สัปดาห์พระเครื่อง/ราม วัชรประดิษฐ์ พระกรุสำปะซิวจะมีเอกลักษณ์ เป็นแบบเนื้อดินแกร่งผสมกรวดทราย พระกรุนี้จะพบพิมพ์ท่ามะปรางค์และพิมพ์ซุ้มนครโกษาเป็นส่วนมาก วันนี้เราจะมาคุยกันถึงพระกรุของเมืองสุพรรณกันอีกสักหน่อย เป็นกรุที่มีความน่าสนใจอีกกรุหนึ่งก็คือกรุสำปะซิว ซึ่งพบพระอยู่หลายแบบและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ทั้งที่ชื่อของกรุเอง บางทีก็เรียกกันว่า กรุวัดสำปะซิว แต่ความเป็นจริงที่ในตัววัดแห่งนี้ไม่ได้มีการพบกรุพระสำปะซิวเป็นชื่อหมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และก็มีวัดสำปะซิวอยู่ก็จริง แต่พระบูชาและพระเครื่องที่พบนั้นไม่ได้พบในบริเวณวัดสำปะซิว แต่การพบพระบูชาและพระเครื่องนั้นพบอยู่ในเขตติดต่อกันกับวัดสำปะซิว อย่างพระเครื่องสำปะซิว นายดีซึ่งเป็นชาวบ้านแถบนั้น ได้ขุดพบพระเครื่องเนื้อดินกรุนี้เข้าโดยบังเอิญที่ริมรั้วบ้านของเขาเองซึ่งอยู่เหนือ ขึ้นไปจากวัดสำปะซิวสักไม่ถึง 50 เมตร และทางด้านทิศใต้ของวัดสำปะซิวก็เคยมีคนขุดพระพุทธรูปแบบลพบุรี เป็นสิบครั้งแต่ก็ไม่ได้พบในบริเวณวัดเลย ส่วนการเรียกชื่อนั้นมักจะเรียกกันว่า "พระกรุสำปะซิว" ตามชื่อย่านสำปะซิว จนกลายมาเป็น "พระกรุวัดสำปะซิว" ไปบ้างก็มี สันนิษฐานว่า บริเวณแห่งนี้น่าจะเป็นที่ชุมชนใหญ่มาแต่โบราณมาก่อน และอยู่อาศัยกันต่อมาจึงมีการสร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องมาโดยลำดับ ในส่วนของพระเครื่องนั้น นายดีขุดพบโดยบังเอิญ และได้นำพระขึ้นมาพบว่าเป็นพระเครื่องเนื้อดินเผาเกือบทั้งหมด พระที่พบนั้น มีอยู่หลายแบบ เช่น พระแบบพระท่า มะปรางค์ พระซุ้มนครโกษา พระนารายณ์ทรงปืน และพระแบบพระผงสุพรรณ เป็นต้น ครับก็เป็นเรื่องแปลกที่มีพระแบบพระผงสุพรรณที่พบที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วก็พบพระแบบท่ามะปรางค์ นอกจากนี้ยังพบพระซุ้มนครโกษา และพระนารายณ์ทรงปืน ศิลปะแบบลพบุรีในกรุเดียวกัน เมื่อพิจารณาเนื้อหาของพระซึ่งเป็นเนื้อดินเผาแล้ว เห็นว่าเป็นพระที่สร้างในครั้งเดียวกัน จึงสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นพระที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออู่ทองตอนต้น โดยสร้างล้อแบบพิมพ์ของศิลปะหลากหลายรูปแบบ ซึ่งคล้ายๆ กับพระที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ซึ่งก็พบพระหลายศิลปะอยู่ในกรุเดียวกันเช่นกัน จึงน่าจะเป็นพระที่สร้างในยุคสมัยเดียวกันกับพระกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ พระพิมพ์ท่ามะปรางค์ของกรุสำปะซิวนี้ พุทธลักษณะโดยรวมก็คล้ายๆ กับพระท่ามะปรางค์โดยทั่วไป แต่รายละเอียดขององค์พระก็เป็นเอกลักษณ์ของกรุนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็เหมือนกับพระพิมพ์อื่นๆ เช่น พิมพ์ซุ้มนครโกษา และพิมพ์นารายณ์ทรงปืนก็มีลักษณะโดยทั่วๆ ไปก็ละม้ายคล้ายเหมือนกับพระ ซุ้มนครโกษาของลพบุรี ส่วนพระพิมพ์ผงสุพรรณของกรุสำปะซิวเองก็คล้ายกับพระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ของกรุพระวัดพระศรีรัตมหาธาตุฯ มากเช่นกัน แต่ก็เป็นคนละพิมพ์กัน และมักจะมีปีกกว้างออกมาแบบมนๆ ไม่มีการตัดขอบ องค์พระก็จะดูตื้นๆ กว่าของกรุวัดพระศรีมหาธาตุฯ ส่วนเรื่องของเนื้อหานั้น พระกรุสำปะซิวก็จะมีเอกลักษณ์ เป็นแบบเนื้อดินแกร่งผสมกรวดทราย พระกรุนี้จะพบพิมพ์ท่ามะปรางค์และพิมพ์ซุ้มนครโกษาเป็นส่วนมาก พิมพ์นารายณ์ทรงปืนพบไม่มากนัก ส่วนพิมพ์ผงสุพรรณนั้นพบน้อยมาก และไม่ค่อยมีคนรู้จักกันนักครับ ในวันนี้ผมจึงได้นำรูปพระของกรุนี้มาให้ชมกันครับ เผื่อใครมีไว้ก็นับได้ว่ามีพระดีไว้คุ้มตัวครับ