ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.อยู่ที่ 80.6 ปรับลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน กังวลการเมืองหลังเลือกตั้ง-ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเป็นขาลงจนกว่าปัจจัยการเมืองจะชัดเจน คาดเศรษฐกิจขยายตัว 3.7-4% โดยทั้งปี 3.5-3.8% ส่งออกขยายตัว 4% นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมี.ค.62 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 80.6 เป็นผลมาจากผู้บริโภคยังคงมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เหลือร้อยละ 3.8 รวมถึงความวิตกกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจในอนาคต แม้ว่าจีนกับสหรัฐยังอยู่ในช่วงเจรจายุติปัญหาสงครามการค้า นอกจากนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคเหนือมีผลกับการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ โดยการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยเดียวในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในขณะนี้ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 67.6 โอกาสในการหางานทำอยู่ที่ระดับ 75.8 และรายได้ในอนาคตลดลงอยู่ที่ระดับ 98.4 ศูนย์พยากรณ์ฯ มีความเป็นห่วงสถานการณ์ความเชื่อมั่นจะปรับตัวเป็นขาลง เนื่องจากไม่มีปัจจัยบวกมากระตุ้น มองว่าในช่วงครึ่งปีแรกรัฐบาลชุดปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันนโยบายในการพยุงเศรษฐกิจให้สามารถรักษาเสถียรภาพไว้ให้ได้ จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และมีนโยบายในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน โดยศูนย์พยากรณ์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.5 ครึ่งปีหลังหากการเมืองมีเสถียรภาพ ยอมรับกติกาการเลือกตั้ง คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.7-4 โดยทั้งปีหอการค้าไทยยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5-3.8 และคาดการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4