รุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี และอันดับสองในรอบ 30 ปี โชคดีตกในทะเล ไม่มีใครเห็น มีเพียงดาวเทียมทหารสหรัฐที่จับได้ เผยความแรงระดับนี้เกิดได้น้อยมากในรอบร้อยปี ทั้งยังสร้างความสะพรึงให้ชาวโลก ด้วยยังมีดาวเคราะห์มากมายในห้วงอวกาศที่มีโอกาสจะวิ่งเข้าชนโลกให้วินาศได้ ทั้งยังตรวจพบได้เพียง 8 ชม.ก่อนเกิดเหตุเท่านั้น ขณะนักวิทย์ได้แต่หวังการเพิ่มจำนวนกล้องจับและระบบเฝ้าติดตามจะช่วยสกัดกั้นและแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.62 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เรื่องราวระทึกโลกที่ไม่มีใครได้เห็น โดยระบุ “เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงที่ระดับความสูง 25.6 กม. เหนือพื้นดิน บริเวณทะเลแบริ่ง นับว่ารุนแรงเป็นอันดับที่สองในรอบ 30 ปี และรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่การระเบิดเหนือเมืองเชเลียบินสค์ ประเทศรัสเซียเมื่อ 6 ปีก่อน แม้ไม่มีใครเห็นการระเบิดครั้งนี้ แต่สามารถตรวจพบได้ และรายงานไว้ในเว็บไซต์ศูนย์การศึกษาวัตถุใกล้โลก (Center of Near Earth Object Studies ; CNEOS) เมื่อดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก จะเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนจนลุกไหม้ ถ้าขนาดไม่ใหญ่มากจะเผาไหม้จนหมดไป เรียกว่า ดาวตกหรือผีพุ่งใต้ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่จะปรากฏเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) และถ้าลูกไฟนั้นสว่างกว่าดวงจันทร์เต็มดวงจะเรียกว่า โบไลด์ (Bolide) การระเบิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 เกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่กี่เมตร เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงถึง 32 กิโลเมตรต่อวินาที ทำมุม 7 องศากับพื้นโลก ระเบิดที่ระดับความสูง 25.6 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ทำให้ปลดปล่อยพลังงานออกมาถึง 173 กิโลตัน หรือรุนแรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง 10 เท่า พลังงานของการระเบิดครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 40 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหนือเมืองเชเลียบินสค์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โชคดีที่เกิดบริเวณทะเลแบริ่ง กลางมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ไม่มีผู้คนอาศัย จึงไม่มีรายงานการพบเห็นเหตุการณ์ในครั้งนี้และไม่ปรากฏเป็นข่าว อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมทหารของสหรัฐอเมริกาได้ตรวจพบแรงระเบิดดังกล่าวและส่งรายงานไปยังศูนย์การศึกษาวัตถุใกล้โลกของนาซา #สิ่งที่น่าสนใจ คือ การระเบิดที่รุนแรงระดับนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ในรอบหนึ่งร้อยปีอาจเกิดขึ้นเพียง 1 - 2 ครั้งเท่านั้น แม้ปัจจุบันจะติดตามการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยบางดวงได้แล้ว เช่น การค้นพบ 2018 LA เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ตรวจพบได้เพียง 8 ชั่วโมง ก่อนจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเท่านั้น ในอวกาศยังมีดาวเคราะห์น้อยจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ถูกค้นพบและมีโอกาสจะพุ่งชนโลก สามารถสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับโลกได้ ปัจจุบัน มีการศึกษาและทุ่มเทงบประมาณในการค้นหาและเฝ้าติดตามวัตถุใกล้โลกต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น นาซาตั้งเป้าสำรวจดาวเคราะห์น้อย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 140 เมตร ให้ได้ถึงร้อยละ 90 ของจำนวนวัตถุใกล้โลกที่มีอยู่ในอวกาศทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2563 แต่เป้าหมายดังกล่าวยังห่างไกลอยู่มาก นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเพิ่มจำนวนกล้องโทรทรรศน์และระบบเฝ้าติดตามให้มากขึ้น จะช่วยค้นหาวัตถุใกล้โลกทั้งหมดได้เร็วขึ้นและแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนที่วัตถุจะพุ่งชนโลก อ้างอิง : https://www.bbc.com/news/science-environment-47607696 เรียบเรียงโดย : สิทธิพร เดือนตะคุ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.” ** (สำหรับภาพประกอบข่าว : เป็นการเกิดระเบิดรุนแรงของดาวเคราะห์เหนือท้องฟ้าเมืองเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556)