การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน การเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเชียน (AFTA) ที่เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2553 นั้น ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับสินค้ากาแฟที่ต้องลดภาษีการนำเข้าเป็น 0% ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเชียน ซึ่งเป็นผลให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ผ่านมา เขตการค้าเสรีอาเชียนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 เกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยจัดให้กาแฟเป็นสินค้าอยู่ในประเภทอ่อนไหว พร้อมทั้งมีมาตรการปกป้อง ภาคการผลิตกาแฟภายในประเทศ อีกทั้งยังได้มีเงื่อนไขการนำเข้ากาแฟอีกหลายประการ แต่เมื่อการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน หรือ AEC เต็มตัว กาแฟจะเข้าสู่การแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเป็นอย่างมาก ดังนั้นทางรอดของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ คือเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการปรับตัวในเรื่องต่างๆ ดังนี้ 1.เพิ่มประสิทธิภาพให้พื้นที่ปลูกกาแฟ ต้องเสริมสร้างรากฐานการผลิตกาแฟให้มีประสิทธิภาพ เช่น ต้นทุนต่ำ ผลผลิตต่อไร่สูง ผลผลิตมีคุณภาพ และปริมาณผลผลิตสม่ำเสมอ เป็นต้น โดยจัดการระบบ ชลประทานในพื้นที่ขาดแคลนน้ำให้มีน้ำเพียงพอในช่วงที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก กาแฟ วิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งประเทศ คุณสมบัติของดิน สภาพอากาศ และประเมินความรู้ความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพื่อดำเนินการจัดอบรมความรู้ให้เกษตรกรในแต่ละพื้นที่ 2.เพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ ปรับปรุงต้นกาแฟที่เสื่อมโทรม โดยการตัดต้นกาแฟเพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ หรือที่เรียกว่าการทำสาวกาแฟ และพัฒนาประสิทธิภาพดิน เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตและทำให้กาแฟมีคุณภาพ โดยการสำรวจพื้นที่เพาะปลูกกาแฟ วิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรดินเพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมและประสิทธิภาพของ ดินในแต่ละพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูลลักษณะของดินในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก จัดทำแปลงสาธิตและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร 3.รักษาคุณภาพผลผลิตกาแฟ ปรับปรุงกาแฟสายพันธุ์ใหม่ให้มีปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์เก่า สามารถต้านทานโรคพืชต่างๆ ได้ดีกว่า ส่งเสริมให้เกษตรกรกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานเพื่อลดการใช้สารเคมี จัดทำคู่มือแจกให้เกษตรกรทราบวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการรักษาคุณภาพของกาแฟไทยให้ปลอดสารพิษ พัฒนาการผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน GAP(Good Aquaculture Practice) โดยการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟ จัดเวทีชุมชนเพื่อวิเคราะห์สภาพพื้นที่ ปัญหา ความต้องการเกษตรกร แนวทางการพัฒนาเฉพาะพื้นที่ 4.ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแซม เช่น สะตอ ไม้ผล เป็นต้น เพื่อรักษารายได้ ลดความเสี่ยงและแรงกดดันของรายได้ในกรณีราคากาแฟตกต่ำ รวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้มีการซื้อวัตถุดิบในการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี เป็นต้น ในปริมาณมาก ซึ่งจะได้ราคาถูกกว่า รวมทั้งเป็นการเฉลี่ยต้นทุนด้านการขนส่งวัตถุดิบ และเมล็ดกาแฟ 5.การเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมการบริโภคกาแฟ รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้คนไทยบริโภคกาแฟไทย รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนและผู้ประกอบการร้านกาแฟรายย่อยได้ทราบถึงประโยชน์ ของการดื่มกาแฟที่มีคุณภาพ และเทคนิคในการเลือก 6.การสร้างเอกลักษณ์ของกาแฟไทย กำหนดเอกลักษณ์กาแฟไทย ทั้งกลิ่น รสชาติ และถิ่นที่ปลูก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ หรือออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำได้ว่ากาแฟไทยมีกลิ่นและรสชาติอย่างไร รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มสร้างตราสินค้าของตนเอง โดยให้สถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่สนเข้าร่วมสร้างตราสินค้าและรูป แบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว 7.การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูป เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ ข่าวสาร และแหล่งข้อมูลให้เกษตรกร เช่น การส่งข้อความสั้นผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ทางไปรษณีย์ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรทราบและหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เอง จัดการประชุมร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้ผลิตกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย เพื่อร่วมกันกำหนดราคาขายเมล็ดกาแฟที่เหมาะสม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านอื่นๆ เช่น คุณภาพเมล็ดกาแฟที่ต้องการความต้องการเมล็ดกาแฟปีหน้า เป็นต้น ทำให้ความสัมพันธ์เข้มแข็ง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดระนอง ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จึงได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตกาแฟคุณภาพ การส่งเสริม การลดต้นทุนด้านการผลิต และเชื่อมโยงเครือข่าย ประจำปี 2562 ขึ้น ในวันที่ 26-27 มีนาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้การผลิต การตลาดกาแฟคุณภาพ ตลอดจนการลดต้นทุนด้านการผลิตให้แก่สถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจกาแฟ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการตลาดกาแฟคุณภาพ ให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรกระบุรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตกระบุรี จำกัด และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ระนอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์ จำนวน 36 คน ศึกษาดูงานการลดต้นทุนการผลิต เช่น การทำปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ การคลุมโคน ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ากาแฟโดยการแปรรูป สร้างอัตลักษณ์กาแฟไทย ณ กาแฟลุงเหนอ และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ จังหวัดชุมพร เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้การผลิต การตลาดกาแฟคุณภาพ ตลอดจนการลดต้นทุนด้านการผลิต และมีแนวทางในการผลิตกาแฟคุณภาพ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกาแฟคุณภาพ จากการศึกษาอบรมและจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและลดต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกเกิดแนวคิดที่จะพัฒนา ปรับปรุงและสร้างมูลค่าเพิ่มกาแฟของจังหวัดระนอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน หรือ AEC อย่างเต็มตัว