คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น ข่าวและภาพ “พระภิกษุก้มกราบแม่” เป็นที่วิพากย์วิจารณ์ เมื่อหลายปีมาแล้ว (ประมาณปี 2558) คิดอยู่ในใจเสมอว่า สักวันหนึ่งจะเขียนถึง ไม่อยากเขียนถึงในเวลานั้นเพราะไม่อยากเข้าร่วมวงกับความขัดแย้งที่ทำท่าจะก่อตัวลุกลามด้วยทัศนะต่างๆ นานา บ้างก็ว่า ทำไม่ได้ ผิดวินัยพระ บ้างก็ว่า ทำได้ เพราะแม่เป็นผู้มีคุณธรรมควรแก่การกราบไหว้ของลูก (พุทธศาสนายกย่องพ่อแม่เป็นพระอรหันต์) ฯลฯ กล่าวถึง “วินัยพระ” อยากทำความเข้าใจ วินัยพระไม่ใช่ “ศีล” แต่เป็นข้อห้ามและข้ออนุญาต เพื่อฝึกตนให้มีความเรียบร้อยดีงาม โดยเฉพาะทางกายและวาจา เมื่อฝึกตนได้ดีแล้ว จึงเป็นศีล ข้อห้ามและข้ออนุญาตเพื่อฝึกฝนตนนี้ พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “สิกขาบท” (แปลว่า “บทฝึก”) ศีล 5 แต่ละข้อ พระพุทธเจ้าก็เรียกว่า “สิกขาบท” ไม่เรียกว่า ศีล ได้ยินพระรูปหนึ่งกล่าวว่า พระมีศีลของพระตั้งแต่แรกบวช นั่นเป็นความเข้าใจผิด แต่เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า สิกขาบทคือศีล แม้แต่เมื่ออาราธนาขอรักษาหรือประพฤติตามสิกขาบท เราก็เรียกว่า ขอศีล จึงมีคำว่า “อาราธนาศีล” แต่ความจริงคือ อาราธนา (ขอ) สิกขาบท เมื่อเป็นคนมีศีลแล้ว ก็ไม่ต้องขอประพฤติสิกขาบท การบวชเป็นพระ คือการเข้าไปฝึกตนด้วยสิกขาบท เมื่อห่มผ้ากาสาวพัสตร์ในวันบวช แสดงว่าได้มอบตนให้แก่พระอุปัชฌาย์ ไม่ใช่ว่า เป็นพระผู้ทรงศีลในทันที กรณี “พระกราบแม่” นั้น ได้คำตอบใน 3 มุม คือ การกราบเป็นวัฒนธรรมไทย ภาพพระที่กราบโยมแม่ เป็นการกราบแบบไทย เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มากกว่าการประนมมือไหว้ (อัญชลี) พระสงฆ์แสดงความเคารพต่อแม่ เป็นการแสดงความเคารพตามวัฒนธรรมไทย ชาวพุทธไทยแสดงการกราบด้วยการคุกเข่าลงกับพื้น พร้อมกับประนมมือก้มลงที่พื้น ถ้ากราบพระ นิยมกราบ 3 ครั้งและมือที่ประนมก้มลงที่พื้น นิยมวางราบลงกับพื้น ถ้ากราบคนนิยมกราบหนเดียว ถ้ากราบศพนิยมกราบหนเดียวเช่นกัน แต่มือที่ประนมไม่วางราบลงกับพื้น กิริยาของพระที่กราบแม่ เป็นการแสดงความเคารพแบบวัฒนธรรมไทย ไม่น่าจะผิด แต่ก็ไม่สมควรถ่ายภาพเผยแพร่ เพราะชาวพุทธไทยทั่วไปไม่นิยมและไม่เคยเห็นพระกราบฆราวาส การที่พระไม่กราบ (และไม่ไหว้) ฆราวาส เพราะมีพุทธบัญญัติระบุไม่ให้พระภิกษุกราบ (และไหว้) มาตุคามหรือผู้หญิง ตลอดถึงบุคคลบางประเภท และคนถือลัทธิอื่น (ซึ่งล้วนแต่อยู่ในเพศฆราวาส) ให้ถือว่า พระภิกษุอยู่ในอุดมเพศ (ฐานะที่สูงกว่า) ส่วนฆราวาสอยู่ในหีนเพศ (ฐานะที่ต่ำกว่า) มุ่มที่ 1 นี้เป็นวัฒนธรรม การแสดงความเคารพของไทย ด้วยการกราบ เป็นวัฒนธรรมไทยที่ได้จากธรรมเนียมในสิกขาบท ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เป็นขอปฏิบัติระดับ “ไม่ควร” ถ้าเป็นอาบัติ ก็เป็นอาบัติ “ทุกกฎ” คือเป็นการกระทำที่ไม่สมควร-ดูไม่งาม เมื่อเป็นวัฒนธรรม จึงเป็นการประยุกต์หรือ ปรุงแต่งให้น่านิยม ตามวัฒนธรรมไทย ไม่นิยมให้พระไหว้-กราบ หรือแม้แต่รับไหว้ด้วยการไหว้ตอบคฤหัสถ์ พระมหากษัตริย์ของไทย ก็ถือวัฒนธรรมอย่างพระ จึงไม่ทรงไหว้ตอบพสกนิกร หรือคนทั่วไป ต่างจากพระราชาในบางประเทศ น่าสังเกตว่า พระราชาในบางประเทศนั้นเมื่อเสด็จมาที่ไทยก็ถือตามวัฒนธรรมไทย คือไม่มีการยกพระหัตถ์นบไหว้คนทั่วไปเหมือนที่ทรงทำในประเทศของพระองค์ การที่พระกราบแม่ เป็นการไม่ควรตามวัฒนธรรมไทย เมื่อรู้ที่มา ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ความถูก-ความผิด แต่เป็นความนิยม-ไม่นิยม หรือความเหมาะสม-ไม่เหมาะสม มุมที่ 2 คือวินัยสงฆ์หรือสิกขาบท แม้การกราบไหว้ ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมควรแก่ฐานะ เป็นเพียงอาบัติเล็กน้อยสำหรับพระภิกษุ (คืออาบัติ “ทุกกฎ” ) แต่พระภิกษุก็ต้องถือปฏิบัติด้วยความเคารพ อาบัติทุกกฎ เป็นอาบัติ (โทษ) อย่างเบา แก้ไขได้ด้วยการแสดงหรือ “ปลง” อาบัติ แต่พระภิกษุที่เคารพในสิกขาบทที่ทางบัญญัติก็จะสำรวมระวังเสมอ เพราะถือว่าการละเมอดบ่อยๆ ชนิด “พร่ำเพรื่อ” ก็เป็นการไม่เคารพในสิกขาบท ถือเป็นความผิดร้ายแรงได้ฐานไม่สำรวมระวัง การกราบ แม่ของพระ ถ้าทำในที่รโหฐาน (ในที่อยู่ส่วนตัว) ไม่จงใจแพร่ภาพตามที่เห็น ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร (ถ้าเป็นอาบัติทุกกฎเพราะกราบไหวคฤหัสถ์หรือผู้หญิง ก็ปลงอาบัติ เพื่อสำรวมระวังไม่กระทำอย่างนั้นอีก) อันที่จริง การแสดงเคระต่อพ่อแม่ ก็ไม่ใช่ต้องกราบยไหว้เท่านั้น การเป็นพระที่ดี ก็เป็นการแสดงความเคารพต่อพ่อแม่ทางหนึ่ง วัดที่ความชื่นใจและความปลาบปลื้มของแม่ พระพุทธเจ้าสอนให้พระตอบแทนคุณของพ่อแม่ ด้วยการสอนธรรมะแก่พ่อแม่ เมื่อสามารถชักนำท่านให้มาเคารพหรือนับถือพระรัตนตรัย ก็ถือเป็นการตอบแทนคุณอย่างแท้จริง อย่างที่พระสารีบุตรเทศน์สอนโยมแม่ให้เป็นสัมทิฏฐิ (เปลี่ยนจากถือลัทธิมานับถือพระรัตนตรัย) การที่พระไปรับบิณฑบาตกับโยมแม่ในวันแม่ (ตามที่เป็นข่าว) นั้นถึงไม่ก้มกราบโยมแม่ แม่ก็ได้บุญมากแล้ว ยิ่งพระก้มกราบแม่อย่างนั้นแม่ก็คงร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ ที่ได้เห็นพระ(ลูก) สำนึกในพระคุณของแม่ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องถ่ายภาพแพร่ภาพให้คนอื่นเห็น เพราะการทำอย่างนั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมที่คนทั่วไปคุ้นเคย อีกมุมหนึ่ง ที่ควรทำความเข้าใจ คือ ด้าน “ปรมัตถธรรม” ที่หมายถึงความจริงแท้ที่ไม่คขึ้นกับสมมติใดๆ พุทธศาสนา (คำสังสอนของพระพุทธเจ้า) คือ “ธรรม” และ “วินัย” ส่วนที่เป็นธรรม คือความจริงซึ่งมีอยู่โดยตัวมันเอง พระพุทธเจ้านำมาแสดงหรือเปิดเผยให้เข้าใจได้ ส่วนวินัย (หรือสิกขาบท) เป็นข้อบัญญัติพระพุทธเจ้าตั้งเป็นกฎระเบียบให้ประพฤติปฏิบัติ เทียบได้กับ “กฎหมาย” จะมีกี่ข้อกี่อย่าง ย่อมไม่ตายตัว พระพุทธเจ้าตั้งเป็นกฎระเบียบตามความเหมาะสมแก่กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว กล่าวให้ชัดขึ้น สิกขาบทหรือวินัยสงฆ์เป็นธรรมประเภทสมมติ (บัญญัติขึ้น) มีโทษานุโทษตามข้อบัญญัติ ถ้าไม่บัญญัติว่าไม่มีโทษก็ไม่มีโทษ (ไม่เป็นความผิด) จึงเรียกว่า “สมมติบัญญัติ” หรือ “สมมติธรรม” การห้ามพระกราบคฤหัสถ์ เป็นสมมติธรรม คือเป็นธรรมที่บัญญัติขึ้น (เป็นสิกขาบท) ส่วน “ปรมัตถธรรม” เป็นความจริงในตัวมันเอง การกราบการไหว้ หรือการแสดงความเคาระ เป็นวัฒนธรรม เกิดขึ้นโดยการบัญญัติ (เป็นระดับสิกขาบท) เมื่อกล่าวว่า โดยปรมัตถธรรม การที่พระกราบแม่ ไม่ผิด คือไม่ผิดโดยความเป็นธรรม การแสดงความเคาระด้วยความสำนึกในคุณ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง จึงไม่ผิด แต่อย่าลืมว่า ในความเป็นจริง เราไม่ได้อยู่กับธรรม (หรือปรมัตถธรรม) ทว่า อยู่กับวัฒนธรรม สิกขาบท ฯลฯ ที่บัญญัติขึ้นด้วยถ้ายึดถือแต่ธรรมหรือความจริงแท้ล้วนๆ ก็จะเป็นคนไม่มีวัฒนธรรมของสังคม เป็นคนไม่มีระเบียบวินัยควบคุม ไม่มีพระ ไม่มีคฤหัสถ์ พุทธศาสนาก็คงดำรงอยู่ไม่ได้ คนที่ยึดถือ “ธรรม”อย่างเดียว ไม่ให้ความสำคัญแก่ระเบียบวินัย วัฒนธรรม สิกขาบท ฯลฯ คงจะอยู่ในสงคัม (ของตน) ไม่ได้ จึงเห็นว่า “พรกราบแม่” นั้น ผิดหรือไม่ผิดอย่างไร ขึ้นอยู่กับมุ่มมอง มองด้วยวัฒนธรรมก็อย่างหนึ่ง มองด้วยสิกขาบท (วินัยสงฆ์) ก็อย่างหนึ่ง มองด้วยธรรม (หรือ ปรมัถธรรม) ก็อย่างหนึ่ง