วันเวลาผ่านไป กำลังจะทิ้งปี 2559 ให้เป็นอดีต หลากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงแห่งนี้ ทีมข่าว กทม.ได้รวบรวมประมวลเป็นข่าวเด่น 10 อันดับ อันดับ 1 สานต่อแก้จราจรที่”พ่อ”ทำ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ในเรื่องปัญหาจราจรโดยเฉพาะชาวกทม. ทรงมีพระราชดำริให้แก้ปัญหาจราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชเพื่อให้ผู้มาใช้บริการ-คนไข้เดินทางได้สะดวก ก่อให้เกิดโครงการต่อขยายสะพานอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้นลง, ทางยกระดับข้ามแยกศิริราช และโครงการขยายผิวจราจรถ.สุทธาวาส และสะพานทางข้ามถ.จรัญฯ โครงการทางเชื่อมต่อสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก ถนนกาญจนาฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพถ.อรุณอัมรินทร์ให้คล่องตัวขึ้น ซึ่งกทม.ได้น้อมรับพระราชดำริและเร่งสานต่อโครงการ... เป็นบุญที่สุดที่ได้เกิดเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่าน.... อันดับ 2 “อัศวิน” ตามสั่ง “คสช.” ถือเป็นประวัติศาสตร์ในวงการเมืองเสาชิงช้า ที่มีการผลัดเปลี่ยนผู้ว่าฯกทม.ชนิดกะทันหัน จากรองผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขึ้นมานั่งแท่นผู้ว่าฯกทม.ในยุคคสช.มีคำสั่งฉับพลัน สร้างความฮือฮาและเซอร์ไพรส์เพราะไม่มีใครคาดถึง แถมในคำสั่งยังมีออปชั่นพิเศษ ให้แต่งตั้งทีมงาน-รองผู้ว่าฯกทม.ได้ตามแต่จะประสงค์ และเมื่อมาแบบทันทีทันใดไม่ธรรมดา ผู้ว่าฯ ใหม่จึงลั่นว่า เมื่อเข้ามาแบบไม่ธรรมดา การทำงานก็ย่อมต้องไม่ธรรมดา และขณะเดียวกันเมื่อมาแบบฉับพลันทันใดได้ ก็ย่อมจากไปแบบทันควันได้เช่นกัน หากทำไม่ดี … ฉะนั้น นโยบายที่ตั้งมาจึงต้องทำทันที ไม่มีพรุ่งนี้ เพราะมีแต่ NOW ขณะนี้ต้องทำทันทีทันใด... อันดับ 3 ดราม่าทางเดินหมื่นล.ริมน้ำ โครงการที่เป็นที่จับตาที่มาในยุคคสช. หวังจะให้เป็นแลนด์มาร์คของกทม.และเมืองไทย ท่ามกลางทั้งเสียงหนุนและเสียงค้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการจะรีบเร่งกันไปไหน? ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องความเดือดร้อนต้องย้ายที่อยู่ของชุมชน-การเข้าไม่ถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน-กรณีแบบที่จะเป็นแบบสร้างไปออกแบบไป-ทั้งยังไม่ต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะไม่ใช่ทางหลวง อีกทั้งยังเกิดเรื่องราวฉาวสนั่นโซเชียล ประเด็นดรามา วิมานพระอินทร์ ที่จะเป็นแลนด์มาร์คของกทม. ลอกแบบ เดอะ คริสตัล ไอซ์แลนด์ ในมอสโก อันดับ 4 น้ำไม่ท่วม แค่รอระบาย แม้ ปี 2559 กทม.จะไม่มีน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แต่กระนั้นด้วยความที่อากาศปรวนแปรไปทุกปี มาปีนี้ลักษณะการตกของฝนในกทม.มาแบบห่าใหญ่-เหมือนไปโกรธใครมา ตกแล้วรีบไป และขณะเดียวกันมักจะตกซ้ำๆ ในฝั่งด้านทิศเหนือ ซึ่งมีจุดอ่อนน้ำท่วมขังไม่น้อย ทำเอาชาวบ้านชาวช่องแถวนั้น รวมทั้งคนที่ต้องใช้เส้นทางสัญจรอ่วมอรทัยกันรายวัน พร้อมกับที่มีคำศัพท์ใหม่ กทม.ยุคนี้ ไม่มีน้ำท่วม มีแต่น้ำรอระบาย เพราะน้ำท่วมจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อต้องมาแบบปี 2554 เท่านั้นที่ท่วมกันทั่วไทย อันดับ 5 ฆาตกรรมต้นไม้ในเมือง ถือเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติติงกันมาทุกสมัย ว่าเป็นความอัปลักษณ์ของต้นไม้ในเมืองใหญ่ ที่การตัดกิ่งต้นไม้กลับเหมือนเป็นการฆาตกรรมต้นไม้ไป ต้นไม้ที่เป็นพื้นที่สีเขียว ช่วยฟอกปอด สร้างอากาศดี แต่กลับถูกบีฑาย่ำยี เหมือนไม่มีค่าอะไร มีแต่เกะกะ และท่ามกลางโลกโซเชียลได้มีการแชร์ที่โน่นที่นี่มีการตัดต้นไม้แบบอัปลักษณ์ เป็นเรื่องถึงขั้นนายกรัฐมนตรี ต้องฝาก (สั่ง) ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ บอกการดูแลต้นไม้อย่าคิดเป็นเรื่องเล็ก กว่าจะโตต้องใช้เวลานาน ไม่ควรจะมาตัดกันเรื่อยเปื่อย ไร้ศิลปะเพื่อช่วยกันรักษาต้นไม้ไว้ พร้อมกับสั่งให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้ ต้องมีรุกขกร หรือหมอต้นไม้ประจำ จะได้ไม่ต้องหั่นกันสะบั้นแบบตามใจ... อันดับ 6 ศึก2ทศวรรษชุมชนป้อมมหากาฬ กว่า 24 ปีกับข่าวคราวการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ของกทม. ที่กลายเป็นมหากาพย์ข้อพิพาทการไล่รื้อ กทม.จะเข้าพื้นที่มาหลายรอบ แต่มาสำเร็จได้ในยุคคสช. โดยรื้อย้ายล็อตแรกไปเมื่อเดือนก.ย.59 พร้อมกับขีดเส้นตั้งแต่ ก.พ.60 เป็นต้นไป จะมีการเข้ารื้อย้ายส่วนที่เหลือต่อ กำหนดเวลาต้องให้เสร็จก่อนสงกรานต์ เพื่อพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ขณะชาวชุมชน ได้ร่วมกับนักวิชาการหลากหลายกลุ่ม-สาขา เรียกร้องขอชุมชนอยู่ต่อในพื้นที่ เพื่อร่วมอนุรักษ์ย่านนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ท่ามกลางการยืนยันของกทม.และภาครัฐ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนไล่รื้อแล้วตั้งแต่ปี 2535 และป้อมแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่ปี 2492 อันดับ 7 ปฏิบัติการไล่ล่า “อาเฮีย”สวนลุมฯ เป็นข่าวฮือฮา ทั้งสื่อไทยและสื่อเทศยกโขยงเกาะติดปฏิบัติการของกทม.ในการจับตัวเงินตัวทองที่สวนลุมพินี โดยระบุมีการร้องเรียนกันมากมายได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากพลเมืองตั่วเฮียที่เพิ่มกันยั้วเยี้ย บ้างหวาดกลัว เพราะวิ่งอยู่ดีๆ ตั่วเฮียโผล่มายืนจังก้า บ้างได้รับบาดเจ็บถูกตั่วเฮียฟาดหางเข้าให้ ทั้งทำลายนิเวศสิ่งแวดล้อม ความสวยงามของสวนฯ ประกอบสวนลุมพินีจะครบ 100 ปีในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งกทม.มีโครงการจะพัฒนาปรับปรุงให้เป็นสวนสุดไฉไลถึงขั้นติดอันดับโลก กทม.จึงต้องออกจับตัวเงินตัวทอง ส่งไปสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ราชบุรี ท่ามกลางเสียงเห็นด้วยและเห็นต่าง ว่าที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นตั่วเฮียไปทำร้ายใคร แถมฝรั่งมังค่าก็ยังชอบมาดูตั่วเฮียวิ่งเล่นอยู่บ่อยๆ อันดับ 8 ซ่อมซากรถ-เรือดับเพลิงฉาว อีกมหากาพย์การทุจริตของประเทศไทย ที่สุดท้ายคดีจบ ประชาชนชาวกทม.ไม่ได้อะไรเช่นเคย มีแต่เสีย ทั้งเสียภาษีให้ไปซื้อรถดับเพลิงแพงเกินจริง มาจอดให้ฝุ่นเกาะเล่น มาเป็นสิบปี ทั้งช้ำใจ-เซ็งกับข่าวการทุจริต ทั้งคดีจบแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีเป็นค่าซ่อมรถเอามาใช้ ทั้งยังมีอีกกว่าร้อยคัน ที่ยังจอดอยู่ที่ท่าเรือชลบุรี ที่ยังอยู่ระหว่างฟ้องร้องกทม.เรื่องต้องจ่ายค่าจอดกับบริษัทนามยงค์ คู่กรณี หากกทม.จะเอามาใช้ และแน่นอนก็ต้องจ่ายค่าซ่อมในส่วนนี้ ขณะที่งานนี้ คำตัดสินสรุปตัวคนผิด แต่ยังเอาผิด-ริบเงินไม่ได้เพราะต่างนกรู้หนีออกนอกไปก่อนหน้า อันดับ 9 “บีอาร์ที” ด่วนพิเศษสร้างหนี้ เป็นหนึ่งโครงการสุดล้ำ รถเมล์ด่วนพิเศษที่มีเลนของตัวเองโดยเฉพาะ ภูมิใจนำเสนอในช่วงหาเสียงสมัย อภิรักษ์ โกษะโยธิน บินไปดูงานที่นั่นที่นี่กันก็หลายรอบ “บีอาร์ที” หลายประเทศเขาใช้ได้ผลจริง แต่สำหรับเมืองไทย กทม.ซึ่งเป็นที่แรกที่นำมาใช้ ไม่เพียงจะถูกแอนตี้จากผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมว่ามาเบียดบังพื้นที่อันน้อยนิดให้รถติดหนักเข้าไปอีก ด้วยรูปแบบถนนและลักษณะการใช้สาธารณะของบ้านเรายังน้อยกว่ารถส่วนตัว ทำให้ “รถด่วนพิเศษบีอาร์ที” กำลังอาการโคม่า ด้วยตั้งแต่เปิดบริการปี 2553 จนถึงปัจจุบัน 6 ปี ขาดทุนยับกว่าพันล้าน ปี 2560 นี้ที่รถบีอาร์ทีจะครบสัญญา แว่วว่ากทม.อาจจะไม่ต่ออีก ด้วยมีหลายฝ่ายอยากเลิก โดยเฉพาะสภากทม.ที่เห็นการขาดทุนมาต่อเนื่อง... อันดับ 10 เหลื่อมล้ำ”ค่าบำบัดน้ำเสีย” กทม.จ่อจะเก็บกันมาหลายปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป กระทั่งมาปลายปีนี้ กทม.ระบุได้ร่างข้อบัญญัติจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียแล้ว กำลังให้คณะผู้บริหารพิจารณาว่าจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอร่างฯ เข้าสภากทม.ที่จะเปิดประชุมม.ค.2560 ก่อนจะประกาศในราชกิจจาฯเพื่อประกาศใช้ แบ่งเป็น 3 ประเภท บ้านเรือน ปล่อยน้ำเสียตั้งแต่ 10-100 ลบ.ม./เดือน คิด 30 บาท/เดือน, ราชการ วิสาหกิจ โรงพยาบาล โรงแรม ธุรกิจขนาดเล็ก ปล่อยน้ำเสียตั้งแต่ 500-1,000 ลบ.ม./เดือน แยกเป็นเรตราคาตั้งแต่ 500-1,500 บาท/เดือน, โรงแรม ธุรกิจขนาดใหญ่ คิดอัตรา 4 บาทต่อลบ.ม.ที่ใช้ อย่างไรก็ตาม ได้มีนักวิชาการยื่นหนังสือให้กทม.ทบทวนไม่เป็นธรรม เพราะจะเก็บแต่เฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียเท่านั้น ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ ขณะคนอยู่ในเขตไม่มีโรงบำบัดกลับปล่อยน้ำเสียได้แต่ไม่ต้องจ่าย