เกษตรฯ หนุนเกษตรกร ปลูกพืชใช้น้ำน้อย จูงใจปล่อยสินเชื่อ ดอกต่ำ 2 พันบาทต่อไร่ วอนงดทำนาปรังเสี่ยงเสียหายปริมาณน้ำขาดแคลน ระบุเหลือพื้นที่จัดสรรน้ำหน้าแล้งเพียง 3.04 ล้านไร่ เมื่อวันที่ 23 มี.ค.62 นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนการปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อกำหนดทิศทางและดำเนินงานให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชของเกษตรกรที่อาจเกิดความเสียหายจากภาวะภัยแล้ง โดยแผนการดำเนินงาน 6 เดือนในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มจาก 1 พฤศจิกายน-30 เมษายน 2562 ครอบคลุมพื้นที่แห้งแล้ง 16.08 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรทำการปลูกพืชไปแล้ว 13.4 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ที่สามารถรองรับตามแผนงานได้อีกเพียง 3.04 ล้านไร่ โดยปริมาณน้ำในพื้นที่เขตแห้งแล้งจะสามารถรองรับการปลูกข้าวรอบที่ 2 ตามแผนได้ 11.21 ล้านไร่ ล่าสุดเกษตรกรมีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ไปแล้ว 11.02 ล้านไร่ จึงมีปริมาณน้ำที่จะสามารถรองรับการปลูกข้าวได้อีกเพียง 0.19 ล้านไร่เท่านั้น “ขอให้เกษตรกรที่จะปลูกข้าวในช่วงนี้อาจมีความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำที่อาจไม่เพียงพอ หากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีอายุสั้น เช่น พืชผัก หรือข้าวโพดแทน โดยพืชที่ทางกรมได้แนะนำให้มีการปลูกทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 ก็คือ 1.กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวานรวมทั้งพืชตระกูลถั่ว 2.กลุ่มพืชผักอายุสั้น ที่มีปริมาณการใช้น้ำน้อยกว่าข้าวถึง 3 เท่า”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว ทั้งนี้ ได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมการลดพื้นที่ปลูกข้าวรอบที่ 2 เพื่อไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน อันจะเป็นแรงจูงใจให้กับเกษตรกร 2 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการข้าวโพดหลังนา โดยมีแผนการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนาในปีนี้ครอบคลุมพื้นที่ 7.4 แสนไร่ เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นไร่ละ 2,000 บาท กำหนดพื้นที่ต่อเกษตรกรหนึ่งรายไม่เกิน 15 ไร่ อัตราดอกเบี้ย 0.01% กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีการประกันภัยพืชผลให้อีกไร่ละ 65 บาท/ไร่ อีกด้วย นอกจากการนี้ยังมีการให้ความรู้กับเกษตรกรโดยจัดอบรมเกษตรกรในพื้นที่ตลอดจนเชื่อมโยงตลาดโดยประสานความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์อีกด้วย ซึ่งเชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากตามเป้าหมายที่วางไว้ 2.โครงการพืชหลากหลาย เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ได้ทดลองนำร่องแล้วประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงสานต่อโครงการในปีนี้และขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น โครงการนี้เน้นการปลูกพืชอายุสั้นและมีความหลากหลายเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการตลาด เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เร็วในระยะเวลาอันสั้น โดยรัฐสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไร่ละ 1,000 บาท กำหนดพื้นที่ตามความเหมาะสม ซึ่งเกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลการปลูกพืชช่วงแล้งได้ที่ สำนักงานเกษตรในพื้นที่ได้ตั้งแต่วันนี้