เริ่มแล้วกับกฎหมาย “พ.ร.บ.ภาษีอีเพย์เมนต์” ที่ว่าด้วยตามที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 เป็นต้นไป ซึ่งทาง “สรรพากร” ต้องการที่จะตรวจสอบทุกบัญชีแบงก์ตั้งแต่ปีนี้ รวมถึงเตรียมที่จะเสนอกระทรวงการคลังออกกฎหมายลูกเป็นแนวปฏิบัติให้ “แบงก์-อีมันนี่” ส่งข้อมูล “ธุรกรรมพิเศษ” ยันฝาก/โอนเข้า บัญชีตัวเองต้องนับด้วย หวังจัดกลุ่มผู้เสียภาษีเพื่อให้บริการ
ทั้งนี้เหตุผลที่ทาง “สรรพากร” นำกฎหมายมาใช้นั้น “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้พยายามขยายฐานภาษี และจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ได้มากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า ทำได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อนำไปเปรียบเทียบ กับจำนวนประชากรทั้งประเทศ 60-65 ล้านคน ซึ่งมีคนไทยอยู่ในวัยทำงานถึง 35 ล้านคน แต่เสียภาษีให้แก่รัฐไม่ถึง 10 ล้านคน อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหน้าเก่าที่ค้าขายอยู่ตามท้องถนน หรือแม่ค้าหน้าใหม่ จำเป็นต้องผันตัวมาขายของในระบบ “ออนไลน์” เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจยุค “ดิจิทัล”
แต่ในขณะนี้เกิดมีประเด็นปัญหาใหม่คือ การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-payment) หรือ “พ.ร.บ.อีเพย์เมนต์” ดังนั้นทางกรมสรรพากรจะ เร่งดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในเดือนเมษายนนี้ สำหรับกฎหมายลำดับรองหลัก ๆ มี 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. กฎกระทรวง เพื่อรองรับการนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ,2.กฎกระทรวง เพื่อรองรับการหักภาษีและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) และ 3.ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อรองรับการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/eReceipt) และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)
โดยกรณีการนำส่งธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่จะต้องรายงานข้อมูลของธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะหมายถึง 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปีต่อธนาคาร และ 2.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวม 2,000,000 บาทขึ้นไปต่อปี ต่อธนาคาร ทั้งนี้ จะต้องรายงานครั้งแรก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 (ข้อมูลธุรกรรมของปี 2562)
และหากผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ไม่รายงาน กรมสรรพากรมีอำนาจลงโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และ ปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน จนกว่าจะแก้ไขและปฏิบัติให้ถูกต้อง รวมถึงปรับปรุงอัตราโทษ กรณีเจ้าพนักงานเปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษี หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ปิ่นสาย สุรัสวดี” รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า การออกกฎหมายลูกจะต้องดำเนินการภายใน 180 วัน ซึ่งจะกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ ชัดเจนสำหรับการให้แบงก์และอีมันนี่รายงานข้อมูลธุรกรรมพิเศษ
อย่างไรก็ตามการรายงานดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลเพิ่ม เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษีออกมา แล้วแบ่งผู้เสียภาษีออกเป็นกลุ่ม ๆ คือ 1.กลุ่มที่เสียภาษีอยู่แล้ว แต่มีความเสี่ยงที่จะเสียภาษีไม่ครบถ้วน ,2.กลุ่มที่เสียภาษีอยู่แล้ว แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่เสียภาษี ,3.กลุ่มที่ไม่เคยเสียภาษีเลย และมีความเสี่ยงที่จะหนีภาษี และ 4.กลุ่มไม่เคยเสียภาษี แต่ไม่มีความเสี่ยงที่จะหนีภาษี
"กลุ่มที่มีนัยทางภาษีแล้วไม่เสี่ยงก็คือ กลุ่มเด็กดี ก็จะเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น เช่น มีช่องทางพิเศษ คอลเซ็นเตอร์ หรือ คืนภาษีเร็ว ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงก็อาจจะเข้าไปตรวจสอบ ให้ความรู้ หรือกำกับโดยใกล้ชิดรายตัว เข้าประกบ ทั้งนี้ ก็จะเหมือนแบงก์ คือ เราจะได้หาโปรดักต์ที่เหมาะสมให้กับผู้เสียภาษี เพราะเราไม่อยากให้มาตรการเดียวกันหมด ระหว่างคนดี กับคนไม่ดี"
ปิ่นสาย กล่าวด้วยว่า กฎหมายที่ออกมาไม่ใช่การไปไล่เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ แต่กฎหมายบังคับใช้กับบัญชีเงินฝากทั้งหมด ซึ่งการพิจารณาจำนวนธุรกรรมจะดูเป็นรายแบงก์ โดยรวมทุกบัญชีที่อยู่ในแบงก์เดียวกัน และในกรณีฝาก/โอนเข้าบัญชีตัวเองก็นับด้วย ส่วนบัญชีต่างแบงก์จะไม่นำมานับรวม ทั้งนี้ การให้เริ่มเก็บข้อมูลหากจะให้เป็นธรรมกับผู้มีหน้าที่ส่งรายงาน ก็ต้องให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีประกาศแนวปฏิบัติออกไป ซึ่งอาจจะในอีก 1-3 เดือนหลังจากนี้
“ยืนยันว่าคนที่ค้าขายและเสียภาษีตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งหากทำถูกต้องตั้งแต่ต้น ไม่ทำบัญชีหลบหนีภาษี 2 เล่ม หรือ 3 เล่ม ก็จะไม่ถูกกรมสรรพากรตรวจภาษีย้อนหลังอย่างแน่นอน หรือให้ผู้ซื้อจ่ายเงินปลายทาง ก็ไม่สามารถที่จะหลบหนีภาษีได้ เพราะตราบใดที่ผู้ค้ายังคงใช้บริการฝากเงินกับสถาบันการเงิน และหากได้ฝากเงินเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว สถาบันการเงินก็ยังมีหน้าที่ในการส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังกรมสรรพากรอยู่ดี เพื่อนำไปติดตาม และตรวจสอบการเสียภาษีของผู้ประกอบการที่ไม่สุจริตมากกว่าที่จะไล่ล่าคนที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง”
สอดรับกฎหมายอีเพย์เมนต์ที่มีผลบังคับใช้ “ธ.กรุงไทย” พร้อมนำส่งข้อมูลธุรกรรมโอนเงินและรับฝากเงิน เกิน 2 ล้านบาทต่อปี ให้สรรพากหลังลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยคัดกรองพฤติกรรมผู้ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีบัญชีเงินฝากประมาณ 60 ล้านบัญชีจากเจ้าของบัญชี 30 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด พร้อมระบุว่า กฎหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายผู้ประกอบการบัญชีเดียว ซึ่งช่วยให้การทำธุรกรรมใด ๆ บนโครงข่ายการเงินดิจิทัลถูกเก็บบันทึกอย่างเป็นระบบสามารถใช้เป็นหลักฐาน ยื่นเอกสารขอสินเชื่อผ่านโมบายแอปพลิเคชัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ
ปัจจุบัน ผู้ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปบริษัท จะต้องยื่นแบบแสดงเงินได้บุคคลธรรมดาโดยกรอกรายได้ ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการค้าขาย และยื่นภาษี 2 ครั้ง ได้แก่ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 คือ ช่วงนี้ ถึงวันที่ 9 เม.ย.62 กรณียื่นแบบฯออนไลน์ และยื่นภาษีกลางปี หรือ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. ซึ่งเป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกโดยค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งในปีภาษี 2562 กรมสรรพากร ตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน หลังลงทุนด้านเทคโนโลยี มาปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการจัดเก็บภาษีตามนโยบายรัฐบาล
ขณะที่ผู้ค้าธุรกิจออนไลน์ แสดงความเห็นถึงกฎหมายอีเพย์เมนต์ที่ประกาศใช้ในครั้งนี้ โดย “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com กล่าวว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์กำหนดให้ธนาคารรายงานความเคลื่อนไหวทางบัญชีถือว่าขัดนโยบายดิจิตอล ไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลต้องการส่งเสริมการค้าออนไลน์ ผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่กฎหมายอีเพย์เมนต์ทำให้คนลังเลว่าจะเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสดหรือไม่ เพราะกลัวการตรวจสอบ โดยมีความเห็นว่าควรชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไป 2 ปี เพื่อให้ระบบการชำระเงินออนไลน์เติบโตเต็มที่ก่อน
เช่นเดียวกับ “ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ฟรีชื่อ LnwShop (แอลเอ็นดับเบิลยูช็อป หรือเทพช็อป) กล่าวว่า ร้านค้าออนไลน์สอบถามถึงกฎหมายอีเพย์เมนต์กันมาก เพราะกลัวว่าจะถูกเก็บภาษี เนื่องจากที่ผ่านมาเคยชินไม่ต้องเสียภาษี โดยมีความเป็นห่วงว่ากฎหมายไม่ได้มาพร้อมกับความรู้ว่าจะเข้าระบบอย่างไร เพราะคนขายของออนไลน์ส่วนใหญ่จะคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ของขายได้ ไม่ค่อยมีใครมาคิดว่าจะต้องเก็บเอกสาร ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อไว้เสียภาษี ดังนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐให้ความรู้กับผู้ค้าออนไลน์ ก่อนกฎหมายจะมีผลในปี 2563