สืบเนื่องจากคติความเชื่อเรื่อง ‘พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ’ เริ่มมีบทบาทอย่างเด่นชัดในช่วงกรุงศรีอยุธยา นอกเหนือจากรูปแบบการปกครองที่เปลี่ยนไปจากสมัยสุโขทัยโดยสิ้นเชิงแล้ว รูปแบบของศิลปะก็ได้รับอิทธิพลจากขอมในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจด้วยเช่นกัน
ศิลปะพระพุทธรูปของขอมตั้งแต่ยุค Angkorian ไม่ว่าจะเป็นศิลปะนครวัด บาปวน บายน ที่ปรากฏลักษณะทรงเครื่อง รวมถึงพระบูชาและพระเครื่องนั้น ได้ถ่ายทอดอิทธิพลเข้ามาในศิลปะอยุธยาแทบทั้งสิ้น สังเกตได้อย่างเด่นชัดจาก ‘พระพุทธรูปและพระเครื่อง’ ที่ปรากฏในยุคนั้น องค์พระจะแลดูสง่างามและฉลองพระองค์ทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์ เช่น สวมมงกุฎ กรองศอทับทรวง ฉลองพระบาท ฯลฯ ที่เรียกกันในนาม “พระพุทธรูปทรงเครื่อง”
ซึ่งนอกจากเหนือจากมูลเหตุดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานอีกหลายประการ เช่น สร้างตามพระพุทธประวัติ ตอน ‘พระพุทธเจ้าทรงทรมานพระมหาชมพู’ ที่ปรากฏอยู่ในมหาชมพูบดีสูตรว่า "พระมหาชมพู เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบุญญาธิการและมีฤทธานุภาพมาก ไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงเนรมิตพระองค์เป็นอย่างพระมหาจักรพรรดิ ทรงแสดงธรรมโปรดจนพระมหาชมพูลดทิฐิมานะ หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนา" หรือ สร้างตามคติพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่จะหมายถึง ‘อนาคตพุทธเจ้า’ เป็นต้น
พระพุทธรูปทรงเครื่องที่ปรากฏในรูปแบบ “พระเครื่อง” มีอาทิ พระร่วงหลังรางปืน พระร่วงหลังลายผ้า พระนารายณ์ทรงปืน พระปางนาคปรก พระเทริดขนนก ฯลฯ ซึ่งดูจากอายุของพระเครื่องและพุทธศิลปะองค์พระแล้ว สันนิษฐานว่าน่าสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจและสร้างโดยกษัตริย์เจ้าผู้ครองแคว้น
พระพุทธรูปทรงเครื่อง ยังมีความหมายในหลาย 'นัย' เช่น เรื่องการรวมร่างกษัตริย์ให้เป็นเทวราชา, การนับถือพระพุทธเจ้าว่าอยู่ในวรรณะกษัตริย์ และยังเป็นการอธิบายความว่า กษัตริย์ของสยามประเทศเป็น 'หน่อพระพุทธเจ้า' หรือผู้สืบเชื้อสายจากพระพุทธองค์โดยตรง เป็นต้น
ในสยามประเทศ การสร้าง พระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 24 โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย และพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่
'พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย' เป็นพระพุทธรูปที่มีเค้าโครงศิลปะบาปวน ศิลปะบายน อาจทำเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก หรือ ‘พระชัยพุทธมหานาถ’ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงโปรดฯ ให้จำหลักขึ้นทั้งหมด 23 องค์ และพระราชทานไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ในขอบเขตของพระราชอำนาจ เช่นที่เมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นต้น ที่มาปรากฏอย่างชัดเจนในสมัยอยุธยา มีการแต่งองค์ทรงเครื่อง เช่น สวมเทริด หรือศิราภรณ์ มีกุณฑล (ตุ้มหู) สังวาล ทับทรวง ปั้นเหน่ง สนับเพลา รองพระบาท ฯลฯ แต่ยังไม่เต็มยศ
สำหรับ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่' เริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเรื่อยมา องค์พระพุทธรูปจะทรงเครื่องขัตติยราชแบบกษัตริย์อย่างเต็มยศมากขึ้น เช่น สวมมงกุฎ มีกรรเจียกจอน ตกแต่งเครื่องถนิมพิมพาพร อาทิ กุณฑล พาหุรัด ข้อพระกร ธำมรงค์ สร้อยสังวาล ทับทรวง ปั้นเหน่ง สนับเพลา ชายไหว กำไลพระบาท รองพระบาท อย่างอลังการ เช่น พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
นอกจากนี้ยังนิยมทำ “พระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับยืน ประทานอภัย” ใน 3 แบบ คือ ปางห้ามสมุทร คือ ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น ปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวา และ ปางห้ามพระแก่นจันทน์ คือ ยกพระหัตถ์ซ้าย ส่วน “พระพุทธรูปทรงเครื่อง ประทับนั่ง” นิยมทำ ปางมารวิชัย
ล่วงมาในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ระยะแรกแม้จะมีการสืบทอดงานศิลปะจากสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ต่อมาเค้าเงื่อนพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ปรากฏเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจสืบเนื่องจากการสร้างเครื่องทรง 'พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต' ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ทรงสร้างถวายในลักษณะของเครื่องทรงเยี่ยงกษัตริยาธิราช ต่อมาปรากฏชัดเจนมากขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางห้ามสมุทรขึ้น 2 พระองค์ และถวายพระนามว่า ‘พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก’ และ ‘พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย’ (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปลี่ยนสร้อยพระนามเป็น 'นภาลัย') ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกกันในนาม “พระรัตนฯ” จากนั้นก็เริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น ให้สังเกตที่พระพักตร์และพระศอจะมีลักษณะแข็งเหมือนหุ่นกระบอก เข้าใจว่าไม่นิยมให้พระพุทธรูปแสดงอารมณ์และความรู้สึก นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดเจนว่ามีอิทธิพลของจีนปรากฏอยู่ อาจเนื่องจากรัชกาลที่ 3 ทรงติดต่อค้าขายกับจีนตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์แล้วก็เป็นได้
เอกลักษณ์สำคัญของ “พระรัตนฯ” ที่ได้รับอิทธิพลจากจีน มีอาทิ การปิดทองล่องชาด และการลงรักปิดทอง นอกเหนือจากการทำจีวรหรือพัสตราภรณ์พระพุทธรูปเป็นลายดอก ส่วนใหญ่จะทำเป็นลายดอกพิกุล ถ้าเป็นฝีมือช่างหลวงจีวรดอกจะละเอียดมากและบางแนบเนื้อ สันนิษฐานว่าคงจะนำลายผ้าจากต่างประเทศมาทำเป็นลายจีวร และต่อมาก็ทำแพร่หลายไปเป็นพระพุทธรูปปางอื่นๆ และกระจายไปถึงรูปพระอรหันต์ พระอัครสาวก เช่น พระมาลัย พระสังกัจจายน์ หรือรูปเคารพอื่นๆ เช่น พระนารายณ์ทรงโค พระแม่โพสพ ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นในการรังสรรค์งานศิลปะแห่ง 'พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์' หรือ ‘พระรัตนฯ’ ที่นิยมกันอย่างกว้างขวางครับผม
โดย ราม วัชรประดิษฐ์