เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 ณ ศาลาหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจําวัดจังหวัดหนองคาย เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายแพทย์วิศณุ วิทยาบำรุง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปัจจุบัน สภาวะสุขภาพพระสงฆ์ - สามเณร พบว่า มีอาการอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไตวายเรื้อรัง และโรคข้อเข่าเสื่อม ในปี 2561 พบว่า จังหวัดหนองคาย มีพระสงฆ์ - สามเณร อาพาธ ผู้ป่วยนอก จำนวน 2,785 รูป ผู้ป่วยใน 398 รูป สำหรับ 5 อันดับโรคผู้ป่วยนอก ได้แก่ อาหารไม่ย่อย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไข้หวัด และเวียนศีรษะ 5 อันดับโรคผู้ป่วยใน ได้แก่ ต้อกระจกวัยชรา ปอดบวม หัวใจล้มเหลว แบบมีน้ำคั่ง เนื้อสมองตายเพราะขาดเลือดที่เกิดจากอุดตีบตัน และกระเพาะอาหารกับลำไส้อักเสบ โดยสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่มาจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ อีกทั้ง พระสงฆ์ ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตร หรือนำอาหารมาถวาย ประกอบกับสถานภาพของพระภิกษุ ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้พระสงฆ์และวัดมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพเป็นศูนย์กลางสุขภาพชุมชน พร้อมทั้งจัดสภาพแวดล้อมที่ดีให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมอนามัย และภาคีเครือข่าย อาทิ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและพระสงฆ์นักพัฒนา จึงได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก เพื่อส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์และวัดรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literate Temple) และขับเคลื่อนการดำเนินงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นกรอบและแนวทาง การส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ จ.หนองคายจึงจัดโครงการนี้ขึ้น ด้วยการสร้างแกนนำพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด จำนวน 102 รูป ระยะเวลาการอบรม 2 วัน เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย การสื่อสารเรื่องสุขภาพพระสงฆ์ การเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขภาพในวัดและชุมชน การประสานงานด้านสุขภาพพระสงฆ์กับคณะสงฆ์และหน่วยงานด้านสาธารณสุข การให้บริการสุขภาพเบื้องต้นแด่พระสงฆ์ในพื้นที่ รวมถึงการให้คำปรึกษา แนะนำ ถ่ายทอดความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพแก่ชุมชน และการดำรงตนเป็นตัวอย่างที่ดีด้านสุขภาพ ตามหลักพระธรรมวินัย.