ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จังหวัดตรัง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปยังศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง พร้อม นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรังพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่ราชการจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ให้การต้อนรับและร่วมประชุมปรึกษาหารือ ในการส่งเสริมศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านการเกษตร และเป็นศูนย์ขององค์ความรู้ทางการเกษตร ด้วยการก่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้ทางด้านพืชสวน โดยเฉพาะพื้นที่อ่างเก็บน้ำภายในศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ มีการปลูกต้น สะตอพันธุ์ตรัง 1ตลอดขอบแนวอ่าง โดยให้ผลผลิต ประมาณ 3-4 ปี สามารถออกผลนอกฤดู ลำต้นไม่ใหญ่ ไม่สูงสามารถเก็บสะตอได้ไม่ยาก ลำต้นไม่สูง ฝักแน่น ฝักตรง ซึ่งจะทำให้ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นายชวน กล่าวว่า ตนมีแนวคิดผลักดันศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ให้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวของจังหวัดตรังอีกแห่งหนึ่ง เพราะเป็นการช่วยเสริมรายได้ เกษตรกรให้คนมาเที่ยวที่นี่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำโครงการ ก็ได้ของบประมาณไป ได้คุยกันก็ได้ประสานมายังผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ได้ชวนท่านมาดูที่นี่ ว่าบริเวณนี้เราจะทำบริเวณอ่างเก็บน้ำที่ชลประทานได้ขุดไว้ให้ จะปลูกสะตอไว้ให้รอบๆ 50 กว่าไร่ ก็จะทำให้เป็นศูนย์ที่ สัก 2-3 ปีข้างหน้า เผื่อสะตอโตขึ้น และมีฝักมีดอก เมืองใต้ดอกไม้ไม่สวย อากาศชื้น ต้นไม้มีใบเขียวสวย แต่ดอกไม่ค่อยออก ถ้าเป็นสะตอก็ไม่มีปัญหาจะออกดอกสวยๆคิดว่าน่าจะดึงนักท่องเที่ยวมาได้ มาประมูล มาซื้อแต่ฝักสะตอได้ วันนี้เลยเชิญผู้ว่าฯมาช่วยดูงบประมาณควรจะจัดอะไรที่เหมาะสม ด้านนายลือชัย กล่าวว่า ในศูนย์วิจัยพืชสวนของตรังถือว่าเรามีของดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะงานวิจัยด้านการเกษตร ตนคิดว่าน่าจะต่อยอดได้มากกว่านี้ และได้รับความกรุณาจาก นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ฯ พิจารณางบประมาณให้ ซึ่งตนก็ได้ปรึกษาชวน หลีกภัย เนื่องจาก นายชวนเป็นคนเริ่มต้นผลักดัน งานวิจัยของศูนย์วิจัยพืชสวนมันน่าจะมีการต่อยอดและมีการเผยแพร่ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่างานวิจัยเฉพาะตัวพืชอย่างเดียว แต่ตัวองคาพยพที่เกี่ยวกับเกษตรกรก็ต้องได้รับการวิจัยด้วย ยกตัวอย่างเรื่องสะตอ เป็นพืช อัตลักษณ์สำคัญของพื้นที่ที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน “คิดว่าตรงนี้ควรจะส่งเสริมโดยใช้งานวิจัย ตนเอง พืชหลัก ๆ ไม่ว่าสะตอ หรือเหนียง หรือพืชอื่นๆ ควรจะเป็นแหล่งเรียนรู้ของพี่น้องเกษตรกร เพราะว่าวันนี้เราจะได้ไปเสริมพืชหลักที่มีอยู่ ไม่ว่าปาล์ม หรือยางก็ตาม ศูนย์การเรียนรู้ในงานวิจัยซึ่งตรงกับฟังก์ชั่นของสถานที่แห่งนี้ด้วยมันไปได้ เชื่อว่า เราใช้เวลา 2-3 ปี จังหวัดตรังนำพืชประจำพื้นที่ของเรา ต่อยอดไปยังพี่น้องประชาชน จังหวัดตรังมีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ซึ่งที่นี่เขาทำในเรื่องของการปกปัก การรักษาพันธุ์พืชประจำถิ่นไว้ อันที่สองตนมองว่าเราปกปักรักษาอย่างเดียวไม่พอ ควรจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เป็นทางเลือกของพี่น้องประชาชนในชุมชนได้ ซึ่งก็ได้ทราบจากทางศูนย์ฯ ว่า ได้ทำโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากทำเพิ่มเติมก็คือ เรื่องฐานทรัพยากร ตรงนี้จะทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่และก็นำไปสู่การขยายผลในชุมชนได้ ตนอยากให้ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังของเราเป็นแหล่งเรียนรู้และนำไปใช้จริง เพื่อเพิ่มรายได้” นายลือชัย กล่าว