.ศ.2493) และประวัติน้ำอภิเษกของแต่ละแห่ง และสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก กล่าวสถานที่วัดไชยศิริ ความตอนหนึ่งว่า “..ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดท่าชัย ตำบลสมอพลือ อำเภอบ้านลาด (เดี๋ยวนี้เรียกวัดท่าชัยศิริ) ความสำคัญของน้ำที่วัดท่าชัยศิริ ตามที่สืบทราบมีว่า ในครั้งโบราณ เมื่อทัพไทยได้รบกับพม่า ทัพไทยได้แตกถอยมาถึงวัดใต้ ซึ่งมาเรียกกันภายหลังว่าวัดท่าชัย...ทหารในกองทัพไทยได้ลงดื่มน้ำที่ศาลาท่าน้ำของวัดนี้ แล้วกลับขึ้นไปยึดโบสถ์วัดใต้ เป็นที่มั่นทำการต่อสู้กับกองทัพพม่า กองทัพพม่าต้องแตกถอยหนีไป นามของวัดจึงเรียกกันว่าวัดท่าชัย และต่อมาเรียกว่าวัดท่าชัยศิริ ในกาลต่อมาพระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้น้ำที่ท่านี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตักส่งไปยังกระทรวงวัง และได้มาเลิกในสมัยปลายรัชกาลที่ 6...” ความสำคัญของสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก “วัดมหาธาตุ เป็นวัดเก่า ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ตามประวัติเท่าที่ปรากฏว่าสร้างขึ้นมาได้ประมาณเกือบ 1,900 ปี เดิมมีชื่อที่ราษฎรเรียกกันว่า “วัดหน้าพระธาตุ” หรือ “วัดหน้าประธาตุ” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2459 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ในจังหวัดเพชรบุรี ตรัสว่า “ชื่อวัดยังไม่ใคร่ได้ความแน่ชัดและเดิมน่าจะเป็นวัดหลวง” จึงทรงขนานนามใหม่ว่า “วัดมหาธาตุ” วัดนี้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 สร้างพระราชวังที่บนเขาวัง จึงได้ย้ายการทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาไปกระทำบนเขาวัง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้ย้ายมาทำพิธีที่วัดมหาธาตุตามเดิม ต่อมาได้เลิกพิธีถือน้ำนี้ วัดมหาธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระปรางค์ 5 ยอด (พระศรีรัตนมหาธาตุ) เป็นโบราณวัตถุ ใครเป็นผู้สร้าง สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏชัด พระปรางค์ 5 ยอดนี้ มีรูปทรงคล้ายคลึงแบบเขมร จึงเข้าใจว่าพวกเขมรเป็นผู้สร้าง ตามประวัติเท่าที่ปรากฏมีว่าสร้างมาประมาณ 1820 ปีเศษ (ถึงปี พ.ศ. 2493) พื้นล่างของพระปรางค์เป็นศิลาแลงอย่างโบราณ มีผู้กล่าวว่าสร้างมาพร้อมกับวัดกำแพงแลง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดเพชรบุรี พระปรางค์นี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ทั้ง 5 ยอด คือ ยอดใหญ่บรรจุพระสารีริกธาตุ พระปรางค์ 5 ยอดนี้ได้เคยชำรุดหักพังลงมาแล้ว 2 ครั้ง ซ่อมแซมใหม่สำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2479 วัดส่วนสูงได้ 27 วาเศษ ส่วนฐานวัดโดยรอบได้ 60 วาเศษ เป็นสถานที่ประชาชนเคารพสักการะบูชามาก และมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานไว้ในพระอาราม” (อ้างแล้ว) พระพุทธปฏิมาทรงราชาภรณ์ ภายในพระวิหารหลวง