สัปดาห์พระเครื่อง/ราม วัชรประดิษฐ์ พระปทุมมาศจะมีลักษณะแตกต่างจากพระอื่น ๆ กล่าวคือ มีสัณฐานคล้ายดอกบัวบาน องค์พระประทับนั่งปางสมาธิ กรอบที่เป็นดอกบัว และรอบนอกขอบเป็นรอยหยัก พบเป็นเนื้อชินเงินเฉกเดียวกับพระมเหศวร พระพักตร์องค์พระพุทธรูปออกไปทางศิลปะขอม “พระปทุมมาศ" มีการค้นพบที่ กรุปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี กรุพระที่ขึ้นชื่อลือชากรุหนึ่งของเมืองไทย อาจารย์มนัส โอภากุล ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีเมืองสุพรรณบุรีได้ให้ความหมายไว้ว่า “ปทุม” แปลว่า ดอกบัว ส่วน “มาศ” แปลว่า ทองคำ ซึ่งพระปทุมมาศจะมีลักษณะแตกต่างจากพระอื่น ๆ กล่าวคือ มีสัณฐานคล้ายดอกบัวบาน องค์พระประทับนั่งปางสมาธิ กรอบที่เป็นดอกบัวกว้างรวม 3.5 x 5.4 ซ.ม. และรอบนอกขอบเป็นรอยหยัก พบเป็นเนื้อชินเงินเฉกเดียวกับพระมเหศวร พระพักตร์องค์พระพุทธรูปออกไปทางศิลปะขอม ตอนพบผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าเจอไม่เกิน 10 องค์ จึงเป็นพระที่หาได้ยากยิ่งปัจจุบัน องค์เห็นหน้าเห็นตาต้องมีหลายหลายแสนขึ้นไป สำหรับองค์พระที่ประทับนั่งปางสมาธินี้ มีข้อพึงสังเกตคือ ท่านประทับนั่งอยู่เหนือเส้นอาสนะในลักษณาการ ‘ขัดสมาธิราบ’ พระเกศเป็นลักษณะสวมหมวกชีโบ ตามอย่างศิลปะขอมที่ปะปนเข้ามาในศิลปะอู่ทอง ปลียอดพระเกศจิ่มสั้นหน้าผากมีรอยเว้าลึกคล้ายๆ ศิลปะพระผงสุพรรณ พระพักตร์มีลักษณะกลมป้อม พระอังสานูนเกือบปรากฏอยู่กึ่งกลางองค์พระ พระศอสั้นแทบติดกับพระอังสะ พระอุระด้านบนผายกว้างด้านล่างค่อยสอบแคบลงมา เฉกเช่นพระผงสุพรรณแต่ยังไม่ชัดเจนเท่า พระกรเรียวเล็กและหักมุมทำให้องค์พระดูผึ่งผาย และที่น่าแปลกใจ คือ รอยหยักรอบนอกที่เป็นจุดเด่นของดอกบัวนั้น มิได้ทำให้องค์พระดูด้อยลงเลย แต่กลับส่งเสริมกันและกันให้องค์พระดูสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ยากจะหาพระที่มีรูปลักษณะแปลกตาและสมบูรณ์ได้เทียบเท่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี พระปทุมมาศ นี้ องค์พระจะมีขนาดเขื่อง และพบเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น คือ ‘เนื้อชินเงินผสมตะกั่ว’ บางองค์หากแก่ตะกั่วจะมี ‘สนิมสีแดง’ แทรกขึ้นมาบ้าง ส่วนในองค์ที่แก่ชินเงินจะเห็นเป็น ‘สนิมตีนกา’ กระจายอยู่ทั่วไปสมตามอายุที่มีมากว่า 600 ปี ต่อข้อถามว่าทำไมคนโบราณจึงสร้าง ‘พระขนาดเขื่อง’ (เมื่อเทียบกับพระอื่นทั่วไป) และสร้างเป็นจำนวนน้อย และที่สำคัญพุทธลักษณะดูแปลกหูแปลกตา ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่า การนำพระพุทธรูปจากเมืองอื่นๆ มาร่วมบุญ เมื่อเมืองที่เป็นสัมพันธไมตรีก่อสร้างศาสนสถานนั้น เป็นธรรมเนียมมที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ และพระพุทธที่ส่งมาร่วมบรรจุกรุก็มักจะมีความงามเป็นเลิศ แสดงถึงศิลปะเชิงช่างชั้นสูง และที่เหนืออื่นใดบางองค์ยังพบลักษณะการเป็นตัวแทนขององค์พระมหา กษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองแคว้น เช่น กรณีพระชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทรงส่ง ‘พระมหาชัยพุทธมหานาท’ มาประดิษฐานตามปราสาทหินที่พระองค์ก่อสร้าง เป็นการแสดงพระราชอำนาจหรือสัมพันธไมตรีเหนืออาณาเขตนั้นๆ กรณี “พระปทุมมาศ” ศิลปะองค์พระที่ประทับกึ่งกลางมีอิทธิพลของขอมปรากฏอยู่ชัดเจน และการสร้างปทุมมาศเป็นพื้นหลังนั้น เป็นการกล่าวถึง ‘พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์’ ซึ่งในตำนานขอมหลายฉบับกล่าวตรงกันว่าเป็นบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองของขอม และที่สำคัญคือทรงมีความสัมพันธ์กับ ‘พญานาค’ อันเป็นบรรพบุรุษฝ่ายสตรีของขอมอย่างแน่นแฟ้น ในขณะที่อาณาจักรสุโขทัยได้ส่ง ‘พระลีลากำแพงศอก’ อันงดงามอย่างถึงที่สุดมาร่วมบรรจุกรุที่ “พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี” ดังนี้ การชิงความได้เปรียบจึงมิใช่หมายถึงการต่อสู้ทางแสนยานุภาพของกองทัพอย่างเดียว หากแต่ล่วงเลยไปถึงการแสดงออกทางด้านศิลปะด้วย แสดงให้เห็นว่าทั้งขอมและสุโขทัย ยังมีอิทธิพลในบริเวณสุพรรณบุรีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา และด้วยความนิยมใน “พระปทุมมาศ” นี้เอง ทำให้บรรดาเกจิอาจารย์ผู้ขมังเวทย์พากันจัดสร้างพระปทุมมาศกันแพร่หลายสืบต่อมาครับผม