อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี หรือที่เรียกว่า ครูบัญชีอาสา นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและคนในชุมชน โดยใช้ “บัญชี” เป็นเครื่องมือนำทางไปสู่การดำเนินชีวิตตามวิถีของความพอเพียง เน้นหลักพอมี พอกิน พอใช้ มีความสุขอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง ตามศาสตร์ของพระราชา “กาญจนา เชื้อบ่อคา” เป็นตัวอย่างของครูบัญชีอาสา ที่มุ่งมั่นทำงานเผยแพร่ความรู้ในการจัดทำบัญชีให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหาเวลาว่างจากงานประจำ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไชยราษฎร์ จำกัด สร้างเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ในอำเภอไชยา โดยจุดเริ่มต้นการทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสา เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ซึ่งได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมการจัดทำบัญชีรับ–จ่ายในครัวเรือน จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุราษฎร์ธานี จึงเกิดความสนใจและสมัครเป็นครูบัญชีอาสาในปีเดียวกัน โดยเริ่มจดบันทึกบัญชีรับ–จ่ายในครัวเรือนของตนเองก่อน ทำให้รู้ถึงรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และจากการประกอบอาชีพ ใช้บัญชีควบคุมค่าใช้จ่าย วางแผนการใช้จ่ายเงิน การส่งชำระหนี้และการลงทุนเพิ่มอาชีพ เมื่อเห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากการทำบัญชี จึงสอนแนะคนในครอบครัว สมาชิกในชุมชน และขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียง สอนเปรียบเทียบการจัดทำบัญชีกับผลของการไม่จัดทำบัญชี การคุ้มกันตนเองในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยสอนใช้วิธีเปรียบเทียบตัวเลข ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากการทำบัญชีที่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งวิธีการนี้ ครูกาญจนาเรียกว่า ยุทธการ 1+1 ต่อยอดไป 2+2 และขยายผลไปเรื่อยๆ แบบปากต่อปาก จากเรื่องบัญชีที่ชาวบ้านเคยมองว่าเป็นเรื่องที่น่าปวดหัว แต่เมื่อได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมแล้วก็ทำเกิดความเชื่อถือ และนำไปทำตามอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลสำเร็จเช่นเดียวกัน ตลอดระยะเวลา 13 ปี ของการเป็นครูบัญชี ครูกาญจนาทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงาน โดยไม่หวังผลตอบแทน และไม่เคยปฏิเสธการขอความร่วมมือในการสอนแนะการทำบัญชีให้แก่ชาวบ้าน หลายครั้งต้องเดินทางไปสอนในช่วงเย็นหรือค่ำ หลังเวลาว่างจากการทำไร่ ทำสวนของชาวบ้าน ซึ่งในการลงพื้นที่ไปสอนแนะบัญชีแต่ละครั้ง ครูกาญจนาจะเก็บข้อมูลที่รวบรวมจากการจัดทำบัญชีของชาวบ้าน ไปเป็นข้อมูลในการจัดทำแผนชุมชนและแผนตำบล เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำเสนอโครงการต่างๆ ของหมู่บ้านและตำบล เพื่อมุ่งหวังในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยใช้ข้อมูลบัญชีเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การวางแผน เน้นที่การวิเคราะห์ตนเอง การเพิ่มรายได้ และลดรายจ่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งสอนการใช้โปรแกรม SmartMe แอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพได้ผ่านสมาร์ทโฟน นอกจากการบันทึกลงในสมุดบัญชี จนถึงปัจจุบัน ครูกาญจนาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกรตามโครงการบูรณาการกับหน่วยงานราชการต่างๆ กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน เยาวชน และเกษตรกรทั่วไป สามารถรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสร้างชุมชนคนทำบัญชีหลายแห่ง ซึ่งมีสมาชิกทำบัญชีต่อเนื่องจนได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นระดับประเทศ อาทิ การสร้างชุมชนคนทำบัญชีบ้านบางท่าข้าม ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน จนเป็นชุมชนเข้มแข็งได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นระดับประเทศ ในปี พ.ศ.2560 และเป็นชุมชนต้นแบบ คนรักการทำบัญชี ถวายความดีเพื่อพ่อแห่งแผ่นดิน ปัจจุบันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรทำสวนผสมผสานแบบยั่งยืนบางท่าข้าม และมีแผนที่จะเติบโตเป็นสหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งทุกกลุ่มที่ได้ไปสอนแนะบัญชี จะเน้นการวิเคราะห์ปัญหาของสมาชิกในกลุ่ม และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ร่วมกันถอดบทเรียนองค์ความรู้ทางบัญชี และสร้างครูบัญชีเครือข่ายเพื่อให้คำแนะนำและคอยดูแลสมาชิกในกลุ่มเสมอ จากการช่วยสอนแนะ และติดตามการจัดทำบัญชีของเกษตรกรและเยาวชนมาโดยตลอด ทำให้ครูกาญจนาได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นครูบัญชีต้นแบบ ผู้ปิดทองหลังพระในปี 2560 ด้วยอาชีพหลักซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไชยราษฎร์ จำกัด ยังได้นำโปรแกรมระบบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาใช้ในสหกรณ์ที่ตนเองปฏิบัติงานอยู่ ซึ่งสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไชยราษฎร์ จำกัด เป็นสหกรณ์ประเภทเครดิตยูเนี่ยนที่ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นแห่งแรกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ปฏิบัติงานด้วยความเรียบร้อยจนทำให้สหกรณ์ได้รับรางวัลชมเชย ด้านการจัดทำบัญชีและงบการเงินในปี 2551 และได้รับรางวัลประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนดีเด่นด้านการจัดทำบัญชีและงบการเงินในปี 2552 นอกจากนี้ในปี 2561 ครูกาญจนามีโอกาสไปชมนิทรรศการนวัตกรรม Smart 4 M ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงเกิดความสนใจและถึงเห็นประโยชน์ จึงนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ขอใช้โปรแกรม เพื่อให้สหกรณ์ได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลทางการเงินการบัญชีจากระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหาร (Smart Manage) และให้สมาชิกสหกรณ์สามารถตรวจสอบข้อมูลฐานะทางการเงินและธุรกรรมของตนเองผ่านระบบสอบถามข้อมูลสมาชิก (Smart Member) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์และการตัดสินใจของผู้บริหารสหกรณ์ ครูกาญจนา กล่าวถึงความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสาว่า สิ่งที่ได้จากการทำบัญชีคือ รอยยิ้มของเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์และคนในชุมชน ที่สามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตไปสู่ความอยู่ดีกินดี พอมีพอกิน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นตัวอย่างของครูบัญชีที่มีใจมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองและช่วยเหลือคนในชุมชน รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยใช้บัญชีนำทาง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างแท้จริง