ประกาศไปเป็นที่เรียบร้อย หลังรอคอยด้วยความใจจดใจจ่อ สำหรับ “นาม” แห่ง “รัชศก” หรือ “รัชสมัย” ของ “สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่” ของประเทศญี่ปุ่น หรือแดน “ซามูไร” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ปลาดิบ” ซึ่งทาง “หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี” คือ “นายโยชิฮิเดะ ซูกะ” ออกมาประกาศ กล่าวแถลงด้วยตนเองเลยว่า “เรวะ (Reiwa)” คือ “นาม” หรือ “ชื่อ” ใหม่ ของ “รัชศก” หรือ “รัชสมัย” ที่จะเรียกขานกันในแต่ละปีที่ “สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่” จะ “ทรงราชย์” นับจากวันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ก่อนที่ไม่กี่อีกอึดใจต่อมา ทาง “นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ” ออกมาแถลงซ้ำย้ำถึงนามใหม่แห่งรัชศกใหม่ที่จะมีขึ้นข้างต้น นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงเรื่องการประกาศนามใหม่ของรัชสมัย “เรวะ” โดยการประกาศของสองบิ๊กแห่งแวดวงการเมืองการปกครองของชาวเมืองปลาดิบนั้น ก็เสมือนหนึ่งการแถลงการณ์ถึงผลมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ร่วมกับคณะนักวิชาการของญี่ปุ่น ที่หยิบยกวาระเรื่องนามแห่งรัชศก รัชสมัยใหม่ ขึ้นมาพิจารณา เพื่อจะใช้เรียกขานช่วงขวบปีแห่งระยะเวลาการทรงราชย์ของ “เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น” วัย 58 พระชันษา ที่พระองค์จะทรงขึ้นมาครองราชย์เป็น “สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่” สืบราชบัลลังก์ต่อจาก “สมเด็จพระจักรพรรดิอากฮิโตะ” พระราชบิดาของพระองค์ ที่จะ “ทรงสละราชสมบัติ” ไปในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระองค์ ที่ทรงมีพระชนมายุมากแล้ว ถึง 85 พระชันษาแล้ว ซึ่งก็ต้องถือว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคใหม่ หรือกว่า 200 ปี ที่สมเด็จพระจักรพรรดิราช ทรงสละราชสมบัติไปเช่นนี้ โดยที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก่อนอีก 1 วันถัดมา คือ วันที่ 1 พ.ค. ก็จะเป็นวันเถลิงราชสมบัติของ “เจ้าฟ้าชาย มกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระจักรพรรดิพรองค์ใหม่” ของญี่ปุ่น เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งจะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิราช ภายหลังจากที่ทางการญี่ปุ่น ประกาศเข้าสู่ “รัชศก” หรือ “รัชสมัย” แห่ง “เรวะ” ตามที่ได้มีแถลงการณ์ประกาศไป ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา หรือก่อหน้าที่เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฏราชกุมารขึ้นครองราชย์ 1 เดือน และหลังสิ้นสุดแห่งรัชสมัย หรือรัชศก แห่ง “เฮเซ” อันเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระราชบิดาของพระองค์ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งญี่ปุ่น กล่าวถึงการประชุมพิจารณาถึงนามแห่งรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ บรรดาคณะรัฐมนตรีก็มีการเลือกสรรจากคำต่างๆ ที่เป็นสิริมงคล ไม่เว้นกระทั่งบทกวีนิพนธ์ของนักกวีคนสำคัญๆ ทั้งนี้ ในการเลือกสรรนามแห่งรัชสมัยครั้งนี้ ก็เป็นครั้งประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกันว่า เปลี่ยนแปลงจากการใช้ชื่อตัวอักษรจีน มาเป็นถ้อยคำจาก “มังโยชู” ซึ่งเป็นบทกวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น มาพิจารณาเลือกสรร ซึ่งเหล่านักภาษาศาสตร์ระบุว่า มิใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกันที่จะเลือกสรรคำที่มีความหมายอันลึกซึ้ง ที่สามารถสะท้อนอุดมคติแบบญี่ปุ่น แต่อ่านง่าย เขียนง่าย ด้วยตัวอักษา “คันจิ” เพียง 2 คำ เท่านั้น เบื้องต้นก็มีรายงานคาดการณ์ก่อนหน้าจากบรรดาผู้สันทัดกรณีว่า นามแห่งรัชศก หรือรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ อาจจะเป็ฯ “อังคิว” ซึ่งหมายถึง สันติสุขอย่างยั่งยืน แต่ปรากฏว่า หาใช่ไม่ โดยการประชุมพิจารณาเลือกสรร ก็ต้องบอกว่า เป็นไปอย่างทางลับที่สุด ซึ่งแม้แต่เหล่าคณะรัฐมนตรี และเหล่านักวิชาการทั้งหลายที่เข้าร่วมประชุม ก็ห้ามพกพาอุปกรณ์สื่อสาร อย่าง โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เข้าไปภายในห้องประชุม โดยต้องฝากไว้ที่ภายนอก เพื่อมิให้เกิดปรากฏการณ์ “ข่าวรั่ว” กันไปเสียก่อน กระทั่ง ได้คำว่า “เรวะ (Reiwa)” ตามมติในที่ประชุม ซึ่งตามความหมาย ก็ระบุแจกแจงว่า “เร (Rei)” หมายถึง “ความมีระเบียบ ความมีสิริมงคล” ส่วนคำว่า “วะ (wa)” หมายถึง “ความสามัคคี ความกลมเกลียว และความมีสันติภาพ” เมื่อเลือกสรรชื่อกันได้ ขึ้นตอนต่อไป ทางคณะรัฐมนตรีก็จะออกเป็น “พระราชกฤษฎีกา” ก่อนทูลเกล้าฯ ถวายให้ “สมเด็จพระจักรพรรดิ” ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยเห็นชอบต่อไป ความสำคัญของนามแห่งรัชศก หรือรัชสมัย ก็จะมีทั้งใน “เชิงปรัชญา” และ “เชิงปฏิบัติ” โดยใน “เชิงปรัชญา” ก็จะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงแรงปรารถนา อารมณ์ และความรู้สึกของประชาชนคนในชาติญี่ปุ่น ณ ห้วงเวลานั้นๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งความโดดเด่นของญี่ปุ่นด้านต่างๆ ในช่วงสมัยนั้นๆ ที่จะดำเนินตามรอยแห่งชื่อของรัชศกเพื่อให้เกิดผลดีทั้งในและต่างประเทศ ต่อไปนับจากนี้ ส่วนใน “เชิงปฏิบัติ” นามแห่ง “เรวะ” ของรัชสมัย ก็จะไปปรากฏทั้งในถ้อยแถลงแห่งการประกาศต่างๆ จากราชสำนัก เอกสารราชการ เช่น ปีแห่งเรวะเท่านั้น เท่านี้ ไปปรากฏบน “เหรียญกษาปณ์” บน “ปฏิทินญี่ปุ่น” ที่ใช้ควบคู่กับ “ปฏิทินแบบตะวันตก” ตลอดจนหนังสือพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย พนักงานกำลังตรวจสอบปฏิทินที่เพิ่งตีพิมพ์ หลังทางการประกาศนามใหม่แห่งรัชศก “เรวะ” อย่างไรก็ตาม แม้ในญี่ปุ่นนับจากนี้จะเป็นรัชสมัยแห่ง “เรวะ” พร้อมๆ กับสิ้นสุดแห่งรัชศก “เฮเซ” ทว่า ก็เป็นสิ้นสุดแต่เพียงชื่อเท่านั้น แต่นามแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ที่จะสละราชย์ ซึ่งเป็นรัชสมัย “เฮเซ” อันหมายถึง “สงบสุขทั่วทุกสารทิศ” ก็ยังคงอยู่ต่อไปในพระนามของพระองค์ นั่นคือ “สมเด็จพระจักรพรรดิเฮเซ” ซึ่งจะทรง ณ สถิตในดวงใจของชาวญี่ปุ่น และชาวโลก ในฐานะที่พระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม