ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2562 เน้นตอบโจทย์ รู้จริงแก้ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีไทย ทั้งปัญหาเรื่องการจัดการธุรกรรมการเงิน การบริหารจัดการพนักงาน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจได้ทันเวลาที่ต้องการ โดยมีแนวทางการพัฒนา 3 ดิจิทัลโชลูชันเพื่อเอสเอ็มอี ให้เอสเอ็มอีเติบโตได้มากกว่า น.ส.ชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ด้วยปรัชญาของทีเอ็มบีคือ Make THE Difference ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น จึงมีความพิถีพิถันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ และคิดอย่างรอบด้าน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง (Need-based) และให้สามารถใช้งานได้ง่าย และสะดวก (Simple & Easy) สร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อเอสเอ็มอีสามารถเติบโตได้มากกว่า(Get MORE with TMB) ซึ่งในปีนี้ แผนธุรกิจของทีเอ็มบี เอสเอ็มอี ตั้งเป้ายอดการปล่อยสินเชื่อมูลค่า 27,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 60% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการศึกษาอินไซต์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยพบว่า ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของเอสเอ็มอีมีอยู่ 3 ข้อคือ 1.ปัญหาธุรกรรมยุ่งเหยิง ทั้งการรับเงินจากลูกค้าและการจ่ายเงินให้คู่ค้า ด้วยเงินสด และการโอนเงินในหลายช่องทางเช่น QR Code และเครื่อง EDC ซึ่งต้องใช้เวลานานในการรวบรวมและทำบัญชีกระทบยอด ทั้งยังมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย สรุปยอดไม่ตรง และสุดท้ายรายงานบัญชีที่ทำขึ้นมาก็ยังไม่สะท้อนภาพรวมสุขภาพการเงิน หรือสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจได้ ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อวางแผนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.ปัญหาการบริหารบุคคล เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นองค์กรขนาดเล็ก พนักงานคือกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างราบรื่น ซึ่งการสร้างความสัมพันธ์อันดีและครองใจพนักงานนั้น สวัสดิการด้านสุขภาพเป็นปัจจัยอันดับต้นๆที่พนักงานให้ความสำคัญ แต่ทว่าธุรกิจเอสเอ็มอีมีข้อจำกัด เพราะไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพแบบกลุ่มให้กับพนักงานได้ ด้วยจำนวนพนักงานไม่เพียงพอต่อการซื้อขั้นต่ำของประกันสุขภาพแบบกลุ่ม แต่ถ้าจะซื้อประกันสุขภาพแบบรายบุคคลให้กับพนักงานก็ติดปัญหาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นหากพนักงานประสบอุบัติเหตุหรือมีปัญหาสุขภาพ เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จึงเข้ามารับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ จึงไม่สามารถควบคุมต้นทุนด้านการบริหารบุคคลได้ 3.ปัญหาพลาดโอกาสทางธุรกิจ เนื่องจากเอสเอ็มอีเพียง 20% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากขาดความเข้าใจ และขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อยื่นสมัครสินเชื่อ ส่งผลให้เอสเอ็มอี 27% เลือกใช้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจจากการใช้บริการสินเชื่อและการกดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความคุ้มค่าระหว่างดอกเบี้ยกับกำไรของธุรกิจ นายพร้อมพงษ์ พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และ Portfolio ธุรกิจเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี ได้เผยถึงเนวทางการพัฒนาโซลูชันเพื่อเอสเอ็มอีว่า ในปีนี้ทีเอ็มบียังคงยึดหลักแนวคิดให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity)เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ แก้ปัญหา และยกระดับการเติบโตให้เอสเอ็มอีได้อย่างครบวงจร โดยเตรียมเปิดตัว 3 โซลูชั่นเพื่อเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.รายงานสุขภาพการเงินของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลและธุรกรรมในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เป็นภาพกราฟฟิกสวยงาม ชี้ให้เห็นทิศทางของเงินเข้า และออก จากทุกช่องทางเพื่อสามารถนำไปประเมินสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดความผิดพลาดและลดเวลาของการทำบัญชีกระทบยอดของเอสเอ็มอีได้ และยังนำไปใช้วางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย 2.สวัสดิการด้านสุขภาพเพื่อพนักงานของเอสเอ็มอีที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว ในราคาที่เอสเอ็มอีเข้าถึงได้ เพียงลูกค้าเอสเอ็มอี เปิดบัญชีธุรกิจ ทีเอ็มบี เอสเอ็มอี วัน แบงก์ สามารถมีสิทธิ์ซื้อโปรแกรมสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับพนักงานของธุรกิจตนเอง มีสิทธิประโยชน์แบบประกันกลุ่ม โดยเริ่มต้นพนักงานเพียง 5 คน และจ่ายขั้นต่ำเพียง 300 กว่าบาทต่อเดือน ครอบคลุมทั้งกรณีผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก สามารถซื้อและปรับเปลี่ยนชื่อพนักงานได้ทางออนไลน์ด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ 4 คลิกเท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อลูกค้าเอสเอ็มอีใช้บริการจัดการเงินเดือนพนักงานด้วยระบบอัตโนมัติ(Payroll) กับทีเอ็มบี จะได้รับฟรีแอปพลิเคชันระบบช่วยบริหารจัดการงานบุคคลแบบดิจิทัล HR Management Program ครบทุกฟีเจอร์เข้า ออก ขาด ลา มาสาย ครอบคลุมการใช้งานทั้งบริษัทและพนักงาน 3.บริการให้สินเชื่อเอสเอ็มอีผ่านโมบายล์แอปพลิเคชัน ทีเอ็มบี บิส ทัช (TMB BIZ TOUCH) โดยการสร้างโมเดลอัจฉริยะวิเคราะห์ข้อมูล เปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมการเงินต่างๆ ของลูกค้าที่ธนาคารมีอยู่แล้วให้เป็นหลักประกัน เพื่อช่วยลูกค้าให้เข้าถึงสินเชื่อและได้เงินทุนง่ายขึ้นในเวลาที่ต้องการ และประหยัดเวลาในการเตรียมข้อมูลและเอกสารที่ใช้ในการสมัครสินเชื่ออีกด้วย