“ผมว่าปัญหาทุกอย่าง เราในนามผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่คิดการแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวเองก่อน อย่างปัญหางบประมาณน้อย บุคคลากรน้อยแล้วไปร้องขอต่อผู้บังคับบัญชา เสนอเป็นอุปสรรคในการทำงานต่อผู้บังคับบัญชา ผมไม่เคยร้องขอในเรื่องเหล่านี้ ผมว่ามันอยู่ที่ศักยภาพของผู้บริหาร ว่าเราจะทำงานในภาวะที่มีทรัพยากรจำกัดให้งานมีผลสำเร็จได้อย่างไร”
“สยามรัฐ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “จิรชัย มูลทองโร่ย” ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ถึงการขับเคลื่อนภารกิจในฐานะหน่วยงานรัฐ ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับ “ศูนย์อำนาจ” อย่างคือคณะรัฐมนตรี ที่มีผู้นำรัฐบาลคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ยังน่าสนใจว่าที่ผ่านมานั้นสปน.ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความที่สำคัญอย่าง “คดีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว” กลายเป็นประเด็นร้อนๆมาแล้ว รวมไปถึงหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ จากประชาชน อย่างต่อเนื่อง
- ภารกิจของงานสปน.หลักๆ คืออะไร มีความแตกต่างไปจากงานของ กระทรวงและหน่วยงานรัฐ อื่นๆอย่างไร
ภารกิจของสปน. จะมีมิติแตกต่างจากกระทรวงทบวง กรม อื่นๆ โดยสปน.ไม่ได้ทำงานอยู่ในเฉพาะสังกัดของสปน.เท่านั้น ยังมีการประสานบูรณาการกับภาคส่วนอื่น ได้แก่ บูรณาการภายในสปน.ด้วยกัน ที่มีอยู่ 14 หน่วยงาน บูรณาการทำงานกับหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยกัน คือสำนักงานการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมประชาสัมพันธ์ และประสานงานนกับทุกกระทรวง โดยสปน.จะประสานงานในเชิงนโยบาย เรื่องการติดตามงานแต่ละกระทรวงปีละ 2 รอบ คือในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. และในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ซึ่งในปีนี้จะมีการติดตามการแก้ไขปัญหาขยะ เรื่องเศรษฐกิจฐานราก เป็นต้น
นอกจากนี้สปน.ได้รับมอบหมายจากครม.ให้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบความโปร่งใสเรื่องการชะลอการรับซื้อข้าวเปลือกจากยุ้งฉาง ขณะที่นโยบายการติดตั้งกล้องซีซีทีวี สปน.ก็เป็นแกนกลางในการประสานกับกระทรวง นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงดำริให้มีการดำเนินการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีสปน.เป็นแกนกลางในการดำเนินการด้วย
ขณะเดียวกันภารกิจสำคัญของสปน.อีกสิ่งหนึ่งคือ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนปีที่ผ่านมาเรามีความพึงพอใจ ที่สามารถยุติเรื่องลงได้ถึงร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังรับผิดชอบงานการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น โดยเป็นตัวประสานความร่วมมือหลายหน่วยงานมีหน้าที่ติดตามงาน รับฟังปัญหาของท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรม
อีกส่วนสำคัญคือเรื่องแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการ การขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่รัฐบาลมอบงบประมาณสนับสนุนใน 7ยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันเรื่องการเรียนรู้ การดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจากปี 52 จนถึงปัจจุบัน เรามีงบประมาณตกค้างกว่า 7 พันล้านบาท รัฐบาลยุคนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ 7 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ภาคเกษตรและชนบท เช่น การพัฒนาแหล่งนี้ พัฒนาอาชีพในชนบทให้ประชาชน มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ 2.มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังเยาวชนให้มีความรู้เรื่องการอยู่อย่างพอเพียง โดยกระทรวงศึกษาธิการ
3.การขับเคลื่อนในภาคธุรกิจ ทั้งการบริการ การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 4.การขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศโดยกระทรวงการต่างประเทศ 5.การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่ภาคปฏิบัติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกรมประชาสัมพันธ์ 6.ความมั่นคงและ 7.การสร้างกลไกการจัดการ ติดตามประเมินผล
ทั้งนี้ ในปี 59 เราสนับสนุนงบประมานไปให้ 20โครงการ 63 ล้านบาทเศษ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาบเกี่ยวมาถึงปี 60 อีก34 โครงการ ตรงนี้ผมมีความตั้งใจจะขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภาคต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
- ในยุคของการปฏิรูป สปน.มีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างไร
ผมเองเร่งรัดตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่องยุทธศาสตร์ 20 ปี โดยเฉพาะใน 5 ปีแรกว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร เช่น เรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ผมได้สั่งการสปน.ว่า 1.มีระเบียบกฎหมายอะไรที่จะต้องประชาสัมพันธ์กับส่วนราชการ ประชาชน 2.กฎหมายระเบียบเหล่านี้จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมสาระสำคัญในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงและปฏิรูปของสปน. ผมว่างานปฏิรูปเป็นการทบทวนภารกิจของตัวเอง ว่าสิ่งที่เคยทำมานั้นมีอะไรที่อยากจะทำเพิ่มขึ้น ซึ่งสปน.ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างดี
- การทำงานของสปน.มีปัญหาหรืออุปสรรคบ้างหรือไม่
ผมว่าปัญหาทุกอย่าง เราในนามผู้บริหารต้องเป็นผู้ที่คิดการแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวเองก่อน อย่างปัญหางบประมาณน้อย บุคคลากรน้อยแล้วไปร้องขอต่อผู้บังคับบัญชา เสนอเป็นอุปสรรคในการทำงานต่อผู้บังคับบัญชา ผมไม่เคยร้องขอในเรื่องเหล่านี้ ผมว่ามันอยู่ที่ศักยภาพของผู้บริหาร ว่าเราจะทำงานในภาวะที่มีทรัพยากรจำกัดให้งานมีผลสำเร็จได้อย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ที่รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เรียกว่า "ประชารัฐ" ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม อย่างหน่วยราชการบางหน่วยไม่ต้องใช้งบประมาณก็สามารถบูรณาการกับภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้เข้ามาร่วมดำเนินการได้ เช่น ศูนย์อำนวยความสะดวก จ.นนทบุรี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการประชารัฐ ให้ศูนย์อำนวยความสะดวกเกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้า มีการประสานขอพื้นที่จากห้างสรรพสินค้าโดยห้าวสรรพสินค้าก็ให้ความร่วมมือ ทำให้ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่สิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ศักยภาพของผู้นำในการประสานสร้างความร่วมมือทั้งสิ้น
อย่างผมดำเนินการเรื่องบรรจุข้าวถุงพอเพียง มีประชาชนเข้ามาร่วมหลายหมื่นคน ข้าวเปลือกผมก็ประสานไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และมีการเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ กระทั่งมีผู้นำข้าวเปลือกมาสนับสนุนจำนวนมาก สิ่งนี้คือประชารัฐผมถือว่างบประมาณเมื่อได้รับมาต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ขณะที่ผู้บริหารต้องใช้ศักยภาพในการบริหารงบประมาณที่ได้มาแต่ละปีให้ได้ ผมจึงไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการทำงาน ในเมื่อเราเป็นแม่ทัพก็ต้องบริหารจัดวางให้ได้ ดังนั้น ปัญหาของผมจะต้องทำงานให้เสร็จตามเวลา ตามที่นโยบายกำหนดให้ได้
- ในฐานะข้าราชการประจำ ที่ต้องเข้ามาทำงานในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติส่วนตัวรู้สึกอย่างไร
ผมรับราชการมา 37 ปี ถือว่าได้รับความกรุณาจากผู้บังคับบัญชาในการสนับสนุนงานมาโดยตลอด ในภาวะอย่างนี้ผมดูว่าเป็นยุคที่มีเหตุมีผล เป็นยุคที่มีความมุ่งมั่นในการดูแลบ้านเมืองให้มีความสงบ เป็นยุคที่มุ่งมั่นให้ประชาชนได้รับความสงบสุข ผมเห็นในหลายมิติ ทั้งในส่วนของนายกรัฐมนตรีที่มีความมุ่งมั่นเต็มร้อย ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลในกลุ่มจังหวัดต่างๆ ก็ลงพื้นที่ติดตามงาน มอบนโยบาย และติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาโดยตลอด
ทุกคนมีความเอาใจใส่ทุกข์สุขของประชาชน ติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งข้าราชการในยุคนี้จึงต้องมีการปรับตัว มองแบบ360องศา มีการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ผมในนามของสปน.ก็ให้ 14 หน่วยงานในสปน.ทำงานอย่างบูรณาการด้วย
- ในกรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูก "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรีฟ้อง กรณีนี้ถือเป็นการกดดันการทำงานของเราหรือไม่
ผมเป็นประธานคณะกรรมการสอบเรื่องข้าว 3 คำสั่ง คือ สอบโครงการรับจำนำข้าว สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดประเภทจีทูจี และสอบการระบายข้าวย้อนหลัง 10 ปี ผมต้องรายงานนายกรัฐมนตรีทุก 15 วัน โดยนายกฯจะเขียนเป็นนโยบายมาว่าให้ความเป็นธรรม ให้โอกาส ดูกฎหมาย 3 คำนี้เป็นปรัชญาของคณะกรรมการสอบสวน หากเราเป็นคณะกรรมการสอบสวนแล้วไม่มี 3 ข้อนี้ เราจะขาดความเป็นธรรม ดังนั้น ผมจึงทำงานด้วยความสบายใจ โปร่งใส และชี้แจงได้
แม้ผมจะทำงานมาด้วยความมุ่งมั่นอย่างไรก็ตาม แต่ด้วยสิทธิของแต่ละคนที่จะปกป้องสิทธิของตัวเอง ผมอาจถูกฟ้องในส่วนที่ท่านคิดว่าเป็นการปกป้องสิทธิของท่าน ผมก็มีส่วนที่จะแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการไป
ถามว่าหนักใจไหม พื้นฐานของมนุษย์เมื่อมีการฟ้องร้องก็มีหนักใจบ้างว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ความหนักใจนั้นอยู่ในพื้นฐานคือ 1.ผมซื่อสัตย์สุจริตเป็นเกราะกำบังคุ้มครองผมได้ 2.ผมดำเนินการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่มอบหมาย และ3.ผมดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ในฐานะที่สปน.เป็นส่วนราชการที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล มีการน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาทำงานอย่างไรบ้าง
ข้าราชการเรา มีหลักการทำงานดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ผมถึงบอกว่าราชการ เดี๋ยวนี้ไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ซึ่งหลักการปฏิบัติของราชการ โดยทุกวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวันข้าราชการพลเรือน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมีพระบรมราโชวาทต่อข้าราชการให้ทำงานอย่างซื่อสัตย์ สุจริต เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ให้มีความพอเพียง
ดังนั้น ข้าราชการต้องมีความพอเพียง ใช้จ่ายตามรายได้ที่มี หากไปฟุ้งเฟ้อ นั่นจะเป็นสาเหตุในการส่อไปทางทุจริตได้ ดังนั้น ข้าราชการควรน้อมหลักพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติ ทั้งปฏิบัติต่อตัวเอง และปฏิบัติในการทำงานด้วย
ผมเองรับข้าราชการมาตั้งแต่ระดับซี1 จนถึงซี 11 ในปัจจุบันถือว่าสูงสุดในการรับราชการ ผมสอนรุ่นน้องข้าราชการว่า การรับราชการที่จะให้มีความเจริญก้าวหน้า ผมได้คำตอบอยู่ 3 ข้อ 1.หน้าที่ที่ทำ ที่รับผิดชอบต้องทำด้วยความตั้งใจ เต็มใจ ซื่อสัตย์สุจริต อุตสาหะ 2.เครือข่ายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเชื่อฟัง เคารพ ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานเราต้องรับฟังความคิดเห็น รับฟังคำแนะนำ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
และ3.บุญกุศล ที่สำคัญเราต้องไม่ปฏิเสธงานด้วย บางคนถามว่าเหนื่อยไหมทำงาน ผมไม่บ่น เพราะนี่คืออาชีพ คืองานของเรา
- มีสิ่งใดที่อยากจะฝากหรือทำความเข้าใจต่อสาธารณะชนหรือไม่
อยากเรียนว่านายกรัฐมนตรีท่านเน้นเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน จึงเป็นเรื่องที่ทุกส่วนราชการจะต้องตระหนัก งานที่ทำทุกวันนี้เป็นนโยบายของใคร ทำแล้วได้ประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร เราต้องตอบคำถามชาวบ้านให้ได้ และการให้ข้อมูลแผนงานโครงการในแต่ละปีต้องรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านด้วย มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนการสร้างโรงงานขยะ การสร้างโรงไฟฟ้า ที่มีการต่อต้านเพราะประชาชนขาดความเข้าใจ
ดังนั้น การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะทำอะไรต้องบอกประชาชน รับฟังประชาชน แบบเปิดอกคุยกัน และสุดท้ายเมื่อทำงานไปแล้ว ต้องให้ประชาชนประเมินความพึงพอใจของผลงานด้วย
เรื่อง : จิราพร เพิ่มลาภ
ภาพ : สิริภูมิ ชูวงศ์ตระกูล
