นักรัฐศาสตร์ ชี้ปชป.เป็นพรรคต่ำร้อย เหตุทำการเมืองแบบเก่า พ่วงปม “มาร์ค”ประกาศไม่หนุน “บิ๊กตู่”เป็นเงื่อนไขทำคะแนนวูบ คนไม่เลือก “เพื่อไทย” ไหลไปเทให้ “พลังประชารัฐ” แทน
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่ได้ส.ส.ต่ำกว่า100 ที่นั่ง รวมทั้งยังไม่ได้ส.ส.ในกทม. ว่า วันนี้การทำงานทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก จะเห็นได้ว่าในแง่ของโครงสร้างประชากร และเทคโนโลยี ล้วนเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพ หรือในภาคใต้ ไม่ได้มีการถ่ายเทบุคลากร แม้ในระยะหลังพรรคประชาธิปัตย์จะมีเรื่องของ New dem หรือคนรุ่นใหม่ประกาศออกมา แต่กระแสก็ถูกบดบัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคอนาคตใหม่
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ฉะนั้นกลุ่ม New dem หรือบทบาทต่างๆ ตลอดทิศทางการเมืองที่ไม่ได้โดดเด่น อีกทั้งวิธีการทำงานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นแบบเก่า แม้จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามา แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กร ระบบอาวุโสในพรรค แม้กระทั่งกระบวนการในการกำหนดนโยบาย ยังเกิดขึ้นจากคนรุ่นเดิมๆ แต่คนรุ่นใหม่ในประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถมีบทบาทโดดเด่นได้ ในเชิงการกำหนดนโยบายหรือบทบาททางการเมืองต่างๆ จึงทำให้กระแสแม้ว่าจะมี New dem เข้ามาก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย
นอกจากนี้ รศ.ดร.ยุทธพร ยังมองว่า การที่ นายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเป็นผล 2 ด้าน ด้านหนึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีความโดดเด่นมากขึ้น แต่ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะเสียคะแนนไป เพราะคนที่ไม่ต้องการจะเลือกพรรคเพื่อไทย ก็จะมุ่งตรงไปเลือกพรรคพลังประชารัฐแทน ดังนั้นกลายเป็นว่าเสี่ยงที่มากที่สุดในเขตกทม.เป็นของพรรคพลังประชารัฐ
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ก็แทรกตัวขึ้นมาได้ เพราะเสียงในเขตกรุงเทพฯมีลักษณะเสียงแบบ Swing Vote ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งการเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมา คะแนนเสียงจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ประชากรไทย พลังธรรม พรรคไทยรักไทย มาพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่ภาคใต้เมื่อไม่มีการถ่ายเทถ่ายโอนบุคลากร นักการเมืองท้องถิ่นที่เติบโตขึ้นมาก็ไปหาช่องทางใหม่ จึงกลายเป็นพื้นที่ของพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่