8 ปีที่ว่างเว้นจากการเลือกตั้ง วันนี้วันที่รอคอยของประชาชนก็มาถึงแล้ว คือวันที่ 24 มีนาคม 2562 วันที่เราจะได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อมอบอำนาจอธิปไตยให้พวกเขาเหล่านั้นไปใช้ในการบริหารประเทศ การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุด ที่ได้รับความสนใจจากทั้งในและนอกประเทศ ด้วยเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังวิกฤติการณ์การเมืองช่วงปี 2556-2557 แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าวแต่ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ และนำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม2557 ในที่สุด การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตยด้วย การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นที่สุด ในเรื่องของจำนวนพรรคการเมืองและจำนวนผู้สมัคร โดยในส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครจำนวน 81 พรรค รวมจำนวน 11,181 คน แบบบัญชีรายชื่อมีพรรคการเมืองที่ยื่นสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวน 77 พรรค รวมจำนวน 2,917 คน และมีผู้ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรี จำนวน 46 พรรคการเมือง รวมทั้งสิ้น 71 รายชื่อด้วยกัน โดยเฉพาะการนำเสนอชื่อบุคคลที่เป็นผู้เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์ 8 กุมภาพันธ์ ที่เรียกว่าเป็น “สึนามิ” การเมืองไทย เมื่อพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อสมาชิกในราชวงศ์เป็นแคนดิเดตนายกฯในบัญชีพรรค ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ภายใต้กติกาใหม่ที่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ที่บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวจะมีค่ามาก และถูกเรียกว่า การเลือกตั้ง “แบบ 3 IN 1” ตามที่ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “การเลือกตั้งแบบ 3 In 1 กับผลทางการเมืองและการใช้สิทธิของประชาชน” อธิบายว่า การใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนซึ่งมีเพียงคะแนนเดียว จะเป็นทั้งการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกัน และเป็นการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Members Apportionment : MMA ) ที่มีวิธีการเลือกและคิดจำนวนที่นั่ง ส.ส. แตกต่างออกไปจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550 “ฉะนั้น การเลือกตั้งจะมีแต่เฉพาะแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็น ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง คือผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดในเขตเลือกตั้ง เหมือนกับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผ่านมา แตกต่างตรงส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น คำนวณจากจำนวน ส.ส.พรรคการเมืองจะพึงมีได้ก่อน โดยการนำจำนวนคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับทั้งหมด มาหารด้วย ส.ส. ทั้งหมด 500 คนก็จะได้ค่าเฉลี่ยจำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน และเอาค่าเฉลี่ยนั้นมาหารจำนวนคะแนนของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดของแต่ละพรรค ผลที่ได้เป็นจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ และเอาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคตั้งแต่อันดับหนึ่งไปเติมจนครบจำนวนที่พึงมีได้ของพรรคนั้น โดยหากพรรคใดได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับ หรือมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีได้แล้ว พรรคนั้นก็จะไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก”ปริญญา ระบุ ทั้งนี้หลักคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในการออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมคือต้องการรวมทุกคะแนน ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะแต่ละเขตเลือกตั้ง ทำให้คะแนนของผู้แพ้ไม่ได้ถูกทิ้งเหมือนการเลือกตั้งระบบเก่า ต้องการให้ระบบใหม่กดดันพรรคการเมืองให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ส่งคนดีคนเก่งลงสมัครรับเลือกตั้งให้ประชาชนมีทางเลือก ไม่ใช่ส่งใครก็ได้ ส่วนการให้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งนั้น เป็นความพยายามที่จะให้มีความ โปร่งใส ให้ประชาชนเห็นหน้าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯก่อน และคำนึงถึงเสียงของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาอย่างไร ผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะออกแบบให้ประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็คือ ประชาชน ทั้งนี้จากปรากฎการณ์การตื่นตัวในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ประชาชนแห่ไปใช้สิทธิกันชนิดถล่มทลาย กว่า 87% ของผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า จึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มจะมีประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมค่อนข้างสูง ถึงแม้จะมีปัญหาขลุกขลักทางเทคนิคบ้าง แต่สะท้อนความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน กระนั้น แม้ทุกพรรคการเมืองจะโฟกัสไปที่คนรุ่นใหม่ ที่จะได้ใช้สิทธิเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนกว่า 7 ล้านคนที่จะสร้างมิติใหม่ในการเลือกตั้งแล้ว “ตัวแปร” สำคัญ ที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ “พลังเงียบ” ที่ไม่ว่าผลการสำรวจความคิดเห็นหรือโพลล์สำนักใดที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็ไม่เอาเข้าถึงกลุ่มนี้ได้ อย่างไรก็ตามบรรยากาศการแข่งขันในสนามเลือกตั้งมีความรุนแรงและดุเดือดอย่างยิ่ง ทั้ง “บนดิน” และ “ใต้ดิน” โดยนอกจากพรรคการเมืองต่างๆ จะเกทับบลัฟแหลกเรื่องนโยบายหาเสียงกันแล้ว การทำสงครามข่าวสาร หรือไอโอ ที่พรรคการเมืองบางพรรคงัดเอามาใช้เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ มีทั้งขุดเอาเรื่องในอดีตขึ้นมาโจมตี การปล่อยคลิปอื้อฉาว หรือใส่ร้ายป้ายคู่ต่อสู้ ยิ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ โซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูง จึงได้เห็นนวัตกรรมในการทำลายคู่แข่งที่น่ากลัวและแหลมคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้าย ที่ได้เห็นการทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งคะแนนเสียงจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระแสความนิยมให้กับตนเอง สร้างความกลัว และโกรธแค้นชิงชัง ยังได้เห็น การสร้างวาทกรรมให้เลือกข้าง ฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายเผด็จการ รวมทั้งความพยายามที่จะฉีกตัวออกมาเป็นขั้วที่ 3 เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลของบางพรรคการเมืองด้วย กระนั้น ท่ามกลางการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งที่ดุเดือดนี้ วันที่ 24 มีนาคม 2562 จะเป็น “วันพิพากษา” จากประชาชน ดังนั้นไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับ และดำเนินไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ