ระบุประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้ที่กำลังเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกที่กำลังต้องการ ออกแบบเป็นหลักสูตรใหม่ปริญญาตรี เน้นตอบโจทย์ เรียนจบรับปริญญาร่วม 2 สถาบัน ดร.อัญชลิสา แต้ตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาไทยขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และข้อมูลจากทั่วโลกพบว่าข้อมูลด้านสุขภาพเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกที่ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพหรือบริการด้านสาธารณสุข เช่น ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิเคราะห์รูปภาพและข้อมูลการแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค หรือปรับปรุงขั้นตอนการทำงานในโรงพยาบาลเพื่อลดระยะเวลาใช้บริการของผู้ป่วย เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพจะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก โดยดึงข้อมูลในอดีต มาหาความสัมพันธ์เพื่อตอบโจทย์ปัญหา แล้วทำเป็นโมเดลคณิตศาสตร์เพื่อทำนายอนาคต และบอกแนวทางแก้ปัญหานั้นๆ ทั้งนี้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มจธ. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกแบบหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เน้นการเรียนการสอนแบบแก้โจทย์ปัญหาจริงจากฐานข้อมูลจริง ให้นักศึกษามีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จะสอนเรื่อง Healthcare ความรู้ด้านสาธารณสุข สุขภาพ ข้อมูลการรักษา ข้อมูลโรงพยาบาล เมื่อจบจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่เข้าใจเรื่อง Healthcare สามารถศึกษาเพิ่มเติมด้านอื่นให้เข้าใจในธุรกิจนั้นสามารถประกอบอาชีพได้หลายธุรกิจ เช่น ธนาคาร ค้าปลีก ภาครัฐ ทำงานด้านต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักระบาดวิทยา วิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบข้อมูล นักวิชาการคอมพ์ เป็นต้น โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาบัตรร่วมกันจากสถาบันทั้งสองแห่ง